สิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้ ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ เพียงเพื่อคนประเภทเดียวเท่านั้น คือ หนึ่งคนที่ฝึกเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน สองคนที่อาการติดวิปัสสนูจางคลายมากแล้ว สามคนที่เข้าใจเรื่องไม่ยึดสมมติ สี่คนที่เข้าใจทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ห้าคนที่เข้าใจสมมติฐานของความคิด หกคนที่รู้ว่าอารมณ์รูปนามเป็นอย่างไร และเจ็ดคนที่เข้าใจหกข้อข้างต้นขึ้นด้วยตัวเอง หาได้อ่านมาจากตำรา คำบอกเล่าของใครไม่
หลุดไปจากเจ็ดข้อนี้บทความนี้หาประโยชน์ไม่ได้ เพราะจะไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็ รู้แจ้งศีลปรมัตถ์ดีอยู่แล้ว
เมื่อคุณมีความสามารถอยู่ในเจ็ดข้อข้างต้นครบถ้วน คุณจะเข้าใจว่า นั้นเป็นวิปัสสนาแต่นั้นยังไม่ใช่ ทำไมถึงไม่ใช่ เพราะในใจลึกๆคุณจะยังทุกข์อยู่ คุณจะสงสัยตัวเองว่า ทำไมเราก็รู้ เข้าใจ และฝึกมาถึงขนาดนี้ถึงยังเป็นทุกข์ได้อีก ทำไมจิตคุณที่ว่ารู้เท่าทันถึงขนาด ก็ยังเป็นทุกข์กับสิ่งที่มากระทบได้ สิ่งเหล่านี้คุณโกหกตัวเองไม่ได้แน่นอน ไม่มีทาง ถ้าประสบการณ์ของคุณพบเห็นสภาวะจิตแบบต่างๆมากมาย เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง ทุกอย่างไม่จีรัง หรือแยกตัวออกมาดูจิตแบบต่างๆได้ หรือพบเห็นสัมผัสความว่างความสบายของจิตไร้เขตแดน
ถ้าคุณเป็นอย่างนี้ จงเข้าใจว่าคุณยังอยู่ในช่วงรอยต่อของรูปนามกับศีลปรมัตถ์
“ความว่างของจิตใจที่ขาดการรู้ชัดในกาย” ไม่ใช่ ศีลปรมัตถ์อันเป็นอารมณ์วิปัสสนาครึ่งทางของการเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน การว่างของใจแบบนั้นเป็นเพียงอารมณ์อุปสรรครูปแบบหนึ่งของจิต ถ้าใจว่างการรู้ชัดในกายล้วนๆต้องแน่น
ผมพบเห็นคนที่อยู่ในจุดนี้มากหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เนื่องจากต้องทำหน้าที่สอนญาติโยม ผู้คนให้ความเคารพ มักไม่ค่อยมีสิ่งภายนอกมากระทบ เว้นแต่ขัดคอกันเองในหมู่พระ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่คนส่วนใหญ่ให้ความนบนอบพนมมือฟัง ญาติโยมฟังไม่กล้าลุกหนีเพราะเสียมารยาท มักคิดว่าตัวเองไปไกลมากแล้ว ผลของมันคือติดอยู่ที่ตรงนี้ ไปต่อไม่ได้
เมื่อคุณฟังคนประเภทนี้พูด คุณจะรู้สึกว่าเค้าพูดได้ถูกต้องฉะฉานน่าฟัง ไม่กลัวใคร เข้าใจชีวิต แต่เมื่อคุณดูการกระทำ ในกรณีที่คุณดูออกจริงๆ คุณจะพบว่า มีการเดิน การกิน การทำงาน การพูดจา ที่ไม่รู้สึกตัว มักทำงานพลาดผิด หงุดหงิดเมื่อไม่สบอารมณ์เป็นบางครั้ง ของพวกนี้ปกปิดไม่ได้ และเมื่อคุณถามพวกเค้าว่า ศีลปรมัตถ์ในความหมายของหลวงพ่อเทียนคืออะไร เค้าจะตอบไม่ได้ หรือตอบว่า ใจที่เป็นปรกติ ใจที่ว่างๆ และคุณจะสังเกตเห็นความลังเลก่อนการตอบคำถามนี้ เมื่อถูกคาดคั้นให้ตอบ คนเหล่านี้จะบอกว่า ไม่สนใจเรื่องขั้นเรื่องตอนอารมณ์วิปัสสนา เพราะเค้าตอบไม่ได้ ทิฐิมานะของคนมันจึงแสดงตัวปกป้องตัวเอง มันมองขั้นตอนพัฒนาไม่ออก
การศึกษาธรรมโดยเลือกเอาแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจเรื่องที่ตัวถนัด เป็นเรื่องตลกแก้ตัวของคนโง่ สิทถัทธะ เลือกจะเรียนแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ หรือสิ่งที่เข้าได้กับใจตนหรือเปล่า การเข้าถึงความจริงมันปูทางไว้ด้วยความชอบใจในวิธีฝึกหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นจะหาทำไมตั้งหกปี
บางคนบอกว่า เค้าไม่สนว่าศีลคืออะไร ถ้าอย่างนั้นมันก็เรื่องของคุณ ถ้าศีลไม่ปรากฏ อย่าหวังว่า สมาธิ และปัญญา จะตามมา เพราะของมันอยู่ด้วยกัน
ศีลปรมัตถ์ไม่ใช่สิ่งที่แสดงตัวอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่การเข้าไปรู้ไปเห็นแป๊บเดียวแล้วคลายตัวออก แต่เมื่อคุณปะทะอยู่กับมัน คุณจะไม่ใยดีต่อกฎไตรลักษณ์อีกต่อไป เพราะศีลปรมัตถ์ โดยตัวของมันเองไม่มีการแปรเปลี่ยน ไม่มีวันถูกทำให้หม่นหมองจากสภาวะของจิตแบบใดแบบหนึ่ง กิเลสทนอยู่ในส่วนนี้ไม่ได้ ไม่มีการไปไม่มีการมา สะอาดเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา
ตัวจิตนั้นตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ แต่ตัวศีลปรมัตถ์ตกอยู่ในกฎสัจธรรม คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงที่เท่าเดิมของมันอยู่ตลอดเวลา ระดับปัญญาสูงสุดของปุถุชนมองเห็นความไม่เที่ยง แต่ระดับปัญญาของอริยะบุคคลกลับมองเห็นความเที่ยงแท้
ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่บอกว่า ศีลปรมัตถ์คืออะไร จะบอกเพียงวิธีเข้าไปหาเท่านั้น จะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องของการรับรู้ตัดสินใจในข้อมูลที่ได้รับ เมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจมันจริงๆ คุณจะนึกถึงคำพูดนี้เอง และเฝ้าบอกถึงการไม่น่าเสียเวลา การที่ผมไม่บอกออกไปตรงๆมีเหตุผลที่สำคัญมากอยู่สองประการ หนึ่งมันจะทำลายระบบการสอบอารมณ์ที่ได้ผลอย่างแน่นอน สองเมื่อผมสังเกตผู้คนจากเว็บพันทิพซึ่งเชี่ยวชาญในคัมภีร์ อ่านมาหลายอาจารย์หลายหลายคน พบว่าคนพวกนี้เพียงจำความรู้ แต่ไม่ได้เข้าใจในความรู้นั้นๆอย่างแท้จริง เพราะกริยามารยาทไม่ได้แสดงออกให้เห็นถึงความสูงส่งเหมือนธรรมะที่กล่าวออกมา เมื่อคนจำความรู้จะเอาแต่พูด เอาแต่คิด แต่สภาวะไม่ได้เป็น
ผมตัดสินใจอยู่หลายครั้งจนสุดท้ายตัดสินใจดำเนินการตามครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ที่จะคัดเอาเพชรแท้เท่านั้น จะบอกออกไปเมื่อคนคนนั้นมาถึงจุดเดียวกัน และบอกว่าเรารู้ในสิ่งเดียวกัน
เคล็ดการเข้าสู่ศีลปรมัตถ์มีสั้นๆ คือ ให้คุณทิ้งการดูจิตในสภาวะแบบต่างๆ ให้ทิ้งความสนใจในอาการของใจทั้งปวง ให้ทิ้งการไปมุ่งเน้นดูความคิด ให้ทิ้งนิวรณ์ทั้งหมด แต่ “ให้มารู้สึกให้มาเห็นอาการเคลื่อนไหวของกายล้วนๆเท่านั้น ให้ความตั้งใจให้สมาธิทั้งหมดไปสังเกตดูการเคลื่อนการไหวของกายล้วนๆอย่างเดียว” จงทิ้งสภาวะจิตทุกอัน แล้วให้มาอยู่กับกายล้วนๆ ให้ทิ้งเวทนาทุกตัวแล้วมาเห็นกายล้วนๆเท่านั้น
ตัวผมเองใช้เวลาสามวันหลังจากได้รับคำแนะนำ ผมคะเนเอาว่า ถ้าเป็นคนจริง ฝึกเข้ารูปแบบต่อเนื่องทั้งวันไม่สร้างจังหวะก็เดินจงกรม ไม่เดินจงกรมก็สร้างจังหวะ แบบไม่มีการหยุดพักไม่มีช่องว่าง จะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน
ทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ให้ทิ้งการดูจิตนั้น หมายถึง อย่าไปสนใจกับจิตแต่ให้มาเน้นดูกายแทน เมื่อคุณดูกายคุณจะเห็นจิตโดยธรรมชาติของความเป็นจิตจริงๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องเพ่งจ้องดูกาย มันทิ้งการเห็นจิตมันไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าคุณไปมุ่งดูจิต คุณจะไม่เห็นกายแบบเป็นธรรมชาติ มันจะเห็นแต่เวทนา
ผมเคยฝึกการดูจิตมาก่อนถนัดมากด้วย แต่มองเห็นจุดอ่อนของมัน มันมีข้อกังขาคือ ทำไมเมื่อเผชิญของหน้างานใจยังมีความทุกข์อยู่แม้จะน้อยก็เถอะ มันสลัดทิ้งได้ไม่หมดทุกตัว การดูจิตจะตัดเรื่องกายานุปัสสนาออก เหลือแค่สามตัวหลังเวทนาจิตธรรม แต่เมื่อมาเห็นกายมันไปกันคนละทางกับดูจิต เพราะสามตัวหลังมันจะแย่งกันแสดงตัวกันสลอน
อย่างที่บอกไปแล้วถ้าคุณไม่อยู่ในเจ็ดข้อข้างบน อ่านไปก็เสียเวลาเปล่า คุณไม่ได้เข้าใจตรงกับผม
สำหรับคนที่อยู่ในเจ็ดข้อนั้น ถ้าไม่เชื่อวันนี้วันหน้าคุณจะได้รู้เองแค่ย่นระยะเวลาไม่กี่ปีลงเท่านั้นครับ
ขอให้เห็นสัจธรรมนะครับ