ความทุกข์คืออะไร คำตอบอาจต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล แต่ถ้าถามผม ความทุกข์ ก็คือ ความรู้สึกตัว ความทุกข์มันแสดงตัวผ่านความรู้สึกตัว แต่ความรู้สึกตัวในความหมายนี้ไม่ใช่ความรู้สึกตัวล้วนๆ แต่เป็นความรู้สึกตัวทั่วไปทุกอย่าง ที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัวล้วนๆ
ความรู้สึกตัวทั่วๆไปคือ ทุกข์ แต่ความรู้สึกตัวล้วนๆคือ การทวนลงไปถึงที่สุดของความรู้สึกตัว หรือ ที่สุดของทุกข์ มันเป็นเรื่องแปลกทีเดียวที่ ที่สุดของทุกข์คือ ความไม่ทุกข์
มันเคลียร์คำสอน2500ปีก่อนได้ทันที ทำไมทุกข์ถึงให้กำหนดรู้ มันหมายถึงว่า ให้รู้ความรู้สึกตัวนั่นเอง รู้โดยเอาสติปัฎฎฐานเป็นหลักฝึก ความรู้สึกของ กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นทุกข์ แต่เมื่อไหร่ที่ความรู้สึกตัวมันทวนตัวมันเองผ่านกำแพงความคิดไปจนถึงความแท้ของมัน คนเราจะเข้าใจได้ถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม และนั่นคือจุดเริ่มของผู้ที่สามารถสัมผัสถึงความรู้สึกตัวล้วนๆ
ชีวิตของคนทั่วไป ความรู้สึกตัวที่เกิดมีสาเหตุมาจากการทำงานของขันธ์ห้า และบอสใหญ่ของขันธ์ห้าคือ ความคิด ถ้าจะเล่นต้องเล่นบอสก่อน คนมีปัญญาจึงซัดแม่ทัพไม่ใช่นายทหาร การปรุงของขันธ์ห้าเริ่มจากตรงนี้ ผู้ใดก็ตามที่ฟัดกับมันไปเรื่อยๆ จนเข้าใจธรรมชาติของความคิด และเข้าใจธรรมชาติของความรู้สึกตัวอย่างแท้จริง จะไม่ทำลายความคิด ไม่เข้าไปในความคิด และไม่ห้ามความคิด แต่ขณะเดียวกันความรู้สึกตัวล้วนๆยังคงดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ และนี่คือวิปัสสนาแบบเต็มเหนี่ยว
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสมถะชนิดสุดขั้ว สำหรับคนที่ยังมาไม่ถึงตรงนี้จะไม่เข้าใจว่าอะไรกันแน่เป็นตัวแบ่งระหว่างวิปัสสนาและสมถะ บางคนใช้การเพ่ง บางคนใช้การพิจารณา บางคนอ้างตำรา บ้างคนอ้างอาจารย์ แต่สำหรับผมการแยกความต่างนั้นง่ายมาก คือ การมองไปที่ผลของความสงบของมัน ลักษณะของความสงบของสมถะเป็นความสงบของอารมณ์ ในขณะที่ความสงบของวิปัสสนาเป็นความสงบแบบไม่สงบ สงบแบบสิ้นไปจากอารมณ์
ปรกติแล้วความคิดจะสร้างอารมณ์และกลายเป็นความรู้สึกตัวในลักษณะของทุกข์ แต่เมื่อความรู้สึกตัวล้วนๆดำรงอยู่ ธรรมชาติของความไม่แปรผันของมันจะไปหยุดขั้นตอนการสร้างอารมณ์ของความคิด ความคิดจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ความรู้สึกตัวล้วนๆที่แนบแน่นทั้งตัวจะไม่เปลี่ยนแปลง มันไปขวางขั้นตอนการเกิดอารมณ์ ที่มันไม่ทุกข์เพราะอารมณ์ไม่มีอำนาจจะเปลี่ยนความรู้สึกตัวล้วนๆ แต่คุณลักษณะของความรู้สึกตัวล้วนๆสามารถสลายอารมณ์ได้ นี่คือกฎธรรมชาติ
สมมติว่าความคิด เกิดคิดขึ้นมาว่าอยากไปเที่ยว แต่ความรู้สึก “อยาก” จะทำงานไม่ได้ มันจะคิดอะไรขึ้นมาได้ทั้งหมดเลย แต่อารมณ์ต่อเรื่องที่คิดไม่สามารถทำงานได้ มันไม่มีอารมณ์ในเรื่องที่คิด เมื่อไม่มีอารมณ์ความคิดในเรื่องนั้นก็จบตัวเองมันทำงานไม่ได้ ความรู้สึกตัวล้วนๆจะเป็นเจ้าบ้าน มันตัดกระแสการทำงานของความคิดโดยไม่ต้องไปทำอะไร
ส่วนประกอบของขันธ์ห้ามีอยู่แต่ปรุงไม่ได้แล้ว เพราะเสาที่ค้ำขันธ์ห้าไว้ได้ถูกทำลายลง คำตอบหลายอย่างๆจากคำพูดประหลาดๆจะเกิดขึ้นเช่น อรหันต์ไม่มีจิต หรือมีแต่การกระทำไม่มีเจตนา
ความเข้าใจทุกอย่างที่ผมเขียนขึ้นล้วนมาจากการพิสูจน์ทดลองด้วยตัวเอง พบความผิดพลาดชนิดนับไม่ไหว ซึ่งถ้ามองเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ฝึกโดยการอ่านเอาจากตำรา พวกที่ชอบพูดว่า ตำราว่าไว้อย่างนั้นอย่างนี้ ผมมองว่าคนพวกนี้กลัวการผิดพลาด พวกเค้าไม่ต้องการพลาด พวกเค้าต้องการแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ พวกเค้าต้องการที่พึ่ง ต้องการใครซักคนที่ชี้แนะให้ความเชื่อมั่นว่าเค้ามาถูกทางแล้ว สิ่งนี้ใช้ได้ผลหรือไม่คุณต้องสังเกตคนพวกนี้เอาเอง
สำหรับผมคนที่ศึกษาธรรมะผ่านตำรา คือบุคคลที่ไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ลองสังเกตบุคคลในประวัติศาสตร์ ปู่ย่าของคุณ พ่อแม่ของคุณ เพื่อนฝูงของคุณ หรือแม้แต่ตัวคุณเอง พวกเค้าผ่านความผิดพลาดมาก่อน พวกเราถึงได้มีอะไรใช้สอยเหมือนทุกวันนี้ คนพวกนี้เรียนรู้จากความผิดพลาดแบบใหญ่หลวง ความสามารถชนิดเยี่ยมของมนุษย์หลายคนผ่านการลองผิดลองถูกชนิดเอาชิวิตเข้าแลก
แต่คนที่ศึกษาโดยอ่านตำราพวกเค้าเรียนรู้อะไร พวกเค้าไม่รู้จักคำว่าพลาด เพราะตำราบอกโดยตัวมันเองว่ามันคือสิ่งที่ถูก พวกเค้าไม่ต้องเสียเวลาลงมือพิสูจน์อะไร ความรู้เรื่องอริยสัจ เรื่องขันธ์ห้า เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องสารพัดความรู้ของมนุษย์ มันได้มาง่ายเกินไป เพียงเปิดตำราและอ่าน ท่องและจำ พวกเค้ามองข้ามอะไรบางอย่าง บุคคลที่เขียนตำราขึ้นพวกนั้นเป็นครั้งแรก พวกเค้าต้องอุตสาหะอย่างหนักหน่วงไม่ใช่หรือ ธรรม เป็นเรื่องของประสบการณ์การหยั่งรู้ ไม่ใช่ความรู้ที่ลอกมา
คนเราถ่ายทอดความรู้ที่มีให้คนอื่นผ่านตำรา แต่ไม่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ติดมากับตัวหนังสือได้ นั่นเป็นข้อจำกัดของสมมต แค่อ่านแล้วบอกตัวเองว่า เข้าใจแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การถกเถียง คนประเภทนี้มีทั่วบ้านทั่วเมืองและทั่วโลก
ผมจะเล่าเรื่องอะไรซักอย่างให้ฟัง มีเพื่อนหลายคนรวมถึงตัวผมเองสมัยก่อน ตอนที่เรียนภาษาผมกลัวการพูดผิดอย่างมาก หัวใจของภาษาคือการสื่อสาร ต่อให้พูดถูกไวยากรณ์แต่มันน่าเบื่อ ก็ไม่มีใครอยากสื่อสารด้วย และผมสังเกตว่า เจ้าของภาษาที่ไม่ใช่อาจารย์สอนภาษา เค้าไม่มัวมานั่งเช็คว่า ผมพูดถูกไวยากรณ์หรือไม่ เค้าสนใจว่าผมจะสื่ออะไร เพราะตัวพวกเค้าเองรู้ไวยากรณ์น้อยกว่าผมด้วยซ้ำ คนหลายคนบอกว่า ผมใช้ภาษาเยอรมันได้ดี แต่ผมรู้ตัวเองดีว่าถ้าเทียบในสิ่งที่ผมเรียนมาจากห้องเรียนทั้งหมด ผมยังใช้มันออกมาไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ และในครึ่งหนึ่งนั้นผมยังใช้ผิดอยู่เลย
เมื่อผมจับทางการเรียนได้ผมจึงบอกเพื่อนๆของผมว่า ถ้าพูดถูกจะมาเรียนทำไม การเรียนภาษาคือการเรียนจากความผิดพลาด คุณต้องพูดออกมาเพราะยังไงมันก็ผิดอยู่แล้ว คุณไม่สามารถเรียนไวยากรณ์แล้วเอามาใช้ในบทสนทนาจริงๆได้ นั่นมันโง่ชัดๆ ผมเคยพลาดมาก่อน มันต้องผิดซ้ำๆผิดจนจำได้ ผิดจนสังเกตได้ว่า ชีวิตจริงคนเค้าไม่พูดกันอย่างนี้ มันถูกตามที่เราเรียน แต่คนบนท้องถนนเค้าไม่ใช้กัน อะไรคือความถูกผิดกันเล่า ผู้คนบนถนนเป็นพันๆ หรือ ความรู้ที่ผมเรียนมากันแน่
เพื่อนผมเป็นคนอเมริกันเรียนคณะอักษรศาตร์ พูดรัสเซี่ยน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาเลี่ยน แต่เค้าเคยบอกผมว่า ทุกวันนี้ชั้นยังไม่รู้เลยว่า เพรเซ่น โพเกรสซีพ เทนสน์ นี่มันคือบ้าอะไรกัน เค้ารู้วิธีใช้แต่เค้าไม่รู้ชื่อเรียกของมัน เค้ารู้เพียงว่าอะไรที่คนอเมริกันใช้และอะไรที่คนเค้าไม่ใช้พูดกัน
ผมเคยมีความคิดบ้าๆว่า ถ้าเราเก่งไวยกรณ์แล้วพูดตามไวยกรณ์ เราต้องใช้ภาษาได้แน่ ผมจึงทุ่มเทเรียนแกรมม่าอย่างหนัก แต่นั้นคือความโง่เง่าจากการคิดเอาเอง ผมสอบการเขียนภาษาเยอรมันขั้นเบสิคตอนนั้นที่ เกอเธ่ ได้ร้อยเต็ม แต่ผมกลับพูดไม่ได้ มันอึกอักไม่เป็นธรรมชาติ ผมเคยเข้าใจว่าถ้ารู้ไวยกรณ์แน่น จะพูดไม่ผิด ใช่เลยมันพูดไม่ผิด เพราะมันพูดไม่ออก มันมัวแต่คิดเรื่องแกรมม่า คะแนน 100 ไม่มีความหมายเลย การเรียนนั่นมันล้มเหลวชัดๆ ผมเรียนสิ่งที่ถูกต้องตามตำรา แต่ผมไม่สามารถใช้ของที่ถูกนั้นออกมาได้
พอผมมาที่นี่ ผมเลิกหมดผมยังต้องเรียนไวยากรณ์ แต่เวลาผมพูดผมเขวี้ยงทิ้งทันที ผมพูดผิดมากผิดทุกวัน รู้ด้วยว่าพูดผิดแกรมม่า แต่มันเป็นธรรมชาติกว่ามาก บทสนทนาจะลื่นและตลกไปกับความผิดพลาดนั้น และมันค่อยๆเรียนของที่ถูกจากความหน้าแตก สิ่งที่ชาวบ้านเค้าใช้กันจริงๆตามท้องถนนตามร้านค้าไม่ใช่ใช้ในห้องเรียน ผมสังเกตว่าคนที่นี่เอง เค้าก็ยังพูดผิดแกรมม่าเหมือนกัน เจ้าของภาษายังพูดผิดแล้วผมจะไปนั่งเดือดร้อนทำไม ผมไม่สนใจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ผมต้องการสื่อสารรู้เรื่องเท่านั้น
ถ้าคุณมาต่างประเทศ ทุกวันนี้คุณจะสังเกตว่า คนคนหนึ่งพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา แต่ผมก็ยังเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นทุกที่ ยิ่งพูดมากยิ่งเดือดร้อนมาก ไม่เห็นภาษามันจะช่วยอะไรซักเท่าไหร่ เพราะคนมันเอาแต่พูด คนที่นี่ชอบการดิสคัสชั่น พูดได้ทุกเรื่องพูดกันนานๆ แต่ไม่เห็นมันจะมีอะไรดีขึ้นมา ตื่นขึ้นมาคุณก็ยังหัวยุ่งหงุดหงิดไปทำงาน บ่นกับราคาของแพง น้ำมัน รายจ่าย จะดิสคัสไปทำไม
มันไม่ต่างกับการปฏิบัติธรรมเลย รู้มากอ่านมาก แต่มันใช้ออกมาไม่ได้ มันรู้ทุกเรื่องแต่ไม่ได้เป็นอย่างที่รู้ มันได้แต่พูด ทุกวันนี้อยากรู้อะไรเข้าเน็ตก็รู้แล้ว แต่ถ้าคุณสังเกตสิ่งที่คุณรู้ดีดี ลองถามตัวคุณเองว่า คุณรู้มันจริงหรือเปล่า ลองจี้มันทุกจุดตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย คุณจะพบว่าบางอย่างคุณตอบไม่ได้
กระทู้เป็นพันพันในพันทิพถ้าคุณสังเกต คุณจะพบว่ามีจำนวนน้อยมากที่มีเสน่ห์ ไม่ใช่ในแง่ของการเขียน แต่มันมีชีวิตชีวาจากการเล่าประสบการณ์จริง มันต่างจากการก๊อปปี้ตำราหรือคำบอกเล่าที่แห้งแล้ง
ขอให้วันนี้สวยงามต่อไปครับ