โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

Pantip


การสอนของหลวงพ่อปราโมชกับหลวงพ่อเทียนต่างกันตรงไหน

 ความคิดเห็นที่ 4   
ผมขอตอบในส่วนของหลวงพ่อเทียนอย่างเดียวได้ไหมครับ เพราะคำสอนของอาจารย์อื่นๆ ผมแทบจะไม่มีความเห็นเลย เพราะไม่เคยลงลึก

เท่าที่ผมสังเกตคำสอนของหลวงพ่อเทียนที่เด็ดขาดต่างหากอาจารย์กรรมฐานท่านอื่นๆ เท่าที่ผมพอจะทราบคือ การไล่ลำดับอารมณ์วิปัสสนา และ การรับรองผลของการปฏิบัติต่อระยะเวลาที่ท่านท้าทาย

ผมขอเสนอความเห็นเรื่องของ การรับรองผลของเค้าก่อนนะครับ ท่านมักจะพูดเสมอจากในเทปว่า อย่างนาน3ปี อย่างกลาง1ปี อย่างเร็ว1-90วัน แต่ความจริงที่ปรากฏคือโยมหรือแม้แต่พระ กลับใช้เวลากันเป็น 10 ปี นี่ผมพูดถึงยุคที่ท่านมรภาพไปแล้วนะครับ ในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ผมไม่ทราบ

ความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นด้วยกับการรับรองเวลาของเค้าว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเป็นคนจริงนะครับ เพราะตัวผมเองถ้านับเอาช่วงที่ปฏิบัติอย่างเดียวแบบเข้มข้นนะครับ 6วันก็รู้จักสมมต สาเหตุของทุกข์ เรียกว่าอารมณ์รูปนามขั้นต้นนั่นล่ะครับ หลุดเลยทัศนจิตใจเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็ฝึกตลอดแต่ติดที่มันไม่ต่อเนื่อง คือมันมีภาระอย่างอื่นรับผิดชอบตลอด

หลังจากนั้นผ่านไป4ปี เป็นสามวันที่ผมฝึกอย่างต่อเนื่องแทบไร้รอยต่อ ทิ้งภาระทุกอย่าง ก็ได้เข้าใจเรื่อง ศีลปรมัตถ์ จิตใจเปลี่ยนเด็ดขาดอีกครั้ง

แล้วก็ใช้เวลาต่อจากนั้นประมาณ 6-7 เดือนฝึกต่อเนื่องตลอด ในชีวิตไม่มีเรื่องอื่นฝึกอย่างเดียวเท่านั้น ก็เข้าใจต้นตอของความคิด ชีวิตจิตใจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง

ถ้ามานั่งนับเวลาที่ฝึกต่อเนื่องจริงๆ ชนิดที่ว่าทิ้งภาระทุกอย่าง แล้วเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหว มันใช้เวลาไม่นานนะครับ แต่สิ่งที่ทำให้มันผลของการฝึกมันแสดงตัวช้านานคือ ความไม่ต่อเนื่องแบบจริงจัง และทำผิดวิธีคือตีความคำสอนผิด

ผมคิดว่านี่คือความแตกต่าง ของธรรมะของหลวงพ่อเทียนกับครูท่านอื่นๆอย่างแรกครับ คือ จิตใจมันเปลี่ยนจริงตามเวลาที่ฝึก คุณจะรู้เองว่าคุณไม่เหมือนเดิมแล้ว


อย่างที่สองคือ การไล่ลำดับอารมณ์วิปัสสนา

อย่างแรกที่คุณจะเข้าใจคือ การรู้รูปนาม จะมาพร้อม วิปัสสนู วิปัสสนูจะเกิดจริงห้ามไม่ได้

อย่างที่สองที่คุณจะพบคือ การรู้ ศีลปรมัตถ์ สิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ จะมาพร้อม จินตญาณ จินตญาณจะเกิดจริงห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้

อย่างที่สามที่คุณจะเข้าใจคือ การรู้ความต่างของความสงบแบบ สมถะ-วิปัสสนา

อย่างที่สี่ที่คุณจะได้ประหลาดใจคือ การเข้าไปรู้ต้นกำเนิดของความคิด

อย่างที่ห้า ระยะนี้บอกไม่ได้ครับ ผมยังไม่ชัดเจน

ทุกขั้นคุณจะรู้ขึ้นเองปราศจากการรู้อ่านฟังมาก่อน อย่างเรื่อง ศีลปรมัตถ์ เรื่องจินตญาณ เรื่องต้นกำเนิดของความคิดนะครับ มันเป็นเพียงคำคีย์เวิร์ด เป็นรหัส คุณไปหาอ่านดูได้ หลวงพ่อเทียนท่านจะไม่บอกว่ามันคืออะไร  เพราะเค้าจะเอาไว้สอบอารมณ์ปฏิบัติ ถ้าคำตอบคุณตรงกับเค้าแสดงว่าคุณผ่านขั้นนั้นมาจริง และไปหามาจากตำรามาตอบก็ไม่ได้ด้วย เพราะมันไม่เหมือนในตำราเลย มันเป็นคำตอบเชิงประสบการณ์การเข้าถึงสภาวะธรรม


ผมไล่ลำดับอารมณ์ให้ฟังเพราะว่า เมื่อคุณฝึกแล้วเห็นผลของมัน แล้วไปเช็คกับสิ่งที่หลวงพ่อเทียนกล่าวไว้ มันจะเป็นอารมณ์แบบนั้นเป๊ะๆเลย และอารมณ์พวกนี้ข้ามขั้นตอนไม่ได้ครับ หมายความว่า ถ้าคุณอยู่ในช่วงรูปนาม คุณจะยังไม่เข้าใจว่า อะไรคือ วิปัสสนา อะไรคือ สมถะ กันแน่ พอคุณเข้าใจมันเมื่อไหร่คุณจะไม่สนอีกเลยว่าคนอื่นบอกว่าความต่างของมันคืออะไร มันเป็นความรู้ที่มีไว้เพื่อคุณคนเดียวเท่านั้น บอกคนอื่นเค้าจะไม่เข้าใจ

หรือถ้าคุณอยู่ในช่วงศีลปรมัตถ์ คุณจะไม่สามารถเข้าใจต้นกำเนิดของความคิดได้ครับ มันแปลกมากเพราะว่า ความเข้าใจมันอยู่ใกล้กันนิดเดียว เพียงแต่ต้องให้มันแสดงตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงจะเข้าใจมันได้

และเท่าที่ผมทราบลักษณะการสอนสมัยที่ท่านยังมีชิวิตอยู่ ท่านจะสอนเป็นคนคนเฉพาะแบบเฉพาะจุดที่อารมณ์คนคนนั้นดำรงอยู่ ไม่ใช่หว่านแหพูดรวมๆ และท่านจะพูดด้วยน้อยมาก


บางอย่างอาจจะผิดนะครับ โดยเฉพาะเรื่องสมัยที่ท่านยังมีชีวิต เป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปากที่ผมได้ยินมาเท่านั้น

ขอให้วันนี้สวยงามต่อไปครับ

แก้ไขเมื่อ 03 พ.ย. 52 22:16:23
แก้ไขเมื่อ 03 พ.ย. 52 22:14:16

จากคุณ: koknam  
เขียนเมื่อ: 3 พ.ย. 52 22:12:06 


PANTIP.COM : Y3420461 ท่าน..มาถูกทางหรือไม่ []


     ท่าน..มาถูกทางหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าไม่สนใจเลย ว่า ท่านๆทั้งหลาย ณ ที่แห่งนี้ และที่อื่นๆ เป็นลูกศิษย์ของใคร มาจากสายไหน ฝึกปฏิบัตด้วยวิธีใด

    แต่ข้าพเจ้าสังเกตเสมอๆ ว่ามักมีการทุ่มเถียง ระหว่างกันเองเสมอๆ ข้าพเจ้าไม่อาจล่วงรู้จิตใจท่านๆได้หรอก ว่าท่านเชื่อมั่นต่อแนวทางที่ท่านยึดไว้ แล้วคอยแก้ต่าง ต่อแนวทางของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ผสานใกล้เคียงกับแนวทางที่ท่านยึดไว้หรือไม่ บางท่านว่าตามประสบการณ์ บางท่านว่าตามตำรา บางท่านว่าตามถ้อยคำครูบาอาจารย์เล่าไว้

    แม้ว่าท่านจะมาถูกทางก็ตาม จะด้วยวิธีใดๆก็ตามที่ท่านใช้ เมื่อท่านคิดจะบอกต่อท่านอื่นๆ ทราบถึงความจริงนั้น ปัญหาจะดีดกลับสู่ที่ตัวท่านทันที ถึงอย่างนั้นก็ตามท่านก็ควรจะทำ แม้ผู้เข้าใจจะน้อยมาก

    ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจโดยง่ายนั้น จงปล่อยเขาเถิด วันนึงเขาเหล่านั้นจะทราบเองว่า สิ่งใดๆ หรือวิธีไหนๆ ที่ช่วยเขา เหล่านั้น ให้พ้นไปจาก "ทุกข์"  แม้มันจะใช้เกือบจะทั้งชีวิต
    แม้จะน่าสงสารก็ตาม คำกล่าวนี้ก็เป็นจริงเสมอ "ผู้ใดเกิดมามิรู้ถึงสิ่งนี้ ชีวิตในชาติภพนั้นของบุคคลผู้นั้นก็เป็นเพียงโมฆะ"

    วิธีที่ดีกว่าคือ ให้เขาเดินเข้าหาท่านเอง เมื่อเขาเดินมาหาท่านแล้ว ท่านจึงค่อยเดินหาเขา เพียงแต่ท่านจงทำตัวให้เขาควรเดินหาท่านเท่านั้นเอง

    สำหรับข้าพเจ้าแล้ว "แก่นนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่วิธีเข้าหามันมีมากกว่าหนึ่ง"

    ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมาเพื่อ คนเพียงคนเดียวเท่านั้น
    โปรดเมตตาข้าพเจ้าและคนอื่นๆอีกมาก หน่อยเถิดท่าน บอกทีว่า ทางที่ถูกนั้นเป็นเช่นไร สังเกตอย่างไร รู้ได้จากอะไร
    จากคุณ : koknam  - [ 18 เม.ย. 48 16:03:15 ]




    คำตอบ....ของคนโง่ กับ คำถาม....ของคนฉลาด
      สิ่งที่ท่าน จะได้อ่านต่อไปนี้เป็น มุมมอง ความเข้าใจ ของคนโง่คนหนึ่ง ถ้าท่านอยากจะอ่านมันอย่างสบายใจ ขอแนะนำให้ปรับจิตปรับใจ ให้โง่พอๆกัน หรือ โง่กว่าเสียก่อน มิฉะนั้น ท่านผู้รู้ ผู้ฉลาดทั้งหลาย จะเกิดทุกข์ตามมาเป็นแน่ (แต่จะรู้ว่าเป็นทุกข์ หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ถ้าท่านปรับจิตปรับใจให้โง่ไม่ได้ ท่านก็..ไม่ควร...ที่จะอ่าน

      1. นิพพาน อัตตา อนัตตา

      ปัญหา Top Ten อันมีที่มาจาก การที่ผู้คนพยายาม ที่จะนำสมมติภาษาไปแทนตัวสภาวะ โดยคิดว่า คำๆนั้น อธิบายสภาวะนิพพาน ได้ถูกต้องมากกว่า ซึ่งมันแทนกันได้ในการสื่อสารเท่านั้น แต่ไม่ตรงกับตัวสภาวะ 100 %

      ถ้าท่านแปล “อัตตา” ว่า มีตัวตน และแปล “อนัตตา” ในทางตรงกันข้าม

      ผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง จะไม่มอง คำสองคำนี้ในลักษณะ ของคู่ตรงกันข้าม แต่คนเหล่านั้นรู้ว่า สภาวะนั้น "มีตัวตน" แต่เป็นตัวตนในลักษณะของสภาวะทางจิตใจ และการที่จิตใจจะเปลี่ยนไปเป็นสภาวะ ดังกล่าวนั้น จะต้องผ่านกระบวนการ “ทำตน ให้ไม่มีตัวตน” เสียก่อน (ซึ่งคำๆนี้ก็เป็นสมมติภาษาเช่นกัน ที่ใช้อธิบายโดยสรุป วิธีปฏิบัตแบบกว้างๆ)

      บุคคลผู้มีปัญญาเหล่านั้นรู้ว่า ไม่ว่า อัตตา หรือ อนัตตา ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน ยิงไปสู่จุด จุดเดียวกัน แต่สมมติภาษานั้น อธิบายมาจาก คนละด้านของจุดจุดนั้น

      ถ้าท่านแปล คำสองคำนี้ไปในความหมาย อย่างอื่น ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย ก็จะไปติดกับ ความหมาย ของสิ่งที่ท่านแปลอยู่ดี ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร ต่อการทำจิตทำใจ ให้เข้าถึงสภาวะนั้น เพราะหัวใจมันอยู่ที่ การปฏิบัตอันถูกต้อง แม้จะประกาศปาวๆว่า เป็นไปเพื่อสอนบุคคลอื่นก็ตาม หรือเพื่อ ทำความเข้าใจให้ตรงกันก็ตาม ในเมื่อตัวเองยังไม่รู้ รู้ไม่ตรง จะไปสอนคนอื่นได้กระนั้นหรือ อาจมีบางท่านกล่าวว่า ท่านถึงแล้ว จึงต้องการนำมาบอก ผู้ที่ถึงแล้วนั้นจะเลยระดับการหลุดสมมติไปแล้ว 2 ขั้นใหญ่ๆ พวกเขาจึงไม่มานั่งเถียงกันเรื่องสมมติภาษาเช่นนี้หรอกท่าน

      ขอเตือนอีกครั้ง ข้อความนี้ เหมาะ กับบุคคลบางประเภทเท่านั้น  บุคคลเหล่านั้น จะใช้สมมติ เหมือนคนทั่วไป แต่ใจของเขาเหล่านั้น จะไม่เข้ายึด เข้าจับกับสมมติอีกแล้ว โดยเฉพาะ สมมติภาษา กับ สมมติพูด

      2. ปฏิจจสมุปบาท

      เมื่อมีผู้ถามถึงสิ่งนี้ จะมีบางคนตอบว่า “ไม่ได้เข้าใจ ยากเย็นอะไร” จากนั้นมักจะมีผู้หวังดี แย้งขึ้นมาทำนองว่า “ดูก่อนธรรมนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก ปรากฏไว้ชัดในตำรา”

      ปฏิจจสมุปบาท.....อวิชา.....โมหะ.....บาป.....โง่  ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นการอธิบายลงลึกไปที่ สิ่งเดียวกัน
                 โมหะ คือ ไม่รู้ตัว ไม่รู้ใจ ตัวเอง
                 อวิชา คือ ไม่รู้ความคิดตัวเอง ไม่รู้ ที่เกิด ของต้นตอทั้งหมด ของทุกข์ และ ไม่
                               รู้วิธี ที่ทำให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้
      ปฏิจจสมุปบาท คือ การอธิบายสภาวะ อันเกิดจาก จิตใจ มี โมหะ และ อวิชาเต็ม ผู้ใดยังขบคิดเกี่ยวกับธรรมนี้ ถือว่าอยู่ในวงจรของปฏิจจสมุปบาท เพราะไม่รู้จริงนั่นเอง และ ตัวจริงของมัน คือตัวสภาวะ ไม่ใช่ตัวหนังสือ หรือตัวความคิดความเข้าใจ ที่อยู่ในสมองคนที่พิจารณา

      สมการทางช้างเผือก ของไอสไตน์ ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ให้ขบคิด แต่มีไว้ เพื่ออธิบายความจริง ของทางช้างเผือก แต่ละบรรทัดที่แสดงคือ การอธิบาย ไม่ใช่ตัวทางช้างเผือก ไม่ใช่ตัวจริงของสภาวะของมัน แต่คนไปเข้าใจว่าเจ้าสมการนั้นคือ ตัวทางช้างเผือก จึงติดอยู่ตรงนั้น

      ผู้ที่เข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท จะไม่มองในรายละเอียด แต่สัมผัสแบบองค์รวม สัมผัสที่หัวใจของมันทันที และจะ รู้ขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาเฉยๆ   รู้จาก การผ่านการปฏิบัตอันถูกตรง มิได้รู้จากการขบคิด พิจารณาเอาเอง และเมื่อรู้สิ่งนี้ขึ้นมา เขาคนนั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนอื่นๆ เรียกมันว่า ปฏิจจสมุปบาท และมีเขียนไว้ในตำรา ว่า ลึกซึ้งยิ่งนัก

      3. ปัญญา

      ปัญญาที่ 1 คือ ความสามารถในการจัดการกับสภาวะทุกข์ อันเป็นไปเอง เกิดขึ้นโดยทันทีพร้อมกับสภาวะทุกข์เสมอ  จัดการรวดเร็ว เด็ดขาด แม่นยำ ไม่มีการออมมือ ไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน เพราะมันเตรียมพร้อมจะจัดการอยู่แล้วตลอดเวลา ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 100 %

      ปัญญาที่ 2  คือ ความรู้ในลักษณะการสังเกตจากปฏิบัต ปัญญาแบบนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในเรื่องนั้นๆ ครั้งต่อๆมา จะเป็นเพียง การคิดถึงในสิ่งที่ได้รู้ไปแล้วเท่านั้น เมื่อทุกข์เกิด จึงทำได้เพียง คิด หรือบอก กับตัวเองถึง สิ่งที่รู้ในหัวเท่านั้น ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 10 % แต่ปัญญาตัวนี้จะพัฒนาตัวเองไปเป็นปัญญาที่ 1 และปัญญาตัวนี้ เป็นต้นตอของ วิปัสสนูอาการ

      ปัญญาที่ 3  คือ ความรู้ที่ได้มาจาก การอ่านมาก ฟังมาก คิด พิจารณา เทียบเคียง เอาเอง จากตำรา หรือครูบาอาจารย์ คนส่วนใหญ่มีปัญญาลักษณะนี้ คนที่มีลักษณะปัญญาแบบนี้ เป็นคนที่สังคมมักเรียกว่า ฉลาด รอบรู้ เก่ง แต่คนแบบนี้ มีอยู่ทั่วไป และมักยึดติดในความรู้ของตนเอง ว่าถูกต้อง เมื่อมีการถกเถียงในเรื่องที่ตนรู้มาก่อน จึงมักจะกระโจนลงไปเล่นด้วย โดยไม่รู้ว่าก่อทุกข์ให้ตน บุคลิกทั่วไปคือ วางตนในลักษณะสอนคนอื่น ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 1 %

      ทุกข์ในบทความนี้คือ ทุกข์แท้ๆ มิใช่ ทุกข์ตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน

      4. สมถะ วิปัสนา

      ลักษณะของสมถะ  “พยายามทำจิตทำใจให้สงบ ”  แล้วเริ่ม “คิด พิจารณาเอาเอง ”  ถ้าไม่สงบ จะทำไม่ได้ เมื่อมีความรู้ใดเกิดขึ้นมา ไม่มีความมั่นใจ ต้องคอยถามคนโน้น คนนี้ เพื่อยืนยัน ความถูกต้อง  ผลของการทำสมถะ คือความอดทน ต่อสิ่งแวดล้อมในขณะปฏิบัตเป็นยอด แต่ไม่เกิดปัญญา เมื่อเผชิญโลกภายนอก มักสู้อารมณ์ไม่ได้

      ลักษณะของวิปัสนา  มุ่งไปที่ “รู้ ” แต่ไม่ใช่ “เพ่งให้รู้ ” ไม่จำเป็นต้องสงบ เพราะ มันเป็นการสงบ อยู่บนสภาวะที่สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ไม่ต่างกัน และ ไม่พยายามทำให้ สิ่งใดๆเกิดขึ้นมา ไม่คาดหวังสิ่งใด เพียงแต่รู้เฉยๆ รู้ล้วนๆ รู้เพรียวๆ ผลของการทำวิปัสนา คือเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริง มั่นใจในสิ่งที่รู้ ไม่ต้องถามใคร  ไม่ต้องอาศัยสติปัญญา เพราะสติปัญญามันมีมาเอง

      5. ปริศนาเซน และการสอน โดยการไม่สอน ไม่พูด

      ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้  เกิดปัญหาขัดแย้งมากมาย นั่นเพราะท่านไปติด อยู่กับสมมติของภาษา ติดอยู่กับสิ่งที่รู้อยู่ก่อน มองไม่ออกถึงแก่น ของสิ่งที่เป็นจริง “การรู้ของจริง กับการจำของจริงมาพูด ” มันเป็นคนละเรื่องกัน ของจริงจะต้องรู้อย่างเดียวกัน  (ของจริงในที่นี้คือ สภาวะ) แต่อาจอธิบายด้วยสำนวนภาษาที่ต่างกัน ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะเข้าใจกันได้

      ผู้รู้ใช้ภาษาสมมติ แบบไม่แยแส เป็นตัวของตัวเอง  เพราะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง มิได้จำคำที่ไหนมาพูด เมื่อจะสอนใครจึงรู้ถึงข้อจำกัด และ ความสามารถของสมมติภาษา จะสร้างความสับสนทางการตีความมากกว่า จะเกิดประโยชน์ในการปฏิบัต

      ปริศนาธรรมของเซน  ไม่ได้ให้มีไว้หาคำตอบเป็นสำคัญ แต่มีไว้สำหรับช่วงท้ายที่สุดในการตระหนักรู้ ว่าทำไม คนสอนถึงให้ปัญหานี้มา เพราะ  ณ. จุดนั้น ผู้เรียนจะเข้าใจว่า อะไรคือ ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง

      ปริศนาธรรมมีไว้เพื่อเปลี่ยนคนให้เป็น โสดาบัน ด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อทำผู้ขบคิดให้เป็น อรหันต์ แต่หลังจากเป็นโสดาบันแล้ว จะพอมองออกเองว่า จะเดินไปจนสุดทางทำได้เช่นไร  เมื่อนั้นปริศนาธรรมก็จะทำหน้าที่ต่อคนๆนั้นโดยสมบรูณ์


      6. สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ

      ใครเป็นผู้กำหนดสิ่งนี้ ครู? ตำรา? คิดเดาเอาเอง?

      ทางใดก็ตามที่ทุ่มเทปฏิบัต แล้ว ยังผลให้เกิดปัญญา จัดการสภาวะทุกข์ได้ ทางนั้นนั่นแหละ สัมมาทิฐฐิ ท่านต้องเห็นผลของการทำด้วยตัวเอง มิใช่ไปจำคำใคร ข้อความจากไหนมาพูด หรือรอให้คนอื่นมาบอกมาทัก

      ทางใดก็ตามที่ปฏิบัตแล้ว  ไม่เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ตัน มืด ไม่ก้าวหน้า  (ก้าวหน้า หมายถึง สามารถจัดการสภาวะทุกข์ได้ลึกลงไปเรื่อยๆ) เมื่อรู้แล้วมัวแต่เอาไปคุย ไปโม้ให้คนอื่นฟัง นั่นแหละมิจฉาฑิฐิ จัดการทุกข์ได้แบบ ถู ไถ

      สองทิฐินี้ ไม่มีใครบอกได้ ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างไหนถูกอย่างไหนผิด ท่านต้องประจักษ์ด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง พิสูจน์เอาเอง  แต่บางคนไปเชื่อคนอื่น  เพราะคนนั้นเป็นอาจารย์ เค้าดัง ใครๆก็ไปหาเค้ากัน เค้าอาจจะถูก แต่ถูกแบบของเค้า ใช่ได้กับเ้ค้า ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับท่านด้วย
      หรือเพราะตำราว่าไว้ เขียนมาแล้ว เป็นพันๆปี เคยมีปรากฏมาก่อนกระนั้นหรือ ว่า พระพุทธเจ้า, เว่ยหล่าง หรือคนอื่นๆที่ไปถึงแล้ว ณ.ที่แห่งนั้น  อ่านตำรา เอาของในตำรามาฝึก จนเกิดสภาวะไร้ทุกข์  ถ้าท่านรู้จักสังเกต ท่านจะเห็นว่า คนเหล่านั้นเรียนจากตนเอง คิดค้นเทคนิคเอาเอง รู้เห็นเอง เข้าใจเอง รู้จักพลิก ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาอ่านตำรา หรือตั้งหน้าตั้งตาตอบคำถามให้คนอื่น และ คนที่เข้าใจสิ่งนี้ จะไม่ทุ่มเถียงกับผู้ใด จะไม่สอนอะไรอย่างอื่น นอกจากการชี้ไปที่แก่นของการปฏิบัต เพื่อการดับทุกข์

      สิ่งที่อยู่ในตำราเป็นเพียงผลของความรู้ ที่เกิดตามมาจากการปฏิบัติ ของผู้ที่ทำมันจบไปแล้ว ไม่ใช่หัวใจของธรรมะ ไม่ใช่ว่าจำได้ทุกคำ ทุกหน้า แล้วจะหมดซึ่งทุกข์ ถ้ามันง่ายเฉกเช่นนั้น คงไม่มีปัญหาใดๆหรอก ที่มันมีก็เพราะว่า ของในตำรา คำสอนของครูบาอาจารย์ กับ การปฏิบัตจริงมันเป็นคนละเรื่องกัน

      คำส่งท้าย

      ไม่ต้องแปลกใจถ้าท่านอ่านแล้วไม่เข้าใจ เกิดคำถาม หรือต้องการโต้แย้ง รับไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอื่นใด จะอธิบายได้ดีไปกว่า ท่านฉลาดเกินไป เฉียบแหลมเฉียบคมเกินไป ลึกล้ำเกินไป และมีความสามารถมากเกินไป และมันยากเกินไป ที่จะเข้าใจได้ใน เรื่องโง่ๆ
      จากคุณ : koknam  - [ 5 ต.ค. 48 22:22:28 ]


    เรื่องชวนหัว ของผู้ปฏิบัติ
      ท่านผู้กำลังเดินทางทั้งหลาย ทั้งที่ไปถึงแล้ว และกำลังเดินอยู่ ในระหว่างที่ท่านเดินทาง หรือเคยเดินทาง
      มีเรื่องแปลกๆ  หรือชวนหัวเราะบ้างไหมท่าน เล่าสู่ฟังบ้าง

      ข้าพเจ้าขอเริ่มที่เรื่องข้าพเจ้าเอง ปกติแล้วข้าพเจ้าปฏิบัตแบบไม่เข้ารูปแบบ ไม่มีกฏตายตัวว่าต้องทำอย่างไร เพียงแต่ทำตลอดเวลา แต่เมื่อมีเวลาว่างวันไหนมักจะทำแบบ "อัดเต็มที่" เมื่อวานนี้ข้าพเจ้าจึงเจริญสติด้วยการเดินจงกรมทั้งวัน สถานที่ที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นอากาศค่อนข้างหนาว จึงเป็นเรื่องแปลกของคนที่นี่ ที่ข้าพเจ้าชอบออกไปนอกบ้านเดินกลับไปกลับมา ใครถามข้าพเจ้ามักบอกว่า ข้าพเจ้าไปเดินเล่น ข้างนอกอากาศบริสุทธิ์นะ

      แต่พ่อเลี้ยงของข้าพเจ้าคงทนไม่ไหว พูดว่า บ้าไปแล้วหรือไง วันๆไม่ทำอะไร เดินไปเดินมา เดี๋ยวก็หน้าระเบียง เดี๋ยวก็ที่จอดรถ เดี๋ยวก็สวนหลังบ้าน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทั้งวัน เธอกำลังจะทำอะไรกันแน่ เธอต้องบ้าแน่ๆ นี่มันวันหยุดนะเค้าไม่เข้าใจว่าทำไมข้าพเจ้าไม่ไปสังสรร เดินเขา หรือขี่จักรยาน แบบคนอื่นๆเค้า

      ข้าพเจ้าตอบไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม แต่ข้าพเจ้าก็ขำจริงๆ
      ขอรับรู้เรื่องชวนหัวของท่านๆ บ้าง เพราะสังเกตว่าเวลาท่านๆสนทนาเรื่องธรรม ส่วนมากมักจะจริงจังกันเหลือเกิน

      ขอวันนี้หรือวันไหนๆของทุกๆท่านจงสวยงามต่อไป
      จากคุณ : koknam  - [ วันวิสาขบูชา 17:04:36 ]
     ตกหลุมรัก สวัสดีครับพี่

    ก่อนอื่นผมขอบคุณเรื่องหนังสือ ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ มากมากครับ ผมกำลังรอคำตอบจากพี่ เพื่อที่จะสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตอยู่ เพราะผมไม่ทราบว่า มันซ้ำกับที่ คุณ เขมานันทะ ได้เคยบรรยายไว้ที่ประสานมิตร เรื่องหลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก ที่ผมเคยส่งไปให้พี่หรือไม่ ผมจึงขอให้พี่ช่วยไปยืนอ่าน ไม่นึกว่าพี่จะซื้อส่งมาให้ผมขอบคุณมากนะครับ
    สำหรับอาการที่พี่เขียนมาเล่าให้ผม ผมจะไปด่าพี่ทำไมครับ มันดีเสียอีกที่เรารู้ว่าเรากำลังเป็นกำลังติดอะไรอยู่ อาการอย่างนี้แหละครับ ที่ผมเคยเขียนบอกเอาไว้ว่า ถ้าพี่ไม่ถอย มันจะทะลุออกไปไม่เกินเวลาในหนึ่งเดือน
    แต่ว่าอาการอย่างที่พี่เล่าไม่เคยเกิดกับผมครับ ผมจะเล่าอะไรให้ฟังอย่างนึงนะครับ ในการฝึกตามแนวหลวงพ่อเทียนที่ผมเข้าใจนะครับ ผมเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ครับ ตรงนี้สำคัญนะครับ พี่อ่านดีืดีนะครับ ผมอาจจะผิดนะครับ
    สไตลมันจะถูกแบ่งเป็น สองอย่างสองลักษณะหลักหลัก โดยเอาธรรมชาติของการเข้าถึงตัวผู้ฝึกเป็นเกณฑ์นะครับ
    1.คือ ประเภท เน้นไปที่ความรู้สึกตัวครับ คนประเภทนี้จะจับความรู้สึกตัวได้ง่ายกว่า หรือ ใช้ความรู้สึกตัวเป็นฐานของสติครับ ความรู้สึกอันนี้ผมหมายถึง ความรู้สึกที่เกิดจาก การเคลื่อนไหว ผ่านทางร่างกาย ถ้าพี่ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของมันจริงๆว่าให้รู้สึกตัวทำไม พี่จะล่วงไปที่สมถะทันทีครับ การที่เราฝึกรู้สึกตัวนั้น เพื่อให้เราจับสัมผัส หรือเข้าใจความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือ ความรู้สึก การไหวหรือการขยับของความคิด จากนั้นให้เรามารู้อยู่กับความรู้สึกตรงนี้ครับ ปัญหาของคนประเภทนี้ก็คือ การติดอยู่ในญาณ ญาณก็คือ อาการที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนั่นแหละครับ มันเกิดจากการที่เราจับจ้อง หรือให้ความสำคัญกับอะไรบางอย่าง มันจะผลักเราให้หลุดไปจากความปรติ แต่เมื่อเราไม่เข้าใจตัวนี้ เราจะติดทันทีครับ เพราะสภาวะเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกเหนือธรรมดา ผมพูดไปพี่อาจจะยังไม่เข้าใจ พี่จะเข้าใจอาการญาณต่อเมื่อพี่ผ่านจินตญาณครับ เมื่อผ่านตัวนี้พี่จะเข้าใจ ญาณ ทั้งหมดครับ จะไม่ติดอะไรที่เป็นสภาวะพิสดารอีกเลย
    2. คือ ประเภท เน้นที่ความคิดครับ คนประเภทนี้คือคนประเภทผมครับ คือ มันซัดผั๊วะข้ามไปที่เห็นความคิดเลย มันจับความรู้สึกที่ความคิดเกิดได้ทันที โดยไม่ต้องเอาความรู้สึกตัวมาเป็นตัวดึงกลับ หรือเอาความรู้สึกตัวเป็นฐาน แต่ฐานของคนประเภทนี้ก็คือตัวความคิดนั่นล่ะ  ตอนแรกผมไม่เข้าใจครับ ผมแปลกใจว่า ทำไมผมพูดเท่าไหร่พี่ก็ไม่เข้าใจ และไม่ใช่พี่เพียงคนเดียวแต่มีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจตรงๆที่ผมบอกก็มีครับแต่น้อย ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า ฐานของการฝึกมันต่างกัน ปัญหาของคนประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องญาณครับ แต่เป็นวิปัสสนู เพราะพอมันลงล็อคปั๊บ ความรู้จะทะลักออกมาเลย ทีนี้ เมื่อมันดูความคิดอยู่ตลอด มันจึงพลาดเข้าไปในความคิดครับ มันติดสิ่งที่รู้ มันเพลินไปกับความรู้ที่มันรู้ แต่ประเภทแรกมันเพลินไปกับอาการที่มันเกิด อาการในที่นี้ไม่จำเห็นว่า ต้องเป็นอาการที่เป็นสุขนะครับ แต่คือมันหล่นลงไปแล้วตะกายออกมาไม่เป็นครับ
    ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจครับ เพราะจะให้เอาไงแน่ จะให้ดูความคิดหรือรู้สึกตัวกันแน่ ยิ่งคนที่ไม่มีครูบาอาจารย์ควบคุมอย่างผม ยิ่งซ่าหนัก ลองมันทุกอย่าง สุดท้ายมันจึงมาจับจุดได้ว่า การยกมือสร้างจังหวะ หรือ การเดินจงกรม มันเป็นเพียงการใช้ความรู้สึกตัวเพื่อดึงตัวเองออกมาจากความคิดเท่านั้นเอง
    ระยะของผมตอนนี้เห็นความคิดอยู่เกือบเสมอ รู้จักความคิดแทบจะทุกประเภทแล้ว พอเราปล่อยความคิดทุกอย่างที่เรารู้จักได้ พูดอย่างไรดี คือ ความคิดยังคิดอยู่แต่สั้นมากๆ แล้วเราไม่ใส่ใจในเรื่องที่คิด ไม่ใส่ใจในอาการทั้งหลายแหล่ มันจะดีด กลับไปสู่ความรู้สึกตัวอีกแบบหนึ่งครับ มันเป็นความรู้สึกตัวที่เป็นอยู่ธรรมดาของมัน ไม่มีโลภะโมหะโทสะ ไม่มีความหวาดกลัว ไม่มีความอึดอัดใจใดใด มันเหมือนกับจะลืมทุกสรรพสิ่งในชีวิต ความคิดเป็นเหมือน ลมหายใจ หรือ การกระพริบตา ที่ไม่มีอำนาจบงการชีวิตอีก มันเป็นอยู่มีอยู่ แต่ไม่ได้โดดเด่นอะไร มีค่าเท่ากับการเคลื่อนไหวอื่นๆ

    พี่ครับผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าพี่ศึกษาแนวทางของหลวงพ่อเทียนจริงๆ พี่สังเกตดูดีดีครับ เค้าจะพูดแต่เรื่อง ดู เห็น ความคิด พอคิดปุ๊บรู้ปั๊บ อย่าเข้าไปในความคิด พูดอยู่แค่นี้เท่านั้นเอง
    ช่วงหลังนี่ผมรู้สึกว่า ผมไม่รู้อะไรเลย พอจะพูดผมก็ไม่รู้จะพูดอะไร ถ้าไม่มีใครถามผมก็ไม่สามารถเขียนอะไรออกมาได้ เพราะผมไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะพอมันเริ่มไม่ขึ้นกับความคิด การกระทำทุกอย่างจะไม่ใช่ออกจากความคิดภายในแล้วครับ แต่อิงสะท้อนตามปัจจัยภายนอกแทน

    สำหรับปัญหาของพี่ตอนนี้ ผมบอกพี่ได้เพียงว่า พี่กำลังโดนความคิดตัวเองหลอกเอาครับ เหมือนกับเรากำลังบอกตัวเองว่า เรากำลังตกหลุมรักใครซักคน แต่จริงๆชีวิตเราไม่เคยตกหลุมรักใคร มีเพียงความคิดเท่านั้นที่มันบอกตัวมันเอง เมื่อมันคิดซ้ำๆกัน มันจะกลายเป็นกำแพงที่ขวางจิตใจเอาไว้ครับ มันไม่เป็นอิสระ เพราะความคิดมันล็อคทิศทางของความเข้าใจเอาไว้

    ลองเอากุญแจดอกนี้ไปใช้นะครับ

    “เพิกเฉยต่อทุกสรรพอาการความคิด ไม่ต่อต้าน ไม่โต้ตอบ ไม่สน ไม่แคร์”

    ถ้าพี่ผ่านตรงนี้ได้พี่จะเข้าใจว่า อะไรคือ สกิทาเต็มเหนี่ยว



    ขอวันนี้ของพี่พี่สวยงามต่อไปนะครับ
    พิมพ์ไม่ไหวแล้วตาลาย โน๊ตบุคของน้องน่ะครับ
    จากคุณ : koknam   - [ 3 ก.ย. 50 20:39:50 ]


     วิธีแก้ข้าพเจ้าขอตอบคำถามผ่านทุกท่าน ในที่นี่รวมๆกัน และคงไม่มีโอกาสอีกแล้วในช่วงหนึ่งเดือนนี้ เขียนเป็นภาษาไทย ให้ท่านเข้าใจ ความสามารถทางภาษาอังกฤษ ของข้าพเจ้าอยู่ในระดับต่ำ รังแต่จะสร้างความสับสนทางการตีความมากกว่า ถ้าท่านมีคำถาม จงอย่าถามต่อ เพราะข้าพเจ้าจะยังไม่สามารถตอบให้ท่านได้

    คำศัพท์ที่ใช้ในการเขียนนี้ ข้าพเจ้านำสมมติภาษาที่เคยรู้มาก่อน มาผนวกเข้ากับสภาวะที่เกิด ซึ่งเป็น การใช้แทนเพื่อสื่อเท่านั้น แต่ปัญหา คือการเข้าใจขอให้เข้าใจตรงกัน เมื่อท่านอ่าน จงอย่าเสียเวลาตีความ อ่านผ่านๆ นั่นพอแล้ว


    ประการต่อมา ข้าพเจ้าเขียนทุกสิ่งจากชีวิตประสบการณ์ตรง ของตัวเอง ท่านจงอย่าเชื่อทั้งหมด แต่ให้ลองนำไปทำดู เมื่อท่านแก้ปัญหาตัวท่านเองได้ บทความนี้มีความหมายเพียงพอแล้ว

    ข้าพเจ้าเพียงแต่ขอเอาชีวิตตัวเองเป็นประกัน ว่า แม้ยังไม่ถึงที่สุด แต่สิ่งนี้เป็นไปเพื่อดับทุกข์แน่นอน และถ้าท่านทำอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอแล้ว ความทุข์ของท่านมิได้ลดลง ท่านแก้ไขความขัดแย้งในใจมิได้ ข้าพเจ้ายินดีรับคำสาปแช่งทุกประโยค และยินดีตายลงไปเพราะบอกคนอื่นผิดๆ

    ขอท่านอ่านแล้วลืม เพียงรู้ไว้ว่า เคยมีคนเคยพูดเอาไว้อย่างนี้ เมื่อปัญหาของท่านมาถึง ท่านจะเข้าใจได้เอง


    “การรู้อย่างต่อเนื่อง” นั้น มิได้หมายความว่า ท่าน จะ “ต้องทำ” ตัวท่านให้รู้อย่างต่อเนื่อง แต่การรู้แบบนี้เกิด ตามมาเอง จากการเอาใจใส่ จากการกระตุ้นตัวรู้ การพยายาม รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา มันจะพัฒนามากขึ้นๆ จนต่อเนื่องไปเอง ( ในช่วงแรกเราต้องอาศัยการ “พยายาม”ก่อน ต่อมาให้อาศัย “ความเพียร” และต่อมาให้ “ทิ้ง” ความพยายาม แต่ให้ “รักษา”ความเพียรเอาไว้ )


    การ “รู้” นี้ รู้อะไร มันคือ การที่ท่าน รู้สึกตัวนั่นเอง (ไม่ใช่รู้ว่าตะกี้คิดอะไร)

    การรู้สึกตัวคืออะไร มันก็คือ “ชีวิต” นั่นเอง สิ่งที่มีชีวิตนั้น มันมีความรู้สึกตัวอยู่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วเพราะฉะนั้น “ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องไปสร้างความรู้สึกตัวขึ้นมา” ถ้าท่านพยายามไปสร้างความรู้สึกตัว ท่านจะล่วงลงไปที่ชั้นสมถะทันที ที่ท่านต้องพยายามทำคือ “กระตุ้น” ให้รู้สึกตัว

    กระตุ้นอย่างไร ตอนแรกท่านต้องรู้ก่อนว่า ความรู้สึกตัว ในความหมายของบทความนี้เป็นอย่างไร มันคือ การรู้สึกตัวที่เกิดจาก
                         
    “การเคลื่อนการไหวทั้งหมด”

    ของทุกอวัยวะ ของทุกประสาทสัมผัส ของความคิด ของอารมณ์ และแม้กระทั้งของนอกตัว จงรู้สึกตัวอยู่เสมอ เมื่อสิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

    แต่ “ไม่ต้องไปพยายาม” จะ “รู้ให้ครบ” ทั้งหมด มันจะเป็นขั้น เป็นตอนไปเอง รู้เท่าไหนจงรู้เท่านั้น และ “อย่าจับ” สิ่งที่รู้

    ไม่ว่าท่านจะกระตุ้นมันหรือไม่ มันก็เคลื่อนไหวของมันอยู่แล้ว เช่น เลือด ชีพจร หัวใจ การหายใจ กระพริบตา ทุกสิ่งมันเคลื่อนไหวอยู่แล้วตลอดเวลา แต่ท่านยังไม่รู้มันเท่านั้นเอง

    แต่เมื่อท่านเริ่มนั้น ให้ท่านยกมือขึ้น สะบัดมือ สะบัดตอนที่อ่านอยู่นี่แหละ การวูบวาบ นั้นแหละ การรู้สึกตัวแบบหนึ่ง

    หรือ ลมหายใจที่ท่านทำอยู่แล้ว รู้สึกเรื่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ ทำไปเพื่อให้สนุกสนาน จงสนุกที่รู้สึกตัว ไม่ใช่ทำเอาบุญ ไม่ใช่ทำแก้กรรม ไม่ใช่ทำเพื่อเป็นอรหันต์ ผลที่ได้จากการกระทำนี้มีค่ามากกว่านั้นมาก

    แต่อย่าจับอยู่ที่อันเดียว ให้รู้รวมๆ รู้สึกให้ครบ อย่าไปจับเพียงอันใดอันหนึ่ง ตรงนี้ –เน้นนะท่าน- ไม่อย่างนั้นท่านจะเชี่ยวชาญอยู่แค่อย่างเดียว และไม่มีประโยชน์เท่าใด นอกจากดึงท่านไปสงบ

    รู้แต่ไม่ต้องบอกตัวเองว่ารู้อะไร ใช้ ความรู้สึกตัว เป็นตัวรู้ “แทนที่จะใช้” ความคิดเป็นตัวรับรู้ เมื่อเป็น   ท่านจะเข้าใจประโยคนี้เอง แน่นอน


    ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร ?

    จงเคลื่อน ไหวอวัยวะของท่าน ทุกส่วน เคลื่อนบ่อยๆ เคลื่อนทั้งวัน แล้วจงจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไว้ แต่ไม่ต้องบอกตัวเองว่า อะไรเคลื่อน เอาตัวความรู้สึกอย่างเดียว ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีจุดหมายใดๆ ไม่ต้องบอกตัวเองว่า นี่เราปฏิบัต ธรรม อยู่นะ ทำมันไปเพียงให้รู้สึกตัว ทำ หรือ กระตุ้นมันให้ต่อเนื่อง กระตุ้นทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี มันจะซึมเข้าๆ ไปเอง มนุษย์มีความสามารถแบบนี้อยู่แล้ว เพียงให้เวลามันหน่อย เมื่อรู้แบบนี้จะไม่มีทางลืม
    เหมือนกับคนสูญเสียความทรงจำ ทำไมยังพูดได้ นั่นเพราะการใช้ภาษามาพูด มันซึมลงไปที่ระดับจิตสำนึกแล้ว พูดโดยไม่ต้องคิดก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น

    ท่านทำอะไรก็ตาม ในชีวิตประจำวัน งานประจำวัน กิจกรรมต่างๆที่พึงกระทำ จง ทำโดยรู้สึกตัวทั้งสิ้น จงพลิกได้ถ้าพลิก อย่ายึดติดรูปแบบ ประยุกต์ อิริยาบท ทั้งหมด ให้มีความรู้สึกตัว

    แต่เมื่อท่านพยายามจะรู้สึกตัวให้ได้ตลอด จะมีตัวมาขัดการรู้สึกตัว ที่ท่านพยายามกระตุ้นอยู่นั้น มันก็คือ “ความคิด” ของท่านนั่นเอง

    ให้ท่านทิ้งความคิด แล้วดีดตัว กลับมารู้สึกตัวต่อไป ทำทุกครั้งที่คิด ไม่ต้องไปเสียดายว่า เผลออีกแล้ว ไม่น่าเลย ให้สลัดความคิด “ทุกๆความคิด” -เน้นนะท่าน- กลับมารู้สึกตัวเท่านั้นพอ และไม่ต้องตามไปบอกตัวเองต่อว่า เมื่อกี้คิดอะไร สลัดแล้วสลัดเลย ในระยะแรกท่านจะอึดอัด พอสมควร เพราะความคิดมันถูกเบรค ไม่ต้องวิจารณ์ใดๆ ไม่ต้องมองหาความจริงแห่งสัจธรรม ไม่ต้องเลย ถ้ามาในรูปการคิด ดีดทิ้งให้หมด ไม่ต้องสงสัยว่าทำไปทำไม ถ้าสงสัยให้สลัดความสงสัยทิ้งเสีย แล้ว กลับมารู้สึกตัว

    ถ้าท่านโกรธอยู่ แล้วจับได้ว่า มีความคิดอะไรเข้ามา ให้รู้จักใช้ปัญญา จงใช้ ความรู้สึกที่โกรธนั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใจเต้นแรง เลือดสูบฉีด ให้ดีดความคิดทิ้ง แล้ว อาศัย ความแรงของการเต้นของหัวใจ หรือ ความรู้สึกของเลือดที่สูบฉีด เป็นตัวกระชากกลับมารู้สึกตัว ไปรู้สึกที่หัวใจ และเลือดนั้น ทำทุกครั้งที่คิด จนกว่าจะหายโกรธ

    ให้ประยุกต์ใช้วิธีนี้ เมื่อ มีความ โลภ หรือ อารมณ์ทางเพศ เกิดขึ้นด้วย

    ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับ ความเป็นไปของเวลา การอยู่บนปัจจุบัน บนสภาวะที่ท่านรู้สึกตัว มันเป็นสิ่งๆนั้น ทั้งหมดอยู่แล้ว เป็นโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องพยายามไปเข้าใจอะไรทั้งสิ้น แม้แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ ก็ไม่ต้องคิด ว่ารู้สึกตัวอยู่ ถ้าคิด ให้เขี่ยทิ้ง : )

    ท่านจะเห็นว่า จริงๆแล้วคือ ข้าพเจ้าพยายามแนะให้ท่าน “ไม่ต้องทำอะไรเลย” แต่ในความเป็นจริง ท่านจะพยายามคิด พยายามหาเหตุผล เพื่อตอบคำถามให้ตัวเอง จงหยุดสิ่งเหล่านั้น หยุดความพยายามจะบรรลุ หยุดความคิดเหล่านี้ให้หมด


          “แต่อย่าไปห้ามไม่ให้คิด ปล่อยให้คิด แต่รู้การคิดให้เร็ว แล้วรีบกลับมารู้สึกตัว ”

    “ถ้ามันไม่คิดท่านจะไม่รู้” เมื่อท่านพยายามห้ามความคิด เพราะเข้าใจว่าจะสงบ
    ประการแรกท่านจะปวดหัวอย่างหนัก เพราะฝืนธรรมชาติ
    ประการที่สอง ท่านจะหล่นลงไปที่ชั้น สมถะ คือพยายามจะไม่ฟุ้ง

    อาการใดๆเกิดขึ้นก็ตาม จงรู้อยู่บนสภาวะนั้นๆ ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่รับ

    ท่านไม่ต้องก้าวหน้าอะไรทั้งสิ้น รู้สึกตัว และรู้สึกตัว เท่านั้น เพียงพอแล้ว คำว่ารู้สึกตัว จริงๆแล้ว มันค่อนข้างกว้าง เมื่อแรกท่านจะรู้สึกกายก่อน เมื่อท่านพยายามจะสลัดความคิด ไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวที่กาย จะพัฒนาเป็น รู้สึกตัวที่ความคิด มันจะทันเข้าๆ และในระหว่างที่ กระบวนการจากกายไปความคิดนี้ ท่านจะได้ของแถมมาคือ รู้สึกตัวถึงเวทนา ตามภาษาของ สติปัฏฐาน 4

    ที่ข้าพเจ้าผ่านมา ข้าพเจ้าจัด เจ้าเวทนานี้ มันไว้ ใน หมวดกาย ซึ่งก็ คือ “รูป” นั่นเอง ส่วนความคิด ก็คือ “นาม” และการเห็น รูปกับนามพร้อมกันก็คือ เห็น “ธรรมในธรรม” แบบหยาบๆนั้นเอง

    ไม่ต้องไปพยายามแยก รูปกับนาม เพียงแต่ให้รู้จักไว้เฉยๆ เอา ความรู้สึกตัวทั้งหมดที่ผ่านการขัดเกลาไม่หยุดหย่อนนั้น “รู้เข้า” ไปในการรู้สึกตัว    แต่ให้ “รู้ออก” จากความคิด

    ทั้งหมดนั่นเรียกว่า “การกระตุ้น”
    จากคุณ : koknam   - [ 12 ม.ค. 49 23:31:22 ] 



    ผลที่ตามมาจากกระบวนการทั้งหมดนี้คือ
    - เข้าใจสาเหตุของทุกข์ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ต้องให้ใครมาบอก
    - ไม่สนความคิด และความเชื่อตัวเอง ซึ่งต่อมาจะเป็นบันไดให้หลุดจากสมมติ ทั้งปวง
    - ไม่กลัว ฤกษ์ยาม โชคลาง ไม่สนดวงชะตา
    - รู้ว่า จะไปสุดทางต้องทำอย่างไร
    - ความสงสัยทั้งหมด ต่อทุกสิ่งทุกอย่าง จะได้คำตอบขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องไปหาอ่านที่ไหน หรือ ถามจากใคร (ส่วนใหญ่เป็นความรู้นอกตัว คือความรู้ ที่เอามาใช้จัดการกับตัวเองไม่ได้มาก)
    - มีความสามารถในการมองออกว่าใครพูดธรรม ใครรู้จริง ใครจำของจริงมาพูด และใครรู้ไม่จริง
    - เมื่อเข้าใจแล้ว มันจะหวนปฏิบัต อยู่อย่างนั้น พยายามจะรู้สึกตัวอยู่อย่างนั้น พยายามสลัดความคิดอยู่อย่างนั้น ทุกวันเวลา มันพยายามไปเอง

    ข้าพเจ้ามั่นใจว่าถ้าใครก็ตาม สามารถกระทำตามข้อความขั้นต้นได้ทั้งหมด “ทิ้งความอยากรู้อยากเป็นอยากมีทั้งหมดได้” “ทำทั้งวัน” คือไม่สนว่าทำไปทำไม เขาคนนั้นจะเป็น “โสดาบันขั้นต้น” ภายใน 1 เดือน หมายถึงผลที่ตามมาจากกระบวนการ ยังเกิดไม่ครบ แต่ท่านจะรู้ตัวเองว่า มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ในระดับจิตใจตัวเอง ข้าพเจ้ายืนยันคำพูดตัวเอง

    แต่อย่าพยายามทำ เพือให้สำเร็จภายใน 1 เืดือน ถ้าความคิดนี้มา ให้ดีดทิ้ง

    เมื่อท่านจบตรงนี้ ข้าพเจ้า “จัดเอาเอง” ว่าเป็นขั้นของ “โสดาบัน” แล้ว
    ข้อเสียของระยะนี้คือ
    - ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังผู้ใด เพราะรู้เอง เห็นเองเข้าใจเอง
    - พยายามจะพูดสิ่งที่ตัวรู้ ให้คนอื่นฟัง คิดไม่หยุด ทบทวนสิ่งที่รู้ ขึ้นมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วกไปวนมา เฝ้าถามตัวเองว่าถูกไหมๆ
    - เถียงทุกคน ตัวเองถูก ตัวเองเก่งอยู่คนเดียว
    - หลงอยู่ในความคิด ติดความรู้ที่เกิด
    - ลืมการกลับมารู้สึกตัว

    “วิธีแก้” ปล่อยให้คิด พล่ามในใจไปเรื่อยๆ แต่เมื่อรู้แล้วว่าตกอยู่ในวังวน ตัวนี้ ให้ พยายามสลัด ความคิดทั้งหมด ออกมา แล้วรู้สึกตัวอย่างเดิม
    แต่ในขณะที่เป็นจะไม่รู้ตัว เพราะติดความคิดสดใหม่นั้นๆ ช่วงแรกจะยากมาก เพราะจิตดีใจ ที่ได้รู้ความคิดใหม่ๆ คลายสงสัยจากสิ่งที่เคยคลาใจเกือบทั้งหมด ความรู้ที่มีค่าที่สุดเมื่อตอนที่ข้าพเจ้าผ่านจุดนี้มาคือ เข้าใจว่า พุทธศาสนาคืออะไร ? พระพุทธเจ้าสอนอะไร ? และต้องทำอย่างไร ?

    สิ่งที่คุ้มครองบุคคลระดับนี้ไว้คือ ความรู้ที่รู้ขึ้นมา ในรูปความคิดนั่นเอง ให้สลัดออกให้หมด พยายามดึงตัวเองมารู้สึกตัวให้บ่อยที่สุด แล้วความคิดสดใหม่นั้นๆ จะลดลงไปเรื่อยๆ อาจใช้เวลาซักหน่อย ขอท่านจงเพียรเถิด
    ระยะที่ว่า นี้คือเกิด “วิปัสสนู”




    เมื่อหลุดจาก วิปัสสนู
    ระยะต่อมา ข้าพเจ้าจัดเอาเองว่าเป็น “สกิทาคามี” อาจจะผิดก็ได้ อย่าไปเชื่อหมอนี่มากนัก

    ความรู้สึกตัวเริ่มกลมกลืนในชีวิตประจำวัน อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น  ต่อสู้กับอารมณ์ ต่างๆ “อย่างอยาก” เอาชนะ

    ระยะนี้ จะมีความรู้แจ้งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางดับทุกข์ ที่เกิดกับข้าพเจ้าคือ รู้ว่า ศีลแท้ๆ คืออะไร ? สมาธิแท้ๆ คืออะไร ? อะไรคือ ความอิสระที่แท้จริงของมนุษย์ ? แต่สภาวะทางจิตใจ ยังไม่กลายเป็นสภาวะนั้นๆ เต็มๆ
    มันเพียงแต่รู้ไว้ในหัว คือความรู้นำตัวสภาวะไปก่อน คือ เป็นมิจฉาฑิฐิขั้นสุดยอด นั่นเอง

    แต่สภาวะทางจิตใจจะพัฒนามากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ต่อสู้กับอารมณ์ได้พอสมควร

    ระยะนี้จะเข้าใจข้อธรรมปริศนาธรรมต่างๆ ที่เป็นคำพูดงุนงง น่าฉงนเกือบทั้งหมด เข้าใจแก่นของคำสอนต่างๆ ไม่สนตำรา เขี้ยงทิ้งคำภีร์ ไม่สนประเพณี จารีต กฏหมาย แต่ไม่ทุกข์ ที่ต้องอยู่ใต้กฏนั้นๆ และไม่สนว่าใครจะมาว่า ว่ารู้ผิดรู้ถูกอย่างไร รู้จักเลือก มองคนออก จิตใจสบาย แต่มีอาการทุกข์ แทรกซ้อนเป็นระยะๆ

    และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะหาโอกาสปฏิบัตธรรมอยู่นั่น มันเป็นไปเอง วันไหนไม่ทำรู้สึกไม่ปกติ แม้จะไม่ทำเข้ารูปแบบ แต่จะพยายามประยุกต์ใช้กับรูปแบบวิถีประจำวันไปเรื่อยๆ

    ปัญหาของระยะนี้คือ

    - พอใจในความรู้ที่มี เอาตัวรอดได้แล้ว
    - อิ่มเอิบ ภาคภูมิ
    - มีทุกข์ปรากฏอยู่ การขจัดทุกข์ของขั้นนี้ อาศัยสิ่งที่รู้แจ้งขึ้นมา บอกตัวเองว่า มันเป็นแบบนี้ๆ จิตใจจะอ่อนลง แต่ไม่ขาด เพราะเป็นการเอาความคิดซึ่งเป็น “นาม” ไปปราบทุกข์ ซึ่งเป็น “รูป” มันคานกันไม่ลง แต่ใช้จัดการทุกข์ได้ แต่ไม่สะบั้น พูดง่ายๆคือ เอาทุกข์ไปปราบทุกข์ มันจึงยังทุกข์ แต่มองทุกข์ตัวนี้ไม่ออก

    วิธีแก้ระยะนี้ อันนี้ส่วนตัวมากๆ คนอื่นอาจใช้วิธีอื่น

    ในตอนนั้น ข้าพเจ้าพยายามตัดความคิดออกทั้งหมด เพื่อจะเอาตัวรู้อย่างเดียว ซึ่งทำได้เป็นช่วงๆ บางช่วงว่าง แต่ว่างแบบ ตันๆ อย่างที่ข้อความเคยตั้งไว้เป็นกระทู้ คือเห็น ไตรลักษณ์ เห็นว่า ความพยายามก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิดด้วย จากนั้น เข้าใจ สมถะ-วิปัสนาอย่างแท้จริง ทิ้งความพยายาม ตั้งแต่บัดนั้น

    หลังจากนั้น เห็นอย่างเดียว เห็นทุกอย่าง เท่าที่เห็นได้ เกิดจบ เปลี่ยนแปลง บังคับไม่ได้ มันจึงวาง วางไปเองเลย

    เมื่อพ้นระยะนี้มา ไม่สนแล้วว่าตัวเองเป็นขั้นอะไร ไม่สนความรู้ทั้งหมด รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง ไม่เอาเลย สลัดออกทั้งหมด สนใจแต่รู้สึกตัวเท่านั้น ไม่เชิงสนใจ คือมันดึงกลับมาเอง ใส่ความพยายามน้อยมากๆ คือถ้าพยายาม มันจะพยายามไปเอง โดยไม่มีความพยายาม

    ตัดความคิดขาดมาก ไม่มีระลอกสอง คุมอารมณ์ขั้นหยาบอยู่ทั้งหมด (ไม่เชิงคุม เพราะบางอย่างไม่เกิดเอง มันเกิดเดี๋ยวเดี๋ยว แล้วจบเตัวเอง)  พวก กามารมณ์ โกรธ คุมอยู่อย่างไม่อึดอัด แต่ การเผลอยังมี แต่น้อยมาก ข้าพเจ้าอยู่ตรงนี้ พวกท่านเร่งตามมาเถิด ทุกอิริยาบท แทบจะเป็นการปฏิบัต ไปหมดแล้ว ไม่มีฝืนให้ทำ เป็นไปโดยธรรมชาติ มีแต่การระวังแบบบางๆ ดูความคิดอยู่แทบทุกเวลา รู้สึกตัวอยู่เสมอ

    ทั้งหมดถ่ายทอดไว้ เผื่อเป็นประโยชน์กับท่านๆ มันเป็นการเขียนแบบกว้างๆ ในส่วนปลีกย่อยให้ท่าน หาค้นคว้า เอาจากตัวท่านเอง อย่ากลัวที่จะผิด เพราะมันเป็นครูที่ดีเสมอ “แต่จงผิดบนทางที่ถูก”

    อย่าสนจริต ว่าชั้นเ้ข้ากับแบบนั้น แบบนี้ได้ดีกว่า “ถูกจริตกับถูกวิธีเป็นคนละ เรื่องกัน” ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างนั้น

    ข้าพเจ้าไม่สนใจว่าท่านมองข้าพเจ้าอย่างไร บางคนอาจมองว่ารู้มาก แต่ข้าพเจ้าแทบไม่รู้อะไรอื่นใด นอกจากเรื่องของตัวเอง เพียงแต่ในเรื่องของตัวเองนั้นรู้จริง และทำได้จริง

    สิ่งที่อดนอน นั่งพิมพ์ ให้ท่านนี้ ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าท่านไม่ลองนำไปทำ และข้าพเจ้ามิได้ยกตัวเสมอครูของท่านๆ เป็นเพียงผู้นำของจริงมาบอก มาเล่า

    ข้าพเจ้าทำได้เพียงแนะนำ ครูของท่านคือตัวท่านเอง เรียนรู้จากตัวท่านเองให้มาก อย่าทิ้งไปแม้เสี้ยววินาที ที่จะเรียนรู้ จากครูที่จะอยู่กับท่านไปชั่วชีวิต ท่านมีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้น ที่จะอยู่กับครูคนนี้

    อธิบาย เรื่อง โสดาบัน สกิทาคามี ซักนิด จงอย่าติดกับภาษาตัวหนังสือเหล่านี้ ความอยากที่จะเป็น จะมี จะรู้ จะขวางทางท่านเอาไว้

    และบุคคลพวกนี้มิได้ วิเศษอะไร ถ้ามองจากระดับของข้าพเจ้า มันมิได้หมายความว่า ท่านเหนือธรรมดา แน่ เจ๋ง สำหรับข้าพเจ้า มันเป็นคำใช้เรียกแทน สภาวะที่เกิด และปัญหาที่สิงอยู่ ในสภาวะนั้นๆ เท่านั้น

    อย่าไปเข้าใจว่า บุคคลเหล่านี้ มีรังสี รัศมี สีโน้น สีนี้ ห่อหุ้มร่างกาย รถชนไม่เป็นไร ด้วยบุญบารมี ถอดจิต ระลึกชาติ เข้าญาณ ออกญาณ อ่านใจคนอื่นได้ มองทะลุสิ่งของ นั่นพวกผิดปกติ มันจะเกิดกับท่านหรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่กับข้าพเจ้าไม่เกิด และไม่สนใจด้วย

    สิ่งที่เราๆ ท่านๆ เรียกว่า ธรรม นี้ คือเรื่องธรรมดาๆ นี่เอง ไม่มีอะไร ไม่ใช่อภินิหาญ แต่ผลลัพธ์ ของมันทรงอานุภาพยิ่ง คือ ท่านจะจัดการกับตัวเองได้ ท่านจะรู้วิธี หลบหลีกป้องกัน จากทุกข์

    ท่านอาจจะอ่านบทความนี้ แล้วรู้สึกเหมือนจะเคลียร์ แต่ไม่เคลียร์ นั้นเป็นเพราะว่า
    1. ท่านยังมิได้ทำ
    2. สภาวะที่ว่ายังไม่เกิดกับท่าน ท่านจึงยังมิเข้าใจ ว่าหมอนี่หมายถึงอะไร

    จงอย่าสนเรื่องของคนอื่น ท่านจะรู้ตัวท่านเองดีที่สุด ถ้าท่านทำได้ มันจะได้ผลกับท่านเท่านั้น ถ้าท่านทำไม่ได้คนอื่นจะวิ่งมาช่วยท่านด้วยทางที่เค้าเชื่อว่าช่วยท่านได้  แต่ถ้าท่านทำได้ คนจะริษยา และด่าทอท่าน เตรียมตัวเอาไว้ แต่ท่านจะไม่เป็นทุกข์เลย เรื่องของคนมันเป็นอย่างนั้น น่าขันเสียจริง ไปนอนล่ะนะท่าน


    ขอคืนนี้ของท่านสวยงามต่อไป 


    จากคุณ : koknam   - [ 12 ม.ค. 49 23:31:44 ]


สรุปการฝึกวิปัสสนาโดยคุณ koknam


ข้อความนี้ คุณ koknam ได้โพสต์ไว้ที่ห้องศาสนาพันทิพ เมื่อวัน 13 เมษายน 2550 ผู้เขียนจึงขอนำมาอ้างอิง


ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่คุณ koknam ครับ
-----------------------------------------------------------------------------------


สวัสดีครับ


วิธีที่ผมจะบอกกับคุณ อาจจะไม่เหมือนกับที่คุณเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ผมไม่ทราบว่าคุณมีพื้นฐานการปฏิบัติอย่างไร แต่ผมสังเกตจากคนอื่นที่ผมเคยสอนเค้ามา ไม่มีพื้นฐานจะไปเร็วกว่าครับ


ผมจะไล่กระบวนการง่ายๆนะครับ


1. ฝึกให้รู้สึกตัว
2. ฝึกให้รู้สึกถึงความคิด
3. ฝึกการวางตัวระหว่างที่ความสามารถของการเข้าไปรู้สึกตัวและเข้าไปรู้ความคิดเกิดแล้ว


เอาแค่นี้ก่อนนะครับ




เมล์นี้ผมจะเขียนแค่เรื่อง “ฝึกให้รู้สึกตัว” นะครับ


ถ้าคุณเห็นว่าไร้สาระ ไม่ต้องตอบเมล์กลับมา ขอให้จบการโต้ตอบไปได้เลยไม่ต้องแจ้งผม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาขอบคุณ และถ้าคุณเกิดฝึกตามนี้ขึ้นมา แล้ววันหนึ่งผมเห็นว่า คุณไปต่อไม่ไหวด้วยเหตุผลของความขี้เกียจ ผมขออนุญาตเลิกติดต่อนะครับ




ฝึกให้รู้สึกตัวทำอย่างไร


ผมขอแบ่งเป็นง่ายๆ 2 อย่างนะครับ คือ เข้ารูปแบบและไม่เข้ารูปแบบ


“เข้ารูปแบบ” คือ การเดินจงกรม และ นั่งปฏิบัติยกมือตามลักษณะของหลวงพ่อเทียนครับ หรือคุณจะคิดรูปแบบการยกมือขึ้นมาใหม่ก็ได้ตามใจครับ หรือคุณจะไม่ยกมือ แต่ งอคอหันหน้าเป็นจังหวะก็ตามสบาย


การเดินจงกรม


1 ไม่ต้องภาวนา พูดจาอะไรในหัวทั้งสิ้น การปฏิบัติแบบที่ผมทำ ไม่มีการภาวนาบ่นท่องครับ
2 ให้เดินไปกลับตามสบาย มือกอดอกหรือไขว้หลัง หรือจะไว้ที่ไหนก็ตามใจครับ เดินความเร็วเท่ากับที่เดินเล่นในสนามหญ้า จำนวนก้าวไม่สำคัญ มีที่ให้ฝึกแค่ไหนเอาจำนวนก้าวแค่นั้น ไม่ต้องหากฎเกณฑ์มาบังคับตัวเอง
3 สายตามองสบายๆ ไม่ต้องจ้องที่อะไรเลย มันจะมองอะไรให้มองไป แต่ให้รู้สึกถึงลูกตาที่หมุนไปไปมามา
4ให้สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระหว่างเดิน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ขา ที่ตากระพริบ ที่มือที่กอดอกอยู่ ที่หายใจ รู้สึกอะไรให้รู้ไอ้นั้น และอย่าไปเพ่งจับอยู่อย่างเดียว อย่าไปพยายามไปทำให้รู้นะครับ ให้ดูความรู้สึกจริงๆที่เกิดเองอันมาจากการเคลื่อนไหว
5* ในระหว่างที่คุณฝึก คุณจะไม่สามารถดูความรู้สึกได้ต่อเนื่องครับ เพราะคุณจะคิด ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิดที่เกิด ให้รู้สึกตัวว่า คิดแล้ว (ไม่ต้องบอกตัวเองในใจ) จากนั้นให้ละความคิดที่กำลังคิดอยู่ แล้วกลับมาดูความรู้สึกตัวต่อไป ทำสลับอยู่แค่นี้เท่านั้น คิดแล้วให้รู้ แล้วกลับมารู้สึกตัว มันจะคิดอีก ก็ให้รู้แล้วกลับมารู้สึกตัว
6* ไม่ว่าความคิดจะลากคุณไปไหนก็ตาม อย่าหงุดหงิดว่า คุณกำลังแพ้ แค่ให้คุณฝึกให้รู้ถึงสภาวะที่คุณรู้ว่า คุณกำลังคิด ถ้าคุณทำถูกต้องและเข้าใจตรงกับผม จะไม่มีสภาวะพิสดารอะไรเกิดกับคุณทั้งสิ้น นอกจากปัญญาเบสิคในขั้นรูปนาม
7 ทำทุกอย่างให้ง่ายๆครับ การฝึกปฏิบัติไม่ใช่ภาระ เอาที่ทำแล้วสบายใจเป็นหลัก






การยกมือสร้างจังหวะ


กระบวนการเหมือนการเดินจงกรมทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถ เพราะเดินมากก็เมื่อยไม่ต้องฝืน เมื่อยก็เปลี่ยนท่ามานั่ง ถ้านั่งแล้วเมื่อยอีกก็เปลี่ยนไปเดิน ผมได้ส่งไฟล์อนิเมชั่นการยกมือแบบหลวงพ่อเทียนไปด้วยแล้ว อาจจะหมุนไปหมุนมาหน่อยนะครับ ผมเอาท่าทางมาทำเป็นกราฟิคส่งอาจารย์เมื่อเทอมที่แล้ว ถ้าดูไม่เข้าใจให้หาเอาตามอินเตอร์เน็ตว่าทำอย่างไร อย่างอมืองอเท้าอย่างเดียวนะครับ ต้องรู้จักกระโดดเข้าไปกัด อยู่เมืองนอกน่าจะชินกับการเอาตัวรอดใช่ไหมครับ


โอเค


1 การยกมือแบบหลวงพ่อเทียน ไม่ต้องกังวลเรื่องช้าเร็ว ถูกหรือไม่ถูก ถ้าเริ่มจริงๆ ในอนิเมชั่นนั้น ผมกะจังหวะให้แล้วครับ แต่ถ้าไม่เหมาะกับคุณ ก็โยนทิ้งไปเลยครับ
2 ลืมตาทำ ทำไมต้องลืมตา เพราะในชีวิตประจำวันของคุณ คุณลืมตาหรือหลับตาครับ ให้มองสบายๆไปไหนก็ได้ ไม่ต้องจับจ้องอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
3 ไม่ต้องเกร็งมือ เกร็งแขน ปล่อยทุกอย่างสบายๆ
4 ให้รู้สึกถึงมือที่เคลื่อนไปเคลื่อนมานั่นอยู่เสมอ ไม่ต้องบอกตัวเองว่ารู้สึก แต่ให้ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเคลื่อนมือไปมานั้น
5 ในขณะที่คุณ กำลังดูความรู้สึกนั่นเอง คุณจะไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะคุณจะคิดโน่นคิดนี่ ให้รู้ตัวว่าคิด แล้วกลับมารู้ความสึกตัว ที่เกิดจากการยกแขน ยกมือนั่นนะครับ ทำสลับอยู่เท่านี้
6 อย่าอยากมี อยากรู้ อยากเป็นอะไรขึ้นมา ผมบอกไว้ก่อนเลยว่า คุณจะไม่มีอะไรวิเศษเกิดขึ้นมาทั้งนั้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วรู้สึกผิดธรรมดาเหนือมนุษย์ ขอให้รู้เลยว่า ไปผิดตำแหน่ง ผมสอนได้แค่มนุษย์ครับโดยเฉพาะมนุษย์โง่ๆ เทวดาหรือสัตว์ประหลาดผมสอนไม่ได้ครับ
7 ทำทุกอย่างให้ปรกติ ให้ง่ายๆ ไม่ต้องพยายามหาความพิสดารใดๆ หายใจตามปรกติ อยากชำเรืองมองอะไรก็มอง อยากหาว อยากเกา ก็ทำ แต่ให้รู้ความรู้สึกที่เกิดมาด้วยเสมอ




หลักๆแค่นี้ครับ จุดสำคัญอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่
1 คุณเข้าใจความรู้สึกตัวเบื้องต้น
2 เมื่อคุณคิด รู้จักว่าตัวเองคิด ให้กลับมารู้สึกตัว


ทั้งหมดนั่นคือ การฝึกแบบเข้ารูปแบบ ถ้าคุณไม่เคยฝึกมาก่อนเลย ผมขอแนะให้คุณฝึกนั่งสร้างจังหวะให้หนัก เพราะการเดินจงกรมคุณจะยังตามความคิดไม่ทัน
ถ้าคุณเป็นคนว่างงาน ในหนึ่งวันไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากฝึกอยู่แค่นี้เท่านั้น นั่งกับเดิน


แต่ถ้าคุณต้องทำการทำงาน ต่อไปเป็นการฝึกแบบไม่เข้ารูปแบบ






“ไม่เข้ารูปแบบ”


ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ให้สังเกตความรู้สึกที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเสมอ กินข้าว อาบน้ำ เดิน มีเซ็กซ์ รีดผ้า ดูทีวี กิจกรรมทุกกิจกรรมในชีวิตคุณ คุณจะต้องดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ไม่ต้องตั้งใจจงใจเน้นให้รู้ รู้อะไรให้รู้ไอ้นั่น ไม่ต้องพยายามจะรู้ให้ครบทั่วถึง คุณจะเดินไปไหนให้เอาความรู้สึกตัวไปด้วย คุณจะด่าใครให้มีความรู้สึกตัวร่วมอยู่ด้วยเสมอ


และถ้าคุณสามารถรู้สึกได้ว่า คุณกำลังคิดอยู่นี่ นั่นเยี่ยมมาก ขอให้ฝึกให้รู้ว่ากำลังคิด พอรู้ปุ๊บให้กลับมารู้สึกตัว ทำอยู่แค่นี้เท่านั้นครับ


ส่วนเทคนิคอื่น ให้คิดค้นขึ้นเอง ทำอย่างไรก็ได้ให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ จะถูนิ้ว หรือหมั่นกระพริบตา หรือหมั่นกลืนน้ำลายก็ตามถนัด


ผมให้เวลาคุณมากที่สุด 3 เดือน ถ้าทำตามนี้ ฝึกทุกวันทุกเวลา อย่างหนัก แล้วไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จักรูปนาม พูดจากใจมาคำเดียวครับ ผมจะส่งเงินไปให้คุณ 100 ออยโร (ให่ได้แค่นี้ เพราะต้องเจียดไว้จ่ายค่าห้อง)








ขอวันนี้ของคุณสวยงามต่อไปนะครับ


จากคุณ : koknam - [ วันมหาสงกรานต์ (13) 00:14:07 ] 


แก้ทางเพ่ง โดย Koknam


ท่าน Koknam ได้เขียนบทความนี้และใส่ในกระทู้ห้องศาสนาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549 ตามกระทู้ที่ http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y4065309/Y4065309.html


เป็นบทความที่มีค่าในด้านการปฎิบัติอีกบทความหนึ่ง


-------------------------------------------------------
แก้ทาง “เพ่ง” 
ปัญหาของท่านก็คือ จ้องลมหายใจมากเกินไปใช่ไหม ที่ท่านรู้สึกอึดอัด เนื่องจากท่านไปพยายามสร้างบางอย่างขึ้นมา จากความที่มันเป็นอยู่แล้ว ซึ่งมันเป็นลักษณะแบบหนึ่งของสมถะกรรมฐาน 


ปัญหาของท่านแก้ไม่ยาก เนื่องจากท่านรู้สึกถึงปัญหาของท่านแล้ว มีคนบางคนที่เพ่งแล้วไม่รู้ตัวว่าเพ่ง อันนั้น แก้ยาก ต้องรอจนเค้ารู้สึกตัวเอง หรือมีครูคอย ว่ากล่าว


ท่านจงรู้ถึงมันเท่านั้น รู้บน “สภาวะทุกสภาวะ” ไม่เลือกว่ารู้อะไร ไม่ว่าท่านจะรู้มันชัด หรือไม่ ให้ท่านแค่ “รู้” เท่านั้น “รู้บนรู้” 




เหตุใด ท่านจึงไม่ควรไปจับอยู่แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ?


“ประการแรก” ---- ท่านจะยึดสิ่งที่จับนั้นเป็นอารมณ์เสมอ


“ประการที่สอง” ---- ท่านจะเชี่ยวอยู่แค่อย่างเดียว


“ประการที่สาม” ---- ท่านใช้ความสามารถที่ธรรมชาติ ให้มาไม่ถูกต้อง(ในการมุ่งไปดับทุกข์) การรู้ชัดนั้นดี แต่ท่านยัง “ไปรู้ผิดตัว” จงใช้ความสามารถที่ธรรมชาติมอบให้นี้ ไปรู้อยู่เสมอ เมื่อท่านคิด “ไปรู้ให้ชัดเมื่อคิด” (แต่ไม่ใช่ไปรู้ให้ชัดว่าคิดอะไร) ตรงนั้นจะ มีประโยชน์ ต่อการกำจัดทุกข์มากกว่ามาก 


“ประการที่สี่” ---- การจะรู้ความคิดให้ทันทั้งหมดนั้น ท่านจะต้อง ใช้ความรู้สึกตัว ทั้งหมดที่ท่านมี “เป็นตัวเหนี่ยว” เพื่อ “ให้รู้ทัน” เมื่อท่านคิด มันจะรู้ทันโดยธรรมชาติ ว่ากำลังคิด เมื่อท่านฝึกดีแล้ว มันจะรู้ของมันเอง โดยที่ความรู้สึกทั้งหมดจะไม่อึดอัดเลย และที่ต้องใช้ความรู้สึกตัวทั้งหมดนั้น เป็นเพราะว่า 


1. ความคิดมันเร็วมาก จึงต้องใช้ความรู้สึกตัวที่ มันมีตลอดเวลาอยู่แล้ว เป็นตัวดึงท่านออกจากความคิด มันจะเร็วกว่า เป็นธรรมชาติมากกว่า และความรู้สึกตัวที่ผ่านการขัดเกลานั้น จะดึงท่านออกมาจากความคิดเองโดยอัตโนมัต โดยไม่ต้องตั้งใจ เพราะมันคานกันเอง (มันเป็นเหรียญเดียวกัน แต่อยู่คนละด้าน)
2. ความรู้สึกตัว จะพัฒนาตัวเอง ไปเป็น “ตัวรู้” ในช่วงตั้งแต่ขั้นกลางขึ้นไป (สติเริ่มแข็งตัว) มันจะไม่ใช่การรู้สึกตัวอย่างที่ท่านๆเข้าใจแล้ว มันเป็นตัวรู้ ที่ “รู้ทุกอย่าง” ว่าอะไรเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีสภาวะตรงนี้เกิดแล้ว จะเข้าใจ ประโยคนี้ได้ดี


“ประการที่ห้า” ---- การรู้สึก ถึง การรู้ตัวทั้งหมด จะเป็นบันไดให้ท่านผ่านด่านต่างๆได้ และท่านจะเข้าใจว่า “รู้ล้วนๆ” คืออะไร ตัวรู้ล้วนๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการทุ่มเทฝึก มาจากการรู้อยู่แค่อย่างเดียว




ในทางตรงกันข้าม


ถ้าท่านไปพยายาม สร้างหรือ ทำบางอย่างเพื่อ ให้รู้สึก มันคือการ “กลบ” หรือ “บี้” เพื่อไม่ให้คิด มันไม่เป็นธรรมชาติ และมันผิดวิสัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมันจะนำท่านไปสู่ความสงบแบบคนตาย “ไร้ชีวิตชีวา” คำว่า “เบิกบานและปัญญา” จะไม่เกิดกับคนที่ฝึกด้วยวิธีนี้




เมื่อท่าน อยู่บนฐาน ของวิปัสสนา อารมณ์ ทุกอย่าง จะยังอยู่ครบ แต่ที่ต่างไป คือ ท่านรู้อยู่บนสิ่งเหล่านั้น เพียงแต่รู้ ไม่พยายามขจัด ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่รู้เท่านั้น 
บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ว่า “รู้” สิ่งเหล่านี้ไปทำไม อันนี้เป็นธรรมอันหนึ่ง หรือ เป็นวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง ถ้า ผิดพลาดอย่างไร ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเอง 


เมื่ใดที่ท่าน “รู้” ความคิด ความคิดในจุดนั้นมันจะหยุดทันที 
เมื่อท่านไป “รู้” อะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะหยุด หรือจบตัวเองทันที
เมื่อใดที่ท่าน “รู้” (ข้อธรรมต่างๆ) จิตจะคลายตัวออกทันที


(สำหรับผู้ฝึกใหม่ จะไม่เข้าใจว่ามันหยุด คือมันหยุดแป๊บเดียว แล้วคิดต่อทันที จึงดูเหมือนไม่หยุด เมื่อท่านฝึกไปเรื่อยๆ ท่านนจะเห็นมันชัดขึ้นๆ)




ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่มันเป็นธรรมชาติ ที่มันต้องเป็นไปอย่างนั้น




ขอให้ท่านเริ่มใหม่ เริ่มเรียนรู้ “การรู้ความรู้ฝึกแบบรวมๆ” รู้แบบสบายๆ ไม่จับจ้อง ถ้าท่านยังมีปัญหาเรื่องลมหายใจ ให้พยายาม “แตก” หรือ “กระจาย” ความรู้สึกเพ่งลมหายใจนั้น 


เมื่อใดที่ท่านปฏิบัตแล้ว มันไปจับจ้องที่ลมหายใจ อย่างเดียว และท่านเริ่มรู้สึกแล้ว ว่า ท่านจับจ้องลมหายใจอยู่ ให้ “แตก” การจับจดนั้นๆ มาเป็นความรู้สึกตัวแบบอื่นๆ ด้วย


เช่น ท่านรู้สึกลมหายใจอยู่ ตอนแรกให้ ตัดความคิดที่รำคาญเกี่ยวกับ ลมหายใจนั้นออกก่อน จากนั้นให้ “ถ่ายเท” ความรู้สึก มารู้สึกที่อวัยวะส่วนอื่นๆด้วย “ทำทุกครั้ง” ที่ รู้สึกว่ามันไปจับอยู่แต่ลมหายใจ ในระหว่างกระบวนการนี้ ไม่ว่าคิดเรื่องอะไรขึ้นมา ให้ดีดทิ้งให้เร็ว 


จงฝึก “รู้สึก” จงฝึก “กระตุ้น” ให้รู้สึกอย่างอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย การปฏิบัตธรรมนั้น ไม่ใช่ว่า ให้ทำอยู่อย่างเดียว มันจะมีโจทย์มานับ 10 ข้อ ในเวลาเดียวกัน(ในตอนแรก) ให้ท่านลงลุยให้หมด อย่าหนี กระโจนลงไปที่จะเดือดร้อน ที่ไหนที่จะทำท่านทุกข์ จงวิ่งเข้าใส่ เกลียดขี้หน้าคนไหนจงไปใกล้คนนั้น เจอให้บ่อย สู้ให้หนัก อย่ากลัวที่จะแพ้ นักชกที่ดีส่วนใหญ่จะแพ้มาก่อน จากนั้นให้มองหาจุดอ่อนตัวเอง แล้วแก้ตรงนั้น ให้ท่านสู้ทุกสนาม แต่ให้แก้ไขตัวเองทีละจุดๆ


สำหรับผู้เริ่มต้น ให้แบ่งเวลาในหนึ่งวันให้สมดุล คือ ฝึกคนเดียว(เข้ารูปแบบ เดินจงกรม ฯลฯ) และ ลงสนามจริง(หาเรื่องเดือดร้อนเข้าตัว หรือ แส่หาเรื่อง) แต่ถ้ามีเวลาจริงๆ ให้อัดแบบเข้ารูปแบบ เพราะท่านจะรู้มันชัด และเร็วกว่า เมื่อท่านทำได้ ท่านจะไปเร็วมาก


เมื่อท่านทำบ่อยๆ ความรู้สึกที่ลมหายใจ จะค่อยๆลดลง (แต่ยังรู้สึกอยู่) แต่ท่านจะรู้สึกตัว ที่อวัยวะส่วนอื่นๆด้วย และมันจะเป็นธรรมชาติ มากขึ้นเรื่อยๆ 


แต่อย่าไปรู้ ที่การรู้สึก “ตัว” มากไป (มันจะกลายเป็นเพ่ง) 
เพราะเมื่อท่าน “เริ่มทัน” ความคิด ให้ท่านโยก มาดูที่ “ความคิด” อย่างเดียว แล้วใช้ การรู้สึกตัว เป็นตัว “กระชาก” กลับมารู้สึกตัว (หมุนแกน) แต่คราวนี้ไม่ต้องสนใจ การรู้สึกที่ “ตัว” มากแล้ว เพียงใช้มันเป็นตัว ดึงกลับเมื่อคิดเท่านั้น






หลังจากนี้ จะพาท่านบินสูงขึ้น


หลังจากที่ท่าน เท่าทันทุกความคิดแล้ว คิดแล้วรู้ทันที แทบจะพร้อมกันในเวลาเดียวกัน “ให้พลิกกลับ” คือไม่เน้นดูความคิด และไม่เน้นดูความรู้สึกตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ให้รู้ “แบบกลางๆ” อธิบายยากซักหน่อย คือ “รู้แบบไม่เข้าไปในอันใดอันหนึ่ง” “รู้ทั้งคู่” 


อธิบายยากจริงๆ ถ้าสภาวะของคนคนนั้นยังไม่เกิด จะไม่สามารถ เข้าใจตรงนี้ได้ นอกจากเดาเอาเอง หรือ อนุมานเอาเอง


มันคือ การที่ท่านรู้ “ความคิดด้วยความรู้สึก และรู้สิ่งนอกตัวทั้งหมดด้วยประสาทรับรู้ทั้งหมด” รู้พร้อมๆกัน รู้แต่ไม่เข้ากระทำ รู้เฉยๆ รู้ปล่อย รู้ปล่อย อย่างต่อเนื่อง “รู้ในรู้นอก” 




จากนั้นให้ “ข้ามความคิด” 


ตรงนี้ค่อนข้างเป็น abstract ซักหน่อย เมื่อ มันทัน ความคิดจริงๆ แล้ว ให้ข้ามความคิด ไม่สน ที่ตัวคิด แต่ให้ กระโดดข้าม “ไปดู” “ไปเห็น” “อาการ” ที่เกิดพร้อมความคิดแทน เมื่อท่านเห็นตรงนี้ ความคิดของท่า่น แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย ทำอะไร ท่านแทบไม่ได้เลย มันเป็นเพียง “วัตถุ” บางอย่าง เหมือน ใบไม้ ก้อนหิน ไม่มีอะไรสำคัญ มากกว่า น้อยกว่า ที่จะต้องสนใจดูอีกแล้ว ให้ดูสิ่งเหล่านั้น ดูไปเรื่อยๆ เห็นเข้าใจ สัมผัสมันทุกเมื่อ




ท่านจะเห็นว่าเมื่อท่านเดินทางมาถูกต้อง หมายถึงวิธีที่ท่านใช้ มันได้ผลจริง บรรเทาทุกข์ได้จริง โลภ โกรธ หลง ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด มันจะเป็นเหตุ เป็นผล ในตัวมันเองทั้งหมด ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น 


ธรรม นั้นคือ ของจริง ที่พิสูจน์ได้จริง และคนที่จะพิสูจน์มันได้ จะต้องเป็นคนจริงด้วยเช่นกัน


ในทัศนะของข้าพเจ้านั้น ธรรม จะต้องเรียนจากตัวเองเท่านั้น มิใช่เรียนจากตำรา และมันสำคัญมากเช่นกันที่ท่านควรเรียนให้ถูกตัว


แต่การที่จะไปบอกกับคนที่พึ่งเริ่มต้น เสียทุกอย่างนั้นว่าทำไปทำไม เค้าคนนั้นจะยังไม่เข้าใจ จนกว่าสภาวะทางจิตใจของเค้าจะเกิดขึ้นและรู้ได้ด้วยตัวเองเสียก่อน เมื่อนั้นเค้าจะเข้าใจเองว่า ครูของเค้า พยายามจะบอกอะไร นั่นคือ ความยากของการสอนธรรม






ขอวันนี้ของท่านสวยงามต่อไป 


จากคุณ : koknam - [ 30 ม.ค. 49 23:32:56 ]




คุณ koknam ฝากไว้เตือนสติ


เปิดใจ ต่อเว็บพันทิพห้องศาสนา จากอัตตา


ข้าพเจ้าเป็นเพียงคนธรรมดาที่เข้ามาใช้สถานที่นี่ เพื่อจุดประสงค์บางอย่างซึ่งค่อนข้างเฉพาะแตกต่างจากคนทั่วไป จึงขอให้ท่านทั้งหลายที่เข้ามาอ่านทราบว่า มุมมองของข้าพเจ้าอันออกมาจากอัตตาเต็มๆนี้ เป็นไปภายใต้กรอบของจุดประสงค์บางอย่างนี้เท่านั้น


สมัยที่ข้าพเจ้าเข้ามาที่นี่ใหม่ๆ ตอนนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า ตัวเองเป็นโสดาบัน เมื่อเข้ามาก็อยากจะหาคนสอนให้ตัวเองก้าวหน้ามากขึ้น ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักว่า อะไรคือเว็บบอร์ด ไม่รู้จักกระทู้ เมื่อเข้ามาได้สองสามครั้ง ก็สงสัยว่านี่มันห้องศาสนาไม่ใช่หรือ คนพวกนี้คุย ถามอะไรกัน ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องชีวิตจิตใจอะไรเลย คุยกันแต่ข้อความในตำรา ถกเถียงโต้แย้งเอาเป็นเอาตาย ชี้ขาดเอาแพ้ชนะ มีพรรคพวก มีกลุ่มคนที่เป็นอริต่อกัน และมักจะเห็นคนถูกด่าเหน็บแนมเสมอ


ผ่านมา 3 ปี ทุกอย่างก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


บุคคลที่ศึกษาศาสนา ปรัชญา พูดเรื่องพระ เรื่องเจ้า ทำบุญ สวดมนต์ เข้าวัดวา ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าในสมัยก่อน และข้าพเจ้าเข้าใจว่า ตามความเข้าใจของคนทั่วไปในสมัยนี้ น่าจะหมายถึง คนที่มีจิตใจสูงกว่าคนธรรมดา


แต่พันทิพห้องศาสนา สอน หรือ แสดง ให้ข้าพเจ้าเห็นว่า ศาสนาไม่ใช่ สิ่งค้ำจุนจิตใจคน หรือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตามที่เรียนมาจากวิชาจริยธรรมสมัยมัธยม คนที่นี่กำลังเอาคำว่า ศาสนา มาอ้าง เพื่อตอบสนองอะไรบางอย่างให้สอดคล้องกับความคิด ความเชื่อของตัวเองต่างหาก


คนที่เป็นอริยะนั้น เพราะ ธรรม มันเปลี่ยนจิตใจของเค้า หรือว่า เค้าเปลี่ยน ธรรม ให้มาเข้ากับใจตน


ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่ขลุกอยู่กับที่นี่มานาน ลองสำรวจตัวเองดูเถิดว่า ท่านเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนที่จะเข้ามาร่วมระบายสีลงบนผ้าใบ ยี่ห้อพันทิพ หรือไม่ ใจของท่านกระด้างกระเดื่องมากขึ้น หรืออ่อนโยนลงกัน


ท่านกลายเป็นผู้ที่ไม่ยอมลงให้ผู้ใด กลายเป็นผู้ที่ต้องการเห็นทุกอย่างเป็นอย่างใจตนไปแล้วหรือเปล่า หลายๆคนที่นี่มักจะพยายามบอกออกมาโดยผ่านตัวหนังสือว่า “ข้ารู้อะไร ใครที่รู้เห็นเข้าใจไม่ตรงกับข้าสหายของข้า ผู้นั้นผิดหมด”


เมื่อท่านตั้งกระทู้ ตอบกระทู้ ใจของท่านพะว้าพะวงหรือไม่ ว่าใครจะมาตอบ จะมาแสดงความเห็นขัดแย้งชื่นชมอย่างไรต่อข้อความของท่าน ใจท่านยึดติดผูกพัน แม้ยามนอนยามกิน จำนวนตัวเลขท้ายกระทู้ก็หลอกหลอนคาดคะเนหรือเปล่า


เมื่อท่านเห็นใครถามคำถาม ที่ท่านพอจะช่วยได้ ท่านตอบออกไปด้วยใจที่หวังดี จริงแท้หรือไม่ หรือนั้นเป็นเพียงการกระทบกระเทียบเย้ยหยันกบในกะลาหัวอ่อน


เมื่อท่านเห็นใครเริ่มผิดพลาด แม้เป็นคนที่ท่านหมายหัวเหม็นขี้หน้า เท้าของท่านพร้อมจะเหยียบทับลงไป พร้อมกับความสมน้ำหน้า ท่านรู้สึกดีเมื่อได้ฟาดหัวอริด้วยคำพูดแสบสันแทงใจ ปรีดาพองโตเมื่อหมอนั้นหมดทางโต้สยบเงียบ






สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องตอบเลย มันแสดงตัวผ่านจิตวิญญาณของเว็บพันทิพห้องศาสนามาตลอดตราบเท่าที่ข้าพเจ้ารู้จัก ขอเพียงคนเดียวใครก็ได้บอกข้าพเจ้าออกมาทีว่า มันมีในพระคำภีร์ว่า สภาวะจิตใจอย่างนี้ จะเกิดกับผู้ที่เข้าถึงธรรม หรือเป็นผู้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างตรงทาง ข้าพเจ้าจะปัสสาวะใส่พระไตรปิฎก แล้วหันหลังให้พุทธศาสนาทันที






ในช่วงวัยรุ่นต้นๆ คุณพ่อของข้าพเจ้ามักกล่าวติดตลกให้ฟังเล่นๆว่า “ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะซวยเท่ากับการเกิดเป็นคนไทยอีกแล้ว” ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่ได้คิดอะไรมาก แต่มาวันนี้คำพูดนี้ชักจะไม่ตลกเสียแล้ว ดูแล้วมันเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง คนไทยนั้นเก่ง แต่ก็โง่พอๆกับความเก่งที่มี


เรามักพูดว่า เราโชคดีที่มีพ่ออยู่หัวที่แสนประเสริฐ แต่เป็นความซวยของท่านที่ได้เหล่าประชาชนที่ตีกันเองอย่างนี้ พวกท่านไม่รู้สึกอะไรเลยจริงๆหรือ หรือว่าจิตสำนึกเกิดแว็บๆเวลาดูโฆษณา แล้วก็ลืมเลือนไป


สีขาวเป็นแถบหนึ่งของธงไตรรงค์ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิดมันหมายถึงศาสนามิใช่หรือ แต่รากฐานทางความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ต่อศาสนา กลับมิได้แสดงออกถึงความเป็นหนึ่งในสามสีนั้นเลย ขนาดคนที่ทำตัวเป็นผู้ศึกษาศาสนา ที่วนเวียนไปมาหาสู่ที่นี่ ยังมีจิตใจที่ระดับตรงนี้ คงไม่ต้องพูดถึงการถ่ายทอดสู่ เน็กเจเนอเรชั่น เลย ใครจะไปอยากเอาอย่างกัน ยิ่งศึกษาจิตใจยิ่งหันกลับ จะทำบุญสร้างวัดให้รกแผ่นดินอีกหรือ ในเมื่อมีแต่จำนวน แต่การสอนวิธียกระดับจิตใจไม่ได้ทวีตามจำนวนวัดด้วย ตัวเองยังยกระดับจิตใจตัวเองไม่ได้ จะเอาอะไรไปสอนคนอื่นได้ เมื่อมีคำสอนใดที่ดูเหมือนจะเข้าท่า เราก็พึงพอใจที่ได้ฟัง สุดท้ายเราก็ลืมและมิได้นำไปใช้


ถ้าท่านต้องการเป็นครูของคนบนถนนสายนี้ สิ่งที่ท่านจะต้องแสดงให้เห็นคือ สภาวะจิตของท่านที่เข้าทะลวงจิตใจตัวเองก่อน มิใช้คำพูดคำคมไร้น้ำหนักที่เข้าทะลวงใจคนอื่น


ถ้าธรรมเป็นการถ่ายทอดโดยตรงจากใจสู่ใจ ตามที่เซนว่าไว้ คงไม่ผิดเพี้ยนเลย ใจที่หยาบได้ถ่ายทอดสู่ใจที่หยาบให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ณ ที่นี่อย่างชัดเจน คนที่แสดงตัวเหมือนจะเป็นผู้รู้ ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเลยว่า ใจของเค้านั้นเข้าถึงความรู้ของเค้านั้นด้วย


ท่านอาจต่อต้านลัทธิต่างๆ ที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้อง และทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ท่านคิดนั้นถูก ผลสุดท้ายท่านอาจเป็นผู้ชนะ หรือไม่ก็อาจบาดเจ็บทั้งคู่ แต่ท่านได้หลงลืมไปแล้วว่า ผู้ที่มีใจสูงนั้น เป็นผู้ที่ข้ามพ้นความถูกผิด ดีชั่ว มิใช่หรือ


ปัญหาง่ายๆของท่านก็คือ ท่านแบกรับภาระใหญ่หลวงนัก เป็นภาระที่ท่านสร้างขึ้นเอง กำลังขาของท่านต้องแบกรับสิ่งที่ไม่มีตัวตนมานานแค่ไหนแล้ว ถ้าท่านยังไม่สามารถบังคับใจตนได้ในทุกทุกเรื่อง ท่านจะเอาอะไรไปบังคับใจคนอื่น ถุงบ้าๆหนักอึ้งนี่ไม่มีทางลงจากหลังท่านได้ ถ้าท่านไม่วางมันลงด้วยตัวเอง








อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าได้รู้จักคนหลายคนจากที่นี่ ซึ่งนับว่าไม่เลวนัก จงสังเกตตัวท่านและมิตรของท่านให้ดี มิตรของท่านมีจิตใจที่ระดับใด มันมีแนวโน้นที่เป็นไปได้มากว่า ท่านจะมีจิตใจที่ระดับเดียวกันนั้น คุณลักษณะอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ มันจะดึงดูดสิ่งที่คล้ายกันเข้ามา


ถ้าท่านไม่หวนลงมองจิตใจของท่านเองโดยเร็ว แล้วทวนกระแสทุกสิ่งที่เป็นท่านทั้งหมด ห้องศาสนานี้คงพินาศก่อน ทุกวันนี้มันก็พินาศอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านมองไม่ออกเอง ตามด้วยการล่มสลายของแผ่นดินที่ท่านอาศัย ยืน เดิน นั่ง นอน


ข้าพเจ้าไม่อาจจิตนาการได้เลยว่า มันต้องใช้ความกล้าหาญมากสักแค่ไหนนะ ที่ใครซักคนจะก้าวออกมายอมรับการกระทำของตัวเอง แล้วบอกว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอดนั้นผิดพลาดไปแล้ว ผมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าท่านขึ้นมาเหยียบบันไดขั้นนี้ได้ จะมีบันไดขั้นไหนที่ท่านก้าวข้ามไม่ได้อีก










วันนี้จะสวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับท่านเอง


จากคุณ : koknam - [ 6 พ.ย. 50 21:38:41 ]