โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

ปัญหาของการสอน

ผมได้ถามอาจารย์ผมว่า มีคนกี่มากน้อยที่เดินทางมาจนถึงระดับการเข้าใจเรื่อง ศีลปรมัตถ์ อันเป็นจุดครึ่งทางของการปฏิบัติ เค้าตอบว่า มีน้อยถ้าให้ประเมินจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สอนคนอื่น ผู้ที่มาจนถึงจุดนี้ในร้อยคน จะมีประมาณห้าคน

ผมเองแปลกใจกับคำตอบที่ได้อยู่มากเพราะแค่ครึ่งทางทำไมมีแค่ห้าเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมานึกถึงหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเข้าใจเรื่องศีล ผมไม่เคยแนะนำใครได้จนมาถึงจุดนี้เลยทั้งๆที่พูดมาโดยตลอด แม้แต่พระในวัดเมื่อขึ้นเทศน์สอนแนะนำการปฏิบัติ พวกเค้าจะไม่พูดเรื่องศีลชนิดนี้

ในช่วงที่เข้าใจเรื่องศีลปรมัตถ์ มันจะติดจินตญาณ ผมรู้เลยว่าความเข้าใจที่เกิดกับผมมันเลยระดับพระทั่วๆไปที่อยู่ในวัดไปแล้ว มันจะขาดความเคารพพระไม่เชื่อฟังพระอารมณ์มันยังกระด้างกระเดื่อง เพราะว่ามันรู้ดีกว่าพระ มันเก่งกว่าพระ ต่อมาผมถึงได้เข้าใจว่า มันไม่ใช่ความผิดของเค้า การที่เค้ารู้มาไม่ถึงตรงนี้ทำให้เค้าสอนของพวกนี้ไม่ได้ เค้ารู้แค่ไหนเค้าก็สอนได้แค่นั้น ถ้าใช้คำพูดแบบชาวบ้านเลยก็คือ เค้ามีปัญญาแค่นั้น

ปัญหาของคนที่เข้าใจธรรมอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่คนเราเข้าใจธรรมไม่เท่ากัน และเมื่อคนพวกนี้มีหน้าที่ที่จะต้องสอน จะสอนไม่เหมือนกันและตรงที่เป็นช่องว่างของความต่างระดับนี่เองที่จะทำให้ขัดแย้งกัน เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดตั้งใจอ่านนะครับ

สมมติว่า ผมอยู่ในระยะโสดาบัน คุณอยู่ในระยะสกิทาคามี เราสองคนไม่รู้จักกัน ผมไม่ทราบว่าคุณเป็นสกิทาคามี คุณไม่ทราบว่าผมเป็นโสดาบัน เมื่อเราพบกันเริ่มคุยกันถึงสภาวธรรมของตนเอง เมื่อเราเริ่มคุยกันเรื่องพื้นฐานการสนทนาจะราบรื่นไปเรื่อยๆ ต่อมาเมื่อเริ่มคุยกันในระดับที่ลึกขึ้น ผมจะเริ่มไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพูดและอธิบาย ผมจะเริ่มตั้งคำถามกับคุณพร้อมทั้งเริ่มโต้แย้ง สิ่งที่คุณพูดล้วนขัดแย้งต่อความเข้าใจของผม หรือขัดแย้งจากคำสอนของคนที่ผมเคารพศรัทธา ความไม่เชื่อถือจะเกิดตรงนี้

ในขณะเดียวกันคุณจะมองผมขาดทันทีว่า สภาวะระยะธรรมของผมยังอยู่แค่โสดาบัน เพราะคุณเคยมีอาการสงสัยเคลือบแคลงแบบนี้มาก่อน ฟังจากประสบการณ์ธรรมของผม ทัศนคติของผม คุณจะรู้ทันทีว่าผมอยู่ตรงไหน แต่คุณจะไม่พูดออกมาว่า นี่นายอยู่โสดาบันนะ ส่วนชั้นอยู่สกิทาคามีแล้ว

การพูดโกหกว่า ตนเองเข้าถึงสภาวะอริยบุคคลขั้นนั้นขั้นนี้ ต่อหน้าคนรู้จริงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะเนื้อหาที่พูดออกมาจะเป็นตัวชี้ชัดเองว่า ผู้พูดนำธรรมะระดับไหนออกมาแสดง ต่อให้ผมจำคำพูดของผู้รู้จริงมาพูดแต่เมื่อโดนซักเรื่องรายละเอียดกระบวนการขั้นตอนการเข้าไปรู้ หรือที่เรียกว่าปัญญาญาณ ถ้าไม่ผ่านมาจริงโดนยิงร่วงทุกราย ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่น่าตลกก็คือ มีแต่ผู้ที่อยู่เหนือคุณเท่านั้นที่อ่านคุณออก คุณไม่สามารถอ่านคนที่อยู่เหนือคุณออกได้เลย มันจะมีเพียงความสงสัยและไม่มีศรัทธาในตัวเค้าเท่านั้น

เมื่อผู้ที่มีระดับความเข้าใจต่อธรรมไม่เท่ากันคุยกัน ส่วนใหญ่บทสนทนาจะจบลงตรงนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะสนทนาต่อไป นอกเสียจากว่า ผมจะติดขัดปัญหาบางอย่างอยู่ ซึ่งปัญหานั้นผมได้ทดลองมาทุกวิธีแล้วก็ผ่านไม่ได้ จริงอยู่ผมสงสัยว่าคุณอธิบายอะไรให้ผมฟัง ผมไม่เชื่อ แต่ผมลองทำดูเพราะสิ่งที่ผมลองมาทั้งหมดมันไม่ได้ผล แล้วเมื่อผลของการทดลองทำตามคำแนะนำของคุณนั้นทำให้จิตใจผมเปลี่ยนสภาพ ผมจึงจะยอมรับว่า คนที่ผมคุยด้วยอยู่ในระดับที่สูงกว่าผม ซึ่งกว่าจะยอมทดลองทำตามบางคนเสียเวลาเป็นปีปี จึงพึ่งระลึกได้ว่าเคยมีคนพูดอย่างนี้ไว้ เป็นเราเองที่ฟังคำพูดนั้นไม่ออก

ในความจริงมีคนประเภทที่ทดลองทำจำนวนน้อยเมื่อเจอคนที่อยู่สูงกว่าตัวเอง คงจะห้าเปอร์เซ็นต์นั่นล่ะเพราะมันมองไม่ออกครับ ระดับโสดาบันนั้นยังติดทิฐิหรือเรียกว่าอีโก้ เค้าจะมองตัวเองว่าเจ๋งพอตัว เค้าจะไม่เชื่อฟังใครเลย นอกจากคนที่เค้าเคารพศรัทธาเท่านั้น สำหรับคนที่อยู่สูงแล้ว เค้าเพียงสอนและพูดเมื่อถูกถาม แต่ความคาดหวังว่าคุณจะทำตามเชื่อฟังหรือไม่นั้นไม่มีเลย เมื่อการสนทนาเริ่มติดขัดเค้าจะเริ่มเงียบและเดินจากไป

มันจะกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งมองว่า อีกฝ่ายถูกต้อนด้วยคำถามจนจนแต้ม เพราะไม่สามารถหาคำตอบอันเป็นที่พอใจมาให้ได้ ส่วนอีกฝ่ายมองว่า หาประโยชน์ในการสนทนาไม่ได้ มิสู้นิ่งเสียดีกว่า นี่คือสถานการณ์จริงที่เกิดในทุกวันนี้

บางคนอ่านบล็อกที่ผมเขียน เกิดความสนใจเดินเข้ามาบอกว่า ช่วยแนะนำผมด้วยครับ แต่เมื่อเราเริ่มสนทนากัน คำพูดที่ผมได้ยินทุกครั้งคือ “ตรงนี้ผมขอค้านครับ” “ตรงนี้ผมเห็นต่างออกไปครับ” “มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นนะครับ” “พระองค์นั้นไม่เห็นพูดอย่างนี้เลยครับ” ในเมื่อเค้าบอกเองว่า มีอะไรให้บอกให้เตือนได้เลย แต่เมื่อพูดแล้วเค้าก็ไม่ฟังเพราะมีเรื่องคัดค้านในหัวเต็มไปหมด คำพูดของเค้าที่ว่าให้ช่วยแนะนำผมหน่อย เตือนผมได้เลยก็เริ่มเลือนหายไปจากสมองผม

ผลสุดท้ายคือ เป็นการสนทนาที่เสียเวลาทั้งของผมและของเค้า ผมเองไม่มีหัวใจของโพธิสัตว์อวตาร ผมไม่สนใจการเผยแผ่ธรรมเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกหมู่มาก ผมมองทุกชีวิตเท่ากันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทุ่มเทสอนใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ นอกเสียจากคนคนนั้นอยู่ในระยะที่ต้องการคำแนะนำจริงๆ เค้าจนแต้มและเปิดรับ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมจะเดินเข้าไปหาเอง และไม่คาดหวังอะไรนอกจากเห็นเค้าผ่านปัญหาของเค้าได้

ผมยินดีจะทุ่มเทความสามารถที่ผมมีทั้งหมดสอนให้กับคนประเภทเดียวกัน และนั่นคือต้นกำเนิดของการเป็นศิษย์อาจารย์ มีชีวิตผูกพันกันด้วยมิตรภาพแห่งการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง ผมมองตัวเองว่า ชีวิตนี้ผมคงมีศิษย์ไม่กี่คน เพราะคนที่อัดจนกว่าจะสลบ สามารถทิ้งอนาคต การฝึกฝนตัวเองต้องมาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรในชีวิตนี้ ปัจจัยแรกที่ต้องปรากฏขึ้นเพื่อใช้พิจารณาตัดสินใจคือ การฝึก จะมีซักกี่คนกัน

เมื่อผมตัดสินใจเดินทางนี้ผมจะเดินให้สุด และเมื่อผมตัดสินใจสอนใคร หมอนั่นต้องมาสุดด้วย คงเป็นนิสัยส่วนตัวที่ไม่นิยมการทำอะไรครึ่งๆกลางๆ และตราบใดที่ผมยังไปได้ไม่สุด ผมไม่สนการตั้งตัวเป็นอาจารย์รับใครเป็นศิษย์

มีคนถามผมว่า กะเอาให้ชาตินี้เป็นอรหันต์เลยใช่ไหม ผมเองไม่ทราบจะตอบอย่างไร เพราะผมสนใจเรื่องอรหันต์น้อยมาก สิ่งที่ผมสนใจคือ การเข้าใจศาสตร์ศาสตร์หนึ่งอย่างแท้จริงและจบสิ้น ถ้าสิ่งนั่นถูกเรียกว่า อรหันต์ ใช่ผมจะฝึกเพื่อเป็นอรหันต์

บางคนบอกว่าฝึกไปไม่ให้ทุกข์ก็พอแล้ว แต่ผมไม่พอใจตราบใดที่ยังไม่ถึงที่สุดมันจะยังมีทุกข์อยู่ดี อยู่ที่ว่ามองเห็นความละเอียดของมันหรือเปล่า มันก็เหมือนกับคนที่เริ่มฝึกเพราะอยากจะเป็นโสดาบันนั่นล่ะครับ เมื่อคุณไปถึงจุดนั้นคุณจะพบว่า โสดาบันไม่เห็นวิเศษอะไรเท่าไหร่ ยังมีจุดอ่อนเยอะมาก จึงพยายามจะปิดจุดอ่อนนั้น มันก็อยากจะเป็นสกิทาคามีต่อไป เมื่อคุณเดินมาถึงสกิทาคามีมันก็ยังมีจุดอ่อนที่คุณรู้อยู่เต็มอกอยู่อีก ทีนี้จะไม่เกี่ยวกับการเป็นอริยบุคคลขั้นไหนๆแล้ว มันจะหาทางเอาชนะทุกข์อย่างเดียว พอมันเดินมาถึงอนาคามี มันก็ยังมีทุกข์ขั้นละเอียดอยู่อีก แล้วมันจะเหลืออะไรอีกล่ะ ถ้าตามตำราเป็นจริงว่ามีสี่ระดับ มันก็ต้องไปจนถึงระดับสุดท้ายเท่านั้น เพื่อให้ภารกิจมันสิ้นจบไป ไม่ให้มีอะไรค้างคาชีวิตอยู่อีก

มันจึงไม่ใช่เรื่องของการกระหายอยากจะเป็นอริยบุคคล แต่เป็นเรื่องของความยังไม่เพอเฟ็กท์ เพราะฉะนั้นถ้าคำถาม ถามว่าจะฝึกปฏิบัติธรรมไปทำไม จุดมุ่งหมายคืออะไร ผมจะตอบว่า แล้วมันเรื่องอะไรที่จะไม่ปฏิบัติ ถ้าระดับสูงสุดเรียกว่าอรหันต์ ผมจะฝึกเพื่อที่จะเป็นอรหันต์ ถ้ามันเรียกว่านิพพาน ผมจะเข้าให้ถึงนิพพาน ถ้ามันเรียกว่า เชือกขาด ผมจะฝึกจนกว่ามันจะขาด ถ้าเรียกว่าจืดทั้งตัว ผมจะฝึกจนกว่าจะจืดทั้งตัว

มันเป็นเรื่องจุดมุ่งหมายของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่จะทำอะไรซักอย่างเพื่อให้สามารถยอมรับตัวเองได้ เอาชนะตัวเองได้ นายทำสิ่งที่น้อยคนจะทำได้ การมีเงินมากๆ การทำงานดีดี การมีอำนาจ การมีวีรกรรมอันเป็นที่เล่าขานสืบไปอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากที่ทำได้แล้ว ผมสนใจและทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่าง อย่างธรรม ที่แม้แต่คนเก่งๆในสายงานด้านต่างๆจะพยายามเข้าถึงโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพันก็ยังทำไม่ได้ ผมสนใจอะไรที่โคตรยากแบบนี้


ขอให้วันนี้สวยงามต่อไปครับ

สอนน้อง

ไม่มีเรื่องจะอัพเดทครับ แต่เห็นตัวเคาว์เตอร์แล้วคงต้องเขียนอะไรลงไปบ้างเพราะคงมีคนเข้ามาเยี่ยมเสมอ
เอาเป็นวิธีสอนเด็กให้ฝึกรู้สึกตัวแล้วกันนะครับ ผมใช้วิธีอย่างนี้ครับและพบว่ามันได้ผล

ผมสอนเด็กคนหนึ่งให้เริ่มรู้สึกตัว ผมเริ่มตอนเค้าห้าขวบ ตอนนี้เค้าอายุเกือบจะหกขวบแล้วครับ
เด็กคนนี้ชอบผมมันจึงค่อนข้างง่าย ผมนั่งเล่นเกมส์คอมกับเค้า เล่นต่อสู้กับเค้า เล่นหุ่นยนต์กับเค้า เค้าก็เลยชอบผม

ผมเริ่มด้วยการให้เค้ายกมือสร้างจังหวะกับเดินจงกรม แต่เน้นนั่งมากกว่า ผมบอกว่าถ้านั่งยกมืออย่างนี้พี่จะเล่นด้วย เค้าจึงจำใจทำตาม ต่อมาเมื่อเค้าเริ่มร้องเรียกให้ผมเล่นด้วย ผมจะบอกก่อนเลยว่า มานั่งหลวงพ่อเทียนก่อนแล้วพี่จะเล่นด้วย เค้าก็จำใจทำเรื่อยมา เค้าก็จะทำได้ 2รอบบ้าง 3รอบบ้างในช่วงแรกๆ

ต่อมาผมเริ่มเพิ่มเงื่อนไขเพราะผมถือไพ่เหนือกว่า ถ้าไม่นั่งไม่ต้องมาเล่นด้วย ผมบอกว่าต่อไปเอาห้ารอบ เค้าก็จะต่อรองว่า อีกแล้วเหรอทำไมต้องนั่งด้วยเนี่ยไม่สนุกเลย น่าเบื่อมาก บางทีก็งอนผมบอกใจร้ายชอบบังคับ บางครั้งผมก็ยอมเค้าด้วยความทีเค้ายังเด็ก

ต่อมาผมบอกว่า 15 รอบ พอเค้านั่งจบผมบอกว่า คนเราต้องรู้จักให้มากกว่าคนที่เค้าร้องขอ ถ้าพี่ขอสิบห้าเธอต้องแถมให้เป็นสิบหกช่วงหลังผมชักได้ใจบอกเอา 20 รอบ เธอโตแล้วและต้องแถมให้สองรอบด้วย เค้าครางแล้วต่อรองว่า 19 แถมสามได้ไหม ผมทำท่าครุ่นคิดแล้วบอกว่าก็ได้

ในเวลาที่เค้ายกมือสร้างจังหวะเค้าจะหาว ผมก็บอกว่า ถ้าเรารู้สึกตัวไม่ชัดเราจะหาวนะ เธอหาวเพราะว่าเธอไม่ตั้งใจรู้สึกตัว
ผมจะคอยถามเค้าว่า รู้สึกตัวไหม รู้สึกยังไง เค้าจะตอบว่า รู้สึก ก็รู้สึกตัวไงละ เวลาที่เราไปข้างนอกด้วยกันผมจะให้เค้านั่งฝึกตลอดไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า เมืองทองธานี ร้านอาหาร โรงเรียน

มีวันนึงเรานั่งเล่นเกมด้วยกันผมเผลอทำคันบังคับหล่นจากมือไปโดนตัวเครื่องจนเกมมันค้าง เค้าพูดประโยคที่ทำให้ผมงงมากว่า "เห็นฤทธิ์ของความไม่รู้สึกตัวหรือยัง" ผมนึกในใจไอ้หมอนี่ใช้ได้แฮะ

และที่ทำให้ผมทึ่งมาก วันหนึ่งผมนั่งสร้างจังหวะอยู่ในห้อง เค้ามาเคาะห้องบอกว่าจะฝึกด้วย พาเพื่อนอายุประมาณหกขวบมาด้วยหนึ่งคน แล้วเริ่มสอนเพื่อนตัวเองต่อหน้าผม ว่านั่งยังไง หมอนี่พูดคำพูดผมแป๊ะๆเลย สอนเพื่อนว่า เคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุดอย่างนี้นะ แล้วสอนเพื่อนต่อไปว่า ถ้าทำไปแล้วหาวแสดงว่าไม่รู้สึกตัวนะ ผมอดยิ้มไม่ได้จริงๆ เด็กสองคนนั่งข้างหน้าผม กำลังพูดเรื่องความรู้สึกตัว ตอนหกขวบคำว่ารู้สึกตัวไม่เคยออกจากปากผมเลยมั้งนี่ และผมเห็นความแตกต่างชัดเจนคนนึงฝึกรู้สึกตัวมาอีกคนหนึ่งไม่เคย ลักษณะการนั่ง ความลอกแลก ความนิ่ง มันเห็นชัดมาก

ผมแกล้งถามเจ้าหมอนี่ว่า เห็นความคิดไหม เค้าบอกว่า เห็น ผมไม่แน่ใจจึงถามว่า ตะกี้คิดเรื่องอะไร เค้านิ่งเหมือนคิดอะไรซักอย่างแล้วเค้าตอบว่าคิดเรื่องที่ครูสอนที่โรงเรียน ผมจึงแกล้งถามต่อไปว่า คิดแล้วทำยังไงเพราะยังไม่เคยสอนไปถึงช่วงให้รู้จักความคิด คำตอบเค้าทำเอาผมตะลึง เค้าบอกว่า "ก็กลับมารู้สึกตัวไง" ผมยังไม่เคยบอกให้ทำอย่างนี้เลยหมอนี่รู้ได้ยังไงเนี่ย นี่มันคำพูดของเด็กหกขวบหรือ ผมกำลังสร้างตัวอะไรขึ้นมานี่


ลองเอาไปสอนลูกหลานดูครับ ยิ่งเด็กจะยิ่งสอนง่ายมากๆ เพียงต้องอดทนและมีเทคนิคหน่อยเท่านั้น

ขอให้วันนี้สวยงามต่อไปครับ