โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

ประวัติ Koknam



     ถึงท่าน นมสิการ และเพื่อนๆบางท่านถึง ท่านนมสิการ และเพื่อนๆบางท่าน
    ต้องตอบ ที่นี่เพราะมันเกิน 1000 ตัวอักษรไปเยอะ

    ข้าพเจ้า ขอเล่าย้อนหลัง เพื่อปูทางความเข้าใจให้ท่าน  ถ้าท่านๆ จะเล่าบ้าง คงจะดีไม่น้อย

    ข้่าำพเจ้า เริ่มสนใจ ธรรม จาการคิดเอาเองว่า นั่งสมาธิทำให้เรียนเก่ง เล่นหมากรุกเก่ง ฝึกเอาเองตามชอบใจ และชอบพลิกแพลงเอาเอง ลืมตาดีกว่า ไม่ท่องพุทธโธดีกว่า ลองไปเรื่อยๆหลายๆแบบ แล้วแต่จะเกิดไอเดีย แต่ข้าพเจ้าเริ่มสังเกตว่า การนั่งสมาธิไม่มีผลแต่อย่างใด กับการเล่นหมากรุก และช่วยให้เรียนเก่ง ตามที่คนส่วนใหญ่ชอบพูด แต่ก็พยายามทำเอาเองอยู่เรื่อยมา เพราะไม่รู้จักวิธีอื่น (ข้าพเจ้าเล่นหมากรุกไม่เก่งเลย แต่ชอบเล่นเพราะเป็นคนชอบคิด จินตนาการวางแผน และเล่นแพ้น้องเป็นประจำ จึงเจ็บใจมากเสมอ)

    วันหนึ่งบังเอิญได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อเทียน เป็นกราฟฟิคง่ายๆ อธิบายว่า คนเรามักคิดอยู่กับอดีต และปัจจุบัน เราควรถ่างปัจจุบันให้กว้างขึ้น ข้าพเจ้าเข้าใจอะไรบางอย่างตอนนั้น แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ด้วยความเอะใจนั้น เลยลองปฏิบัตตามรูปภาพในหนังสือ เคลื่อนมือไปมา นึกเอาเองว่ามันคงเป็นอย่างนี้ ละมั้ง ? ทำแล้วไม่มีผลอะไรเหมือนนั่งหลับตาทำสมาธิธรรมดา อ่านหนังสือควบคู่ไปด้วย ข้าพเจ้าแปลกใจในถ้อยคำตัวหนังสือ นั้นเขียนว่า เมื่อเจริญสติแบบนี้ไปซักระยะจะรู้ เวทนา สังขาร วิญญาณ ขึ้นมาเอง ข้าพเจ้านึกในใจ เป็นพระทำไมพูดจาโกหกอย่างนี้ แถมเขียนใส่หนังสือ ให้คนอ่านตั้งเยอะ ภาษาบาลีไม่เคยเรียน จะไปรู้ได้ไง แถมรู้ขึ้นมาเองอีก บ้ากันไปใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าพูดตรงๆกับท่านๆว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อ และเมื่อข้าพเจ้าไม่เชื่อ ข้าพเจ้าจึงลงมือพิสูจน์ อีกในใจหนึ่งก็คิดว่า เป็นพระไม่น่าโกหก อาจจะจริงก็ได้...มั้ง? และข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่า หลวงพ่อเทียนคือใคร

    หลังจากนั้นมีโอกาสได้ไปวัดสนามใน พระท่านสอนให้ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำอะไร ทำไปทำไม แต่ลองทำดู ทำแล้วสบายใจดี ไปนอนอยู่ 2 คืน หลังจากกลับจากวัดได้ 4-5 วัน จะไปชกกับคนในห้างสรรพสินค้า แค่เดินชนกัน ข้าพเจ้าแค้นมาก กลับมาบ้าน นั่งสงสัยตัวเองว่า ทำไมพึ่งกลับจากวัด ถึงมีอารมณ์ร้ายกาจอย่างนั้น ข้าพเจ้าเก็บตัวไม่ทำอะไรเลย  นั่งปฏิบัต อย่างที่ เรียนมาจากที่วัด จะเอาชนะความโกรธให้ได้ เพราะ ข้าพเจ้าไม่รู้จักวิธีอื่น เลยนั่งทำมันอยู่อย่างนั้นแหละ ข้าพเจ้าอายตัวเอง หลังจากทำติดต่อกันอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ในวันที่ 6 ข้าพเจ้า รู้รูปนาม รู้สมุทัย รู้สมมติ รู้ขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาเฉยๆ เข้าใจ สาเหตุของทุกข์ขึ้นมาทันที เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงคลายสงสัย ในคำสอนที่ว่า “จะรู้ขึ้นมาเอง” ของหลวงพ่อเทียน หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ ก็บินมาต่างประเทศ

    นั่นคือปฐมบทของข้าพเจ้า ของการเริ่มเดินทางสายนี้ หลังจากนั้นข้าพเจ้ายังทำติดต่อมาตลอด รู้เห็นเข้าใจ สัมผัส ตามที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ มันเป็นไปตามนั้นจริงๆ แต่มันจะเกิดผลตามนั้นจากการปฏิบัตอันถูกต้องตรงเท่านั้น

    แต่เนื่องจากนิสัยส่วนตัวของข้าพเจ้าชอบดัดแปลง พลิกแพลง ข้าพเจ้าจะฉีกตัวเองออกมาหาแนวทางใหม่่ๆอยู่เสมอ แต่มันไปได้ไม่ไกล ไม่นาน เพราะของจริงมันก็เป็นของจริง อยู่อย่างนั้นของมันวันยังค่ำ

    บัดนี้เวลาผ่านมา 1 ปี กับ 2 เดือน นับตั้งแต่ เริ่มฝึก ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ธรรม คืออะไร ใครพูด ธรรม หรือใครพูดไกลจาก ธรรม มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในสิ่งที่ รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ใดๆ คอยแนะนำ ตักเตือน และไม่สนใจ ต่อตำรา หรือความเห็นใดๆของบุคคล ที่ยกเอาตำรามาอ้างพุทธพจน์ สิ่งเหล่านั้นไม่มีความหมายใดๆ ต่อข้าพเจ้าทั้งสิ้น

    ข้าพเจ้ายินดีจะตายลงไปตรงนี้เลย ถ้า สิ่งที่ข้าพเจ้า รู้ และ สัมผัส อยู่นี่ เป็นคนละอัน กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ ไม่เสียดายชีวิตเลย ถ้ามันจะผิดไปจากนั้น

    ข้าพเจ้าจะตอบคำถามท่านล่ะนะ

    1. ข้าพเจ้าเผลอสติหรือไม่

    แน่นอน ยังเผลออยู่ แต่การเผลอนั้น ข้าพเจ้าไม่สนใจอีกแล้ว ว่ามันเผลอหรือไม่ เพราะข้าพเจ้ามีสติมากกว่าเผลอ ซึ่งการเผลอนี้เป็นสภาวะคนละแบบกับเมื่อครั้งก่อน ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า ผู้ที่ไม่มีการเผลอเลย คือคนที่ท่านเรียกกันว่า พระอรหันต์ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ใช่  (สติ ของข้าพเจ้า คือคำว่า รู้เนื้อรู้ตัวเสมอ หรือที่ท่านใช้คำว่า สัมปชัญญะ)

    2. เมื่อรู้สึกตัวแล้ว จะเป็นตัวนำไปสู่การเห็นธรรมอย่างไร

    คำถามนี้สำคัญมาก ท่านลองตรองถ้อยคำของข้าพเจ้าให้ดี  ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านมีทัศนคติ ต่อคำว่าเห็นธรรมเช่นไร ? ทัศนะในเรื่องนี้ของข้าพเจ้าคือ เห็นความจริงตามสภาวะที่มันเป็น และไม่พยายามไปเปลี่ยนมัน

    เราเห็นสภาวะนั้นได้อย่างไร ก็จากการรู้สึกตัวนั้นเอง เพราะมันไม่ได้รับรู้ได้ด้วยตา ท่านเข้าใจไหม พูดง่ายๆก็คือ การรู้สึกตัวกับการเห็นธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน คือรับรู้ผ่านกันและกัน และทัศนะนี้ของข้าพเจ้าอาจจะเปลี่ยนไปทันที ที่สภาวะอื่นที่ลึกซึ้งกว่านี้เกิดขึ้น (ท่านต้องเข้าใจว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ถึงที่สุด ข้าพเจ้ามีขอบเขตของการอธิบายได้เท่านี้)

    เห็นธรรมแบบที่ 1 คือเห็นแล้วรู้ แต่จิตใจของท่านยังไม่กลายเป็นสภาวะนั้น คือ มันเป็นการเห็น ที่แปลงสิ่งที่ตัวเองเห็นนั้น ไปเป็นความรู้ความจำที่อยู่ในหัว เอาไว้พูด เอาไว้เล่า ให้คนอื่นฟังเท่านั้น คือ มันไม่ใช่สภาวะที่สัมผัสได้จากความรู้สึกตัว (วิปัสสนู)

    เห็นธรรมแบบที่ 2 คือ จิตใจเปลี่ยนสภาวะ คือมันเห็น (รู้สึกถึง) การเคลื่อนการไหว การกระเพื่อมของความคิด ของเลือด ของชีพจร ของหัวใจ รู้สึกเปลือกตากดกระพริบ ลมหายใจ มือ ริมฝีปาก  ไม่ว่าท่านจะตั้งใจหรือไม่ มันจะรู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้น อยู่อย่างนั้น

    ซึ่งตรงนี้ จะไปเข้าใจตรงกับคำศัพท์ต่างๆในตำราเอง ยกตัวอย่าง เช่น อายตนะ คนส่วนใหญ่รู้แล้วจำไว้ในหัว ว่ามันมีอะไรบ้าง ทำให้เกิดอะไรบ้าง แล้วก็คิดเอาเองว่า เข้าใจแล้ว แต่ที่ข้าพเจ้าหมายถึงนี้คือ รู้แล้วมันซึม มันดูดซับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรู้สึกตัวทันที ไม่มีการลืม ไม่ต้องคิดเพื่อจะให้รู้ แต่มันรู้สึกถึงอายตนะทั้งหมดอยู่ตลอดเวลา นั้นคือ การรู้แบบรู้จริงๆ มันเป็นแล้วมันจึงรู้ได้

    เห็นธรรมแบบที่ 3 คือ เข้าใจกระบวนการการทำงานของความคิด รู้สึกอยู่อย่างนั้น เฝ้าดูแต่ไม่เข้ากระทำอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าท่านจะตั้งใจหรือไม่ และท่าน จะเข้าใจว่าทำไม ...เมื่อเป็นอย่างนี้ตัวเราจึงตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างนั้น มันค่อนข้างจะละเอียด ท่านจะเข้าใจว่าความคิดมาจากไหน เกิดจากอะไร อะไรทำให้ความคิดเกิดขึ้น จุดนี้ ความรู้สึกตัว (สติ) จะต้องไวเท่าทัน หรือไวใกล้ กับความคิดเสียก่อน และจากจุดนี้จะเริ่มเข้าใจว่านิพพานคืออะไร


    ข้าพเจ้าตอบท่านได้เพียงเท่านี้ เพราะข้าพเจ้ายังไม่ถึงที่สุด แต่มั่นใจว่าไม่ยากอีกแล้ว

    ทั้งหมดข้าพเจ้าไม่อาจรู้ได้ว่า ท่านเข้าใจได้เพียงใด เพราะคนที่รู้สิ่งเหล่านี้ จะรู้ผ่านการรู้สึก ซึ่งความรู้สึกตัวเป็นของส่วนบุคคล ให้ยืมลองใช้ ไม่ได้ ( เอ้าไหนเอาไปลองซัก 2 วัน เดี๋ยวค่อยเอามาคืนละกัน :)

    ท่านเป็นวิศวะกร หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่มีผลกับข้าพเจ้าทั้งนั้น แม้สายงานเราจะใกล้กัน (ข้าำพเจ้าเรียนมาทางสถาปัตย์) และข้าพเจ้าเข้าใจได้ในทันที ถึง การที่ท่านต้องการทราบ กระบวนการ ตรรกะ ความเป็นเหตุ เป็นผล เพื่อโน้มน้าวท่าน ให้เห็นจริง เพราะข้าพเจ้าเคยเป็นเช่นท่านมาก่อน เมื่อมองย้อนกลับไป สิ่งนั้นยังอยู่ในขอบเขตของ อัตตาอย่างหยาบ ด้วยซ้ำ

    ธรรมะ เป็นอะไรที่ท่านไม่อาจคิดเอาเอง เทียบเคียงเอาเอง เดาเอาเอง ไปอ่านมา ไปได้ยินมา เพราะมันเป็นเรื่องของสภาวะล้วนๆ และมันจะเกิดต่อเมื่อท่านทำอย่างถูกต้องเท่านั้น และรับรู้สิ่งที่เกิดนั้นผ่านการรู้สึกตัวที่ท่านมี

    และท่านกล่าวว่า อะไรที่อธิบายไม่ได้ ท่านจะไม่ยอมรับมันเลย ท่านต้องการคำอธิบายในเชิงคำพูดกระนั้นหรือ ถ้ามันง่ายอย่างนั้นในเว็บนี้ คงไม่มีคนทะเลาะกัน ใช่ไหมท่าน การอธิบายนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบจะอธิบายอย่างไร แต่สิ่งนี้ เป็นวิทยาศาสตร์แน่นอนที่สุด เพราะเมื่อทำอย่างนี้ จะได้ผลอย่างนี้ เมื่อท่านผสมสีแดงกับสีเหลือง ท่านได้สีอะไรล่ะท่าน ท่านมาถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยผสมแล้ว ก็บอกว่า ก็ได้สีส้มนะสิ แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อท่านไม่รู้ว่าสีส้มมันเป็นยังไง ท่านต้องไปหาสีแดงมา ไปหาสีเหลืองมา มาผสมให้เห็นจะจะตาเอาเอง ท่านเข้าใจไหม และมันเป็นไปไม่ได้ ที่ท่านจะได้สีอื่น นอกจากท่านจะไม่รู้อีกเสียด้วยว่า สีแดงเป็นไงและสีเหลืองเป็นไง ท่านก็ไปส่งเดชเอาสีอื่นมาผสมกัน เหมือนคนทั่วๆ ไปที่ ทุ่มเถียงกันอยู่ เพราะเค้าไม่รู้อย่างแท้จริงนั่นเอง

    และนี่เอง ทีี่่เป็นเหตุผลสำคัญ ว่าทำไมคนเราเข้าใจธรรมได้ ช้าเร็วต่างกัน ในคำสอนเดียวกันนั้น เราตีความคำสอนนั่นแตกต่างกันไป และที่ลึกกว่านั้น แม้ท่านจะเข้าใจถูกต้องแล้ว เมื่อท่านนำมันไปปฏิบัต มันก็ยังยากพอสมควร ที่จะทำตัวสภาวะนั้นให้ตรงกับที่คนคนนั้นสอนจริงๆ

    ข้าพเจ้าปฏิบัตตามหลวงพ่อเทียนก็จริง แต่มิได้มีอคติกับแนวทางอื่นๆ เพราะข้าพเจ้าเข้าใจแก่นของการปฏิบัตสู่การดับทุกข์แล้ว ไม่ว่าท่านจะใช้วิธีใดก็ตามในการปฏิบัต ท่านควรรู้สึกถึงการเคลื่อน การไหวของท่านอยู่เสมอ ไม่ว่าอะไรก็ตามในตัวท่านมันจะไหว มันจะเปลี่ยนแปลง

    ข้าพเจ้าไม่สนใจศึกษาปรัชญา เพราะในมุมมองของข้าพเจ้า ถ้ามันเป็นเพียงความรู้ที่จะสถิตย์อยู่ในสมอง รอจังหวะที่เอาออกมาใช้ มันยังไม่มีค่าพอ ข้าพเจ้าสนใจตัวสภาวะ ค้นคว้า หาทางกับเรื่องนี้ และด้วยสิ่งนี้ข้าพเจ้าใช้มันได้ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องการ และด้วยการทำอย่างนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจแทบจะทุกคำพูดเชิงปรัชญาที่ข้าพเจ้าเคยผ่านตามาบ้าง เข้าใจในที่นี่ไม่ใช่ทราบซึ้ง ตรึงใจ จำได้ นำไปพูดต่อ แต่เข้าใจเชิงว่า ทำไมคนในอดีตถึงกล่าวคำพูดแบบนั้นออกมา

    ข้าพเจ้าขอบคุณท่าน ที่ถามคำถามเหล่านี้เพื่อตัวท่านเอง

    ขอวันนี้ของท่านสวยงามต่อไป
                 ข้าพเจ้า

    ปล. ท่านเข้าใจประโยคนี้ไหม “ ผู้ที่รู้ที่สุดจะบอกว่า เค้าไม่รู้อะไรเลย ”
    จากคุณ : koknam  - [ 28 ต.ค. 48 16:05:41 ]