“รู้” อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
เมื่อท่านทำความรู้สึกตัว มาจนถึงระดับหนึ่ง ท่านจะเห็นทุกอย่าง ในตัวท่าน เกิดขึ้นจบไป ไม่มีที่สิ้นสุด
ตรงนั้นคือสภาวะที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์”
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ มันเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติของมัน มันเป็น “ทุกขัง อนิจจัง อนันตา” ไม่ว่าท่านจะรู้มันหรือไม่ มันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ท่าน ถือกำเนิดมาแล้ว
“ทุกขัง” คือ มันติดกับชีวิตท่าน ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นทั้งหมด บนร่างกาย และจิตใจท่านนั่น มันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
ด้วยการเห็นตรงนี้ ท่านจะเข้าใจว่าทำไมจึงมีคำกล่าวว่า “ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์”
“อนิจจัง” คือ ไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง
“อนัตตา” คือ บังคับไม่ได้ ท่านบังคับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
เพราะความคิดความอยากที่จะบังคับมัน ก็เป็นไตรลักษณ์ด้วย
ถ้าท่านพยายามจะบังคับมัน ให้นิ่ง ให้สงบ หรือไปในทางที่ท่านต้องการ
ท่านจะมีอาการทุกข์ซ้อนทุกข์ แต่ท่านอาจไม่รู้ หลงไปเข้าใจว่า การไปทำให้มันนิ่ง ไปทำให้มันเป็นอย่างที่ท่านเคยรู้มา คือทางไปซึ่งจากทุกข์
ข้าพเจ้าเคยพลาดมาแล้ว อย่าเสียเวลาอย่างข้าพเจ้าเลย ถ้าท่านผ่านมันมา แล้วมองกลับ ท่านจะเข้าใจข้อความนี้
ท่านควบคุมอะไรไม่ได้ และไม่ควรทำด้วย ท่านเพียงแต่ ควรเข้าใจมัน เมื่อไหร่ที่ท่านเข้ากระทำ มันจะไปขัด ทางที่ท่านจะไปต่อทันที ท่านควรแค่รู้สึกถึงมันเท่านั้น เมื่อท่านผ่านสภาวะนั้น ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าท่านจะเป็นเช่นไร แต่ตอนที่ข้าพเจ้าผ่านมา ใจมันยอมรับ ใจมันไม่ยึดติดต่อทุกสิ่ง อาจจะยังมี แต่ลดลงไปมากแล้ว
ถ้าท่านตรอง สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ข้างบนดีๆ ท่านจะเห็นว่า มันเป็นสิ่งเดียวกัน “ทุกขัง อนิจจัง อนัตา” มันติดกันอยู่นั่นเอง เป็นสิ่งๆเดียวกันหมด แต่การอธิบายด้วยภาษา ไปเรียกมันด้วยชื่อ แยกมันออกมา ตีความไปเรื่อยเปื่อย หลายๆคนที่น่าจะเข้าใจได้ จึงไม่เข้าใจ ไตรลักษณ์อย่างแท้จริง คิดไปแต่เรื่องนอกตัว มันก็ถูกอยู่ แต่ใช้แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้
ไตรลักษณ์ ที่แท้จริง จะต้อง สัมผัส หรือ รู้ หรือจะเรียกอะไรก็ตาม ด้วย “ความรู้สึก” มิใช่ด้วยการคิดนึกเอา
“การพิจารณาไตรลักษณ์” คืออะไร
มันคือการที่ท่าน แค่ “ดู” ถ้าให้ดีกว่า คือ แค่ “เห็น” เห็น สิ่งเหล่านี้ เห็นทั้งหมด เห็นรวมๆ แต่ไม่ต้องไปบอกตัวเองว่าเห็นอะไร ใช้ความรู้สึกตัวเป็นการถ่ายทอด สิ่งที่เห็น โดยไม่ต้องผ่านสมอง เห็นมันตลอดเวลา ทุกวินาที
ท่านเห็นมันเพื่ออะไร มันจะเป็นสะพานเชื่อมท่านไปสู่ การเข้าใจบางอย่าง ที่เกิดกับข้าพเจ้าแล้ว คือ “วาง” มันจะวาง จิตใจมันยอมรับ ไม่ใช่ไป “คิด” ให้ยอมรับนะท่าน มันยอมเอง มันสยบตัวเอง มันยอมเพราะ เราทำอะไรไม่ได้เลย มันเป็นธรรมชาติที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อท่านผ่านจุดนี้มา โทสะ โมหะ โลภะ จะมีผลกับท่านน้อยมาก คือ ยังเกิดอยู่ แต่ ใจไม่สน สมมติ ว่ามีใครทำให้ท่านโกรธ ท่านจะไม่พุ่งเป้าไปที่บุคคลนั้น แต่ท่านจะกลับมาจัดการกับตัวเอง มันเป็นอย่างนั้น และอาการโกรธนั้นจะดำรงอยู่ไม่นาน
“จะทิ้งสติ” อย่างไร
ข้าพเจ้าตอบจากประสบการณ์ตัวเอง คนอื่นอาจมีวิธีที่ดีกว่านี้นะท่าน ขออ่านอย่างระวัง
สติที่ข้าพเจ้า แนะนำให้ท่านทิ้งนี้หมายถึง สติ ที่แฝงตัวมาในรูปของ “สมถะ” มันจะเป็นตัว “สั่ง” ท่านจากระดับจิตใต้สำนึก ว่า “ให้ปฏิบัตอย่างนี้ อย่างนี้” เพื่อให้มีสภาวะบางอย่าง ที่ท่านเคยประสบมาแล้ว หรือ คิดเอาเองว่ามัน “น่าจะเป็นอย่างนั้น” เมื่อท่านไปถึงสภาวะที่คาดนั้นไม่ได้ มันจะสั่งท่านให้เปลี่ยนรูปแบบของการปฏิบัติ พลิกเปลี่ยนไปๆมาๆ กลับไปกลับมา ถ้าท่านยังไม่ผ่านมันมา ท่านจะไม่เข้าใจ ว่ามันเป็นตัวแสบจริงๆ สุดท้ายท่านมิได้ ไปไหนเลยย่ำอยู่กับที่นั่นเอง
ท่านต้องเข้าใจว่า แม้รูปแบบที่ครูบาอาจารย์ แนะนำนั้น เราจะเรียกมันว่า วิปัสสนา แต่ ในทางปฏิบัต สมถะ จะเกิดซ้อนอยู่เสมอ ถ้าท่านไม่รู้ถึงมัน
( ให้ท่านสังเกตว่า สมถะ จะมีลักษณะเป็น “โฟกัส”
แต่ วิปัสนา มีลักษณะเป็น “การกระจาย” แต่ถ้าท่านไปพยายามทำให้มันกระจาย ท่านจะล่วงลงไปที่ สมถะ ทันที เพราะไปโฟกัส ที่การกระจาย )
การที่จะทิ้งสติตัวนี้ได้นั้น ท่านต้องตกลงไปในวังวน ของการถูกสติชนิดนี้สั่งการเสียก่อน เห็นผลของมัน เข้าใจมัน ผนวกกับ ขั้นตอนต่างๆ ความรู้ต่างๆ ความผิดพลาดต่างๆ ที่ท่านฝึก หรือ เผชิญ มาอย่างต่อเนื่อง และ อย่างดี หมายถึงฐานท่านจะต้องแน่นเสียก่อน (อันนี้มิได้หมายถึงเวลาที่ฝึกมานานเป็นปีๆ แต่อย่างใด มันขึ้นอยู่กับ การต่อเนื่อง ต่อจริงๆ ในทุกเสี้ยววินาที ให้ต่อกัน และเห็นสิ่งเหล่านี้ เข้าใจมัน และตระหนักรู้ ถึงความเป็นทาสตัวเอง ) ข้าพเจ้าเป็นแบบนี้ คนอื่นอาจเป็นอย่างอื่น
เมื่อถึงจุดตระหนักรู้นั้น สติตัวนี้จะถูกคลายตัวไปเอง ต่อมาเมื่อ สติ ตัวนี้เกิดขึ้นอีก จิตสำนึก จะสั่งให้ “ทิ้ง” หรือ “คลายตัวออก” ทันที รวดเร็ว แม่นยำ และ ไม่ไว้ไมตรี
ผลที่ตามมาคือ “การหลุดออกอีกขั้นหนึ่ง ของการเป็นทาสแห่งอัตตา” ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า จะมีกี่ท่าน ที่เข้าใจได้ แต่นั่นไม่สำคัญเลย เมื่อมันถึงเวลา มันจะเป็นเอง ข้อความเหล่านี้ช่วยท่าน ย่นระยะเวลาให้สั่นลงเท่านั้น มิได้มีค่าอะไร
“มิจฉาทิฐิขั้นสุดยอด”
(อาจใช้คำพูดไม่เหมาะสมนัก) มันคือการที่ ท่านมิได้มีสภาวะทางจิตใจ เกิดขึ้นจริงๆ รองรับการเข้าใจนั้นๆ แต่เป็นการคิดนึกเอาเองว่า มันคงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือคิดเอาเอง จำมา แล้วคิดว่ารู้แล้ว ความรู้นั้นอาจจะถูก (คือถูกแบบบัญญัต แต่ไม่ใช่ถูกแบบปรมัต)
เมื่อยังไม่มีสภาวะรองรับ จิตจะไปติดอยู่ที่ความรู้นั้นๆ อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่มาก ในการปฏิบัต เพราะว่า ความรู้อันนี้จะบงการชักใย อยู่เบื้องหลัง ให้ท่านมุ่งไปในสิ่งที่ท่าน เชื่อหรือคิด ว่ามันจะเป็น ท่านจึงเข้าสู่การเข้าใจไตรลักษณ์ ไม่ได้ เพราะถูกความรู้อันนี้ขวางเอาไว้ ทางเดินจริงๆมันก็แค่ตรงไป แต่เราไปพยายามเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอยู่เอง
เมื่อท่านผ่านสิ่งข้างบนทั้งหมดมาได้ ความรู้ทั้งหมดตั้งแต่ “โสดาบัน” หรือจะเรียกอะไรก็ตาม จะถูกลบทิ้ง แบบไม่แยแส (ข้าพเจ้าไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร เพราะเรียนมาน้อย จึงใช้คำนี้ ให้หลายๆคนหมั่นไส้เสมอ)
เพราะเมื่อถึงระดับนี้แล้วจะเข้าใจว่า ความรู้ไม่ว่าจะเป็นรู้จำ รู้จัก มาจากแหล่งความรู้อื่นๆ หรือแม้กระทั้ง ความรู้แจ้ง ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีใครสอนสั่งนั้น ช่วยอะไรไม่ได้เลย มันเพียง ส่งเรามาถึงจุดนี้ และหมดหน้าที่ของมันแล้ว
ความรู้ “ทั้งหมด” จะประมวลสั้นลง เมื่อทุกข์เกิดมันจะเข้าใจในชั่วเสี้ยววินาที แล้วจัดการทุกข์นั้น อย่างเด็ดขาด ไม่ยั้งมือ
แต่ขอท่านเข้าใจว่า ระยะดังกล่าวทั้งหมด ด้านบน อันนี้ยังเป็นมรรคไม่ใช่ผล เพราะยังมีความพยายามจะขจัดทุกข์อยู่
การจัดการทุกข์นั้นมิใช่ไปฆ่ามัน จงใจทำลายมัน แต่รู้ถึงมันด้วยความเข้าใจแบบถึงแก่น ไม่ปฏิเสธในความเป็นทุกข์ แต่ด้วยการเข้าใจเหล่านี้มันก็ไม่ ยอมรับทุกข์เหมือนกัน มันเป็นกึ่งโจมตี กึ่งตั้งรับ นะท่าน
ขอท่านทั้งหลายจงรู้สึกตัวอยู่เสมอ ตามรู้ ความรู้สึกนึกคิดของท่านเองทุกฝีก้าว ทุกวินาที แล้วมันจะทันเข้า ทันเข้า และจะเข้าใจว่า หมอนี่เขียนอะไร
“วิธีอันถูกต้อง” ซึ่งถูกพิสูจน์แล้ว
ผู้ใดมีปัญญาระดับที่มองเห็นหัวใจ ของข้อความด้านล่างนี้ จงเร่งนำไปใช้ เพื่อตัวท่านเองเถิด
“การกระทำที่สมบรูณ์ ในสภาวะนั้นคือ การไม่เข้ากระทำใดๆเลย”
“เห็นทุกอย่าง อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรู้ว่าเห็นอะไร ให้ความเข้าใจที่ถูกประมวลสั้นลงแล้ว จัดการตัวมันเอง”
จงทิ้งทุกอย่าง จงทิ้งทุกสิ่ง แต่มิใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาจะทิ้งนะท่าน มันจะทิ้งเองเมื่อท่านกระตุ้นมันด้วยวิธีที่ถูกต้องและตรง ระวังให้ดี ถ้าท่านไม่ทิ้งท่านจะไปต่อไม่ได้
แต่จะทิ้งอย่างไรนั้น ท่านจะต้องเข้าไปเห็นตัวสภาวะทุกข์นั้นจริงๆ เสียก่อน สัมผัสกับมันอย่างใกล้ชิดติดตาม เมื่อเกิดการตระหนักรู้เมื่อไหร่ จากระดับจิตสำนึก มันจะทิ้งของมันเอง นี่คือธรรมชาติอันมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่มียกเว้น เพียงแต่จะใครจะรู้ เท่านั้นเอง
ถ้าข้อความเหล่านี้ทำให้บางคนเกือบกระอักเลือด มึนงง ชิงชัง ริษยา หนักอกหนักใจ เปรมปรี สว่าง เบา
ข้าพเจ้าขออภัยจากใจจริง ขอท่านเห็นเป็นเด็กน้อยมือบอน อวดรู้อวดดี อย่าหาความเลย เร่งรีบกลับไปดูที่ตัวท่านเถิด
ขอวันนี้ของท่านสวยงามต่อไป
คัดลอกมาจาก >>> http://72.14.203.104/search?q=cache:MSIwGrsoh18J:www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y4014391/Y4014391.html+koknam&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=14 <<<