โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

เทคนิคการฝึก .... secret technique

ในทัศนะของผม ธรรมะ ที่สอนกันอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าจัดตามลำดับอารมณ์กรรมฐานตามสายหลวงพ่อเทียน คือระดับที่อยู่ในระยะของ รูป นาม ระยะนี้สภาวะจะไปสุดตรง การเข้าสัมผัสความว่างของใจ และ ความเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ แต่จะไม่สามารถไปต่อจากจุดนี้ได้อีก ผมติดจุดนี้อยู่สี่ปี

ขั้นถัดมาจากรูปนาม คือการเข้าใจ เรื่องศีลปรมัตถ์ ถ้าเรียกตามตำราคือระยะสกิทาคามีตามความเข้าใจของผม และผมมีความเห็นจากการทบทวนตัวเอง เห็นความผิดพลาดหลายจุดหลายครั้งว่า การที่ใครซักคนจะเริ่มสอนหรือแนะนำ ธรรม ให้คนอื่น เค้าผู้นั้นควรจะผ่านการเข้าใจเรื่อง ศีลปรมัตถ์ ให้แจ่มแจ้งเสียก่อนเป็นอย่างน้อย มิฉะนั้นแล้วเราจะพาผู้ที่เดินตามเราไปตันตรงจุดที่เรากำลังหันหน้าหันหลังอยู่ หากแต่ผู้สอนจะไม่ทราบว่าทางนั้นไปต่อไม่ได้แล้ว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่า ลักษณะอย่างหนึ่งของผู้ที่ยังติดอยู่ในอารมณ์รูปนาม คือ ไม่สามารถผ่าน กาลามสูตรที่ว่า อย่าเชื่อโดยตรึกตรองตามอาการ คนเหล่านี้จะติดความคิดที่ละเอียดลงไปอีกขั้นหนึ่ง คือ เราใกล้จะถึงแล้วเราใกล้จะจบอีกไม่ไกลแล้ว เพราะสภาวะหลายๆอย่างมันแสดงตัวออกมาให้เห็นว่า นี่คือสิ่งวิเศษของมนุษย์ บวกกับการตีความเอาตามความเห็นตัวเองต่อคำพูดคำคมต่างๆที่เคยได้ยินว่ามันลงตัวเปี๊ยบเลย ระยะนี้จึงเรียกได้เลยว่า พายเรืออยู่ในอ่าง แต่ไม่หยุดพาย เพราะอ่างมันใหญ่เกินไปที่จะรู้สังเกตว่ามันพายมาที่เดิม คราวใดที่ผมนึกถึงเรื่องพวกนี้ขึ้นมา ผมขำปนสมน้ำหน้าตัวเองและรู้สึกผิดต่อคำพูดคำสอนตัวเอง

ระยะรูปนามก็หมือนกับ เด็กที่เรียนชั้นมัธยมที่เก่งมากซักคน พวกเค้ารู้แจ้งเห็นจริง สิ่งที่พวกเค้าพูดไม่ผิดเลย เพียงแต่มันเก่งในระดับมัธยม เมื่อไหร่ที่เค้าคนนั้นก้าวข้ามมาสู่ระยะศีลปรมัตถ์ เค้าจะเหมือนกับการเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย เค้าจะสำเนียกเองทันทีว่า เรายังอยู่อีกไกลยิ่งนัก มีสิ่งอื่นๆให้ต้องรู้รอบจบครบอีกมหาศาลเลย จากรั้วแคบๆที่มองว่าประตูอยู่ตรงไหนใกล้ๆตัวนี่เอง จะกลายเป็นไม่มีรั้วอะไรอีกแล้ว มันกว้างเกินไป มีเพียงทางที่จะรู้ได้เองว่าต้องเดินไปทางนี้ ทัศนะประเภทเราใกล้จบกิจแล้วจะถูกทำลายตรงนี้

ตอนที่ผมเข้ามาสู่ตรงนี้ มีพระมาเตือนแล้วว่า คนที่เข้าใจจุดนี้มีน้อยคนแม้แต่พระสงฆ์ในสายหลวงพ่อเทียนเองก็มีไม่มาก และเธอไม่สามารถสอนใครให้มาถึงจุดนี้ด้วยการมานั่งแจกแจงพูดคุยได้อีกแล้ว มันเป็นคนละอย่างกับระยะ รูป นาม มันเป็นความรู้คนละขั้น เมื่อกระโดดมาแล้วจะเดินกลับไม่ได้อีก แต่ด้วยความดื้อรั้นและไม่เชื่ออะไรของผม ผมไม่เชื่อว่าคนเราจะพูดจะสอนกันไม่รู้เรื่อง แต่มันพิสูจน์แล้วว่าผมพลาดจริงๆที่ไม่เชื่อคำเตือนของพระท่านนั้น ผมพูดมาตลอดปีกว่าเกี่ยวกับเรื่องศีลปรมัตถ์ ไม่มีใครเข้าใจเลยแม้แต่คนที่ตามผมมาได้ใกล้ที่สุดก็ไม่เข้าใจ

ผมนั่งหาคำตอบมาโดยตลอด ทำไมกับเรื่องง่ายๆแบบนี้ถึงไม่เข้าใจ และคำตอบที่พบไม่ใช่อะไรอื่น มันคือการไม่เชื่อฟังและดื้อรั้น ผมเองไม่แปลกใจเพราะผมเองเคยเป็นมาก่อนและเป็นหนักกว่าพวกเค้าเสียอีก ผมยังพบอีกด้วยว่า การสอนที่ถูกต้องในระยะศีลปรมัตถ์ ไม่ใช่การบอกว่า ศีลปรมัตถ์คืออะไร แต่ต้องเป็นการบอกวิธีฝึกเท่านั้น ซึ่งมันจะเหมือนกับขับรถบนทางโค้งหักศอกแบบไม่ลดความเร็ว ขับมาตรงๆอยู่ดีดีต้องเลี้ยวหักขึ้นเนินชันสูงเร่งกำลังอย่างนั้นเลย (เรียกว่า drift ละมั้ง) เพราะทิศทางการฝึกจะเปลี่ยนจากการมานั่งดูใจดูจิต มาอยู่กับการเคลื่อนไหวของกายล้วนๆเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าความพยายามในหนึ่งปีที่ผ่านมาจะสูญค่าเสียทีเดียว เพราะเริ่มมีคนเข้าใจ แม้แต่ครูบาอาจารย์ที่เค้าเคารพ เค้าก็จากมาด้วยความเคารพ เพราะรู้ว่าทางมันไปต่อไม่ได้ ทางมันสวนแนวกันอยู่ เรื่องสายการฝึกเป็นอะไรที่ขัดกันอย่างนี้เอง



ในบทความต่อจากนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆที่ผมเคยใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้นพบเองประยุกต์เอง มันอาจขัดแย้งกับคำแนะนำของอาจารย์ท่านอื่นๆในบางอย่าง ผมเคยทำตามขั้นตอนของอาจารย์ท่านต่างๆและพบว่าผมไม่สามารถทะลวงปัญหาที่ผมเจอได้ด้วยวิธีตามพวกเค้าเหล่านั้น โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าเทคนิคการฝึกนี้เป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่ง ของพวกนี้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว จึงอาจจะใช้ไม่ได้ผลต่อทุกคน แต่ใช้ได้ผลกับผม จึงคาดว่ามันจะช่วยทำให้ผู้ฝึกประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก


เทคนิคในการยกมือสร้างจังหวะ

ประการที่หนึ่ง : อย่าเร่งจังหวะให้เร็ว ให้สร้างจังหวะช้าๆแต่ไม่ใช่สโลว์โมชั่น เพราะการเคลื่อนไหวที่ช้าจะสัมผัสความรู้สึกตัวของการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนมากกว่า

ประการที่สอง : จังหวะการยกมือสร้างจังหวะควรจะสม่ำเสมอคงที่ตลอด ไม่ใช่เดี๋ยวช้าเดี๋ยวเร็ว เพราะนี่เป็นการฝึกสติ ไม่ว่าคุณจะเหนื่อยหรือง่วงนอนขณะฝึกก็ตาม ต้องยกมือเป็นจังหวะสม่ำเสมอเท่าเดิมไม่แปรเปลี่ยนตามอารมณ์ความเบื่อหน่าย หรือนิวรณ์ตัวต่างๆ

ประการที่สาม : ให้เคลื่อนมือเบาๆ เมื่อคุณยกมือแต่ละตำแหน่ง ให้เคลื่อนมือในลักษณะใบไผ่ปลิวลม ให้พลิ้วไปตามการเคลื่อนไหวดั่งลมอ่อน

ประการที่สี่ : ให้รู้สึกทั้งตัวไม่ใช่แค่ตำแหน่งที่มือเคลื่อนอย่างเดียว กระพริบตา กลืนน้ำลาย หายใจเข้าออก มือข้างที่ยังไม่ได้เคลื่อน หัวเข่า เท้า ให้รู้สึกสังเกตสิ่งที่เคลื่อนและไม่เคลื่อนตลอดเวลา

ประการที่ห้า : เมื่อเริ่มรู้สึกว่าปวดเหมื่อยขาเหน็บกินให้เปลี่ยนท่าทันที อย่านั่งทนทรมาน ถ้านั่งขวาทับซ้ายให้เปลี่ยนเป็นซ้ายทับขวา ถ้าเหมื่อยอีกให้เปลี่ยนเป็นพับเพียบข้างซ้าย และถ้ายังเมื่อยต่อไปอีกให้เปลี่ยนเป็นพับเพียบข้างขวา ถ้าไม่รู้จะเปลี่ยนไปนั่งท่าไหนแล้วให้ลุกขึ้นเดินจงกรม



เทคนิคในการเดินจงกรม

ประการที่หนึ่ง : อย่าเดินเร็วเร่งจังหวะ เพราะมันจะสะสมจนกลายเป็นความเหนื่อยและแปรสภาพเป็นง่วง
ประการที่สอง : จังหวะควรสม่ำเสมอเพราะนี่คือการฝึกสติ
ประการที่สาม : จงรู้สึกทั้งตัวทุกส่วน อย่าเพ่งจ้องส่วนใดส่วนหนึ่ง
ประการที่สี่ : จงฝึกเดินในทุกที่ ที่มีที่ให้เดิน
ประการที่ห้า : เมื่อเดินเอามือไขว้หลังให้หมั่นกำมือ แบมือเป็นจังหวะเอาไว้
ประการที่หก : การหมุนตัวกลับควรหยุดชะงักเว้นจังหวะซักครู่จึงเริ่มเดินต่อ เพื่อให้การเดินทุกเที่ยวมีความตั้งใจรวมอยู่ด้วย
ประการที่เจ็ด : เดินสบายๆเหมือนคนปรกติเดิน อย่าเดินแบบ ยก ย่าง เหยียบบวกคำภาวนา เพราะนี่เป็นการฝึกเดินเพื่อใช้ในชีวิตปรกติของมนุษย์



และต่อไปนี้คือแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ

ความอ่อนแอ ..... ให้แก้ด้วยการ ฝึกจนกว่าจะสลบ ถ้าไม่สลบอย่าหยุดฝึก (คุณจะไม่มีทางสลบ ผมไม่เคยสลบขณะฝึกซักครั้ง)
ความง่วง ..... ให้แก้ด้วยการเคลื่อนไหวเบาๆ แต่ต้องชัดเจนแนบแน่นในความเบานั้น (ง่วงเพราะอารมณ์กรรมฐาน)
ความเบื่อ ..... ให้แก้ด้วยการรู้เท่าทันความเบื่อ แล้วอย่ายอมแพ้ ให้ฝืนความเบื่อหน่าย
ความฟุ้งซ่าน ..... ให้แก้ด้วยการอย่าห้ามความคิด จงปล่อยให้คิดระยะหนึ่ง แต่ให้ไปแก้ตรงความอยากจะสงบแทน
ปวดหัว ..... ให้แก้ด้วยการคิดอะไรก็ได้ ต้องแก้ด้วยคิดดีชั่วอะไรก็ได้ปล่อยคิดสบายๆ
นอนไม่หลับ ..... ให้แก้ด้วยการไม่ต้องนอน ให้ลุกขึ้นมาฝึกต่อไป ไม่ต้องกลัวการนอนไม่พอ
วิปัสสนู ..... ให้แก้ด้วยการเน้นลงไปที่ความรู้สึกกาย (ในกรณีที่รู้ตัวว่าติด)
จินตญาณ ..... ให้แก้ด้วยการเน้นลงไปที่ความรู้สึกกายล้วนๆ (ในกรณีที่รู้ตัวว่าติด)
ราคะ ..... ให้แก้ด้วยการเห็นแจ้งในส่วนประกอบของราคะ ต้องให้ความรู้สึกกายล้วนๆแสดงตัวชัดกว่า อารมณ์กาม
กลัว ..... ให้แก้เหมือน ราคะ


คงเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง
ไม่สงวนสิทธิ์ในการนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตามสถานการณ์ครับ

ขอให้รู้สึกตัวไว้ประการเดียวเท่านั้น มันจะลงไปแก้ที่รากของทุกตัว