โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

เหนือเซียนเทพ



     เหนือเซียนเทพ ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไป ขอให้เราเข้าใจกันก่อนว่า ข้าพเจ้าเขียนข้อความเหล่านี้ขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ท่านจะมีความเห็นอย่างไรเป็นเรื่องของท่าน พิสูจน์เอาเอง


    ถ้าท่านถามว่า

    จะทำอย่างไรจึงเห็นความคิด ข้าพเจ้าตอบท่านได้ง่ายๆเพียงว่า “ต้องฝึก” ต้องฝึกตลอดเวลา ต้องฝึกอยู่เสมอ ต้องฝึกทุกวัน ต้องฝึกให้ต่อเนื่อง ส่วนจะเห็นความคิดมาก เห็นความคิดน้อย เห็นความคิดต่อเนื่องหรือไม่ ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของท่าน ขอให้ท่านมีใจที่จะฝึกอยู่ตลอดเวลาทุกขณะชีวิตเท่านั้น

    คำถามของท่านต่อมา น่าจะเป็น “จะให้ฝึกอย่างไรเล่า”

    ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า แต่ละคนคงมีเทคนิคบางประการเฉพาะตัว ซึ่งบางคนพูดออกมาได้ บางคนพูดออกมาไม่ได้ เพราะมันเป็นไปเอง แต่ข้าพเจ้าก็พอจะบอกท่านได้เพียงว่า กุญแจของการเข้าไปเห็นความคิด อยู่ที่ “การรู้สึกตัว”

    ข้าพเจ้ายังมั่นใจมากด้วยว่า ไม่มีใครบนพื้นพิภพนี้ จะเห็นความคิดโดยไร้ความรู้สึกตัว เพราะอะไรจึงเป็นเยี่ยงนั้น เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน การเห็นความคิดไม่ใช่การที่เรารู้ว่าเรากำลังคิดอะไร แต่เป็นการเห็นสภาวะการเกิดขึ้นของความคิดและการเห็นความคิดนั้นจบลง ชนิดที่ท่านแทบไม่มีเวลาให้พักหายใจ เพราะมันเกิดขึ้นแทบจะทุกวินาที

    บุคคลทั่วไปมักเข้าใจว่า เค้าเห็นความคิด แต่จริงๆแล้วเค้าเพียงรู้ว่า เค้าคิดเรื่องอะไร ลักษณะเฉกเช่นนั้น เป็นเพียงการเข้าไปในความคิด มิใช้เห็นความคิด มันคิดก่อนแล้วมันจึงรู้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ มันเข้าไปในความคิดที่มันบอกตัวเองว่า มันเห็นความคิด เมื่อท่านเห็นความคิด จะไม่มีเรื่องราวอะไรในหัว

    เนื่องจากว่า ข้าพเจ้าเรียนสิ่งนี้มากจากข้อเขียน คำสอนจากซีดีของหลวงพ่อเทียน แม้จะไม่เคยพบเห็นเจอะเจอ แต่ข้าพเจ้าจะใช้วิธีของหลวงพ่อเทียนเล่าให้ท่านฟัง ผ่านประสบการณ์ตามที่ตัวเองเข้าใจว่า มันมาอย่างไร


    ถ้าท่านเป็นบุคคลที่ไม่เคยฝึก

    ท่านจะถูกสอนให้ฝึกการรู้สึกตัว ด้วยการ “ยกมือสร้างจังหวะ”
    เนื่องจากว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่โพธิสัตว์ ไม่ได้มีจิตใจเมตตาประมาณไม่ได้ ที่จะต้องป้อนให้ทุกอย่าง จงไปหาเอาเองว่า การยกมือสร้างจังหวะทำอย่างไร หรือท่านจะคิดค้นวิธีเอาเองก็เป็นเรื่องของท่าน

    ในขณะที่ท่านยกมือสร้างจังหวะเพื่อเร้าความรู้สึกตัว ที่ผ่านการเคลื่อนไหวทางกายนั้น ท่านจะพบว่าท่านไม่สามารถรู้สึกตัวได้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะท่านจะคิดโน่นคิดนี่ตลอดเหมือนกัน เหมือนกับท่านนั่งหลับตาทำสมาธินั่นหละ ท่านวิ่งไปสงบหรือไปนั่งจดจ่ออยู่กับลมหายใจอย่างเดียวตลอดเวลาไม่ได้ เพราะมันจะคิด

    ในมุมมองของข้าพเจ้า เมื่อท่านยกมือสร้างจังหวะ ไม่มีความจำเป็นที่ท่านต้องไปอัดความรู้สึกตัวให้มากขึ้นเหนือชั้นขึ้น เพียงแต่ให้ใช้ความรู้สึกตัวเพียงให้ท่านรู้สึกถึงความคิดให้ทัน และไม่ต้องห้ามไม่ให้มันคิด เพราะจุดประสงค์ของการฝึกคือ การตามความคิดให้ทัน ถ้ามันไม่มีความคิดท่านจะเอาอะไรมาฝึก นี่คือจุดที่แตกต่างกับวิธีฝึกแบบอื่นอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่วิธีที่เราคุ้นเคย มักจะเป็นการเอาความคิดออกหรือฆ่าความคิด แล้วจดจ่อกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะเข้าสู่ความสงบ แต่วิธีแบบที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งพิมพ์อธิบายเมื่อยคออยู่นี้ เป็นการเชื้อเชิญให้ทุกอย่าง เกิดขึ้นมาอย่างที่มันควรจะเกิด เพราะ “การปรากฏ“ ของทุกสิ่งที่ท่านรู้สึกได้ มันก็คือ “ความรู้สึกตัวนั้นเอง”

    เมื่อท่านฝึกมาซักระยะ ท่านจะเริ่มทันความคิด มันจะเริ่มรู้จักการใช้ความรู้สึกตัวเพื่อดึงตัวเองออกมาจากความคิด ระยะนี้เป็นเพียงการรู้จักความคิด เมื่อท่านเดินหน้าฝึกต่อ ท่านจะรู้ความคิด คือรู้ชัดชัดใน “ทุกความคิด” ว่าท่านกำลังคิดอะไร ไม่ว่าท่านจะตั้งใจคิดหรือไม่ ท่านจะสามารถรู้ตลอดว่าท่านคิดอะไร เมื่อท่านฝึกต่อไปอีก ท่านจะพบกับสภาวะที่อยู่ก่ำกึ่งระหว่างรู้กับเห็นความคิด และเมื่อไหร่ที่ท่านตระหนักได้ว่า สิ่งที่ท่านใช้ดูความคิดตลอดมา หรือท่านจะเรียกมันว่า สติ หรือจะเรียกอะไรก็ตาม ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของความคิดด้วย สภาวะการเห็นความคิดจะเกิดขึ้น จะไม่มีความคิดใดใดหลอกท่านได้อีก

    แต่ว่าการเห็นความคิดก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะท่านต้องรู้จักการวางตัวต่อการเห็นนั้นด้วย นี่คือจุดหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนจิตใจของข้าพเจ้า ในตอนที่ข้าพเจ้าเห็นความคิดชนิดแตะร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเหมือนกับว่า ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในกล่องลูกบาศก์ 4 เหลี่ยม ทั้ง 6 ด้านมีแต่ความคิดทั้งนั้น ไปไหนไม่ได้เลย ไม่มีทางออกเลย ติดความคิดหมดเลย หลุดไม่ได้ เพราะมันล็อคทุกจังหวะ ทุกรูปแบบ มันเห็นความคิดทั้งหมด แต่มันออกจากสิ่งที่ร้อยรัดนั้นไม่ได้ ทางนี้ก็ความคิด ทางนั้นก็ความคิด เมื่อไหร่ที่เรารู้จักหยุดดิ้น เมื่อนั้นเราจะรู้วิธีหลุดออกมาจากกล่องนั้น



    ถ้าท่านอ่านอย่างเข้าใจท่านจะเห็นว่า มันมีขั้นตอนการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ว่าขึ้นรถเมล์มาลงก็ถึง และในระหว่างที่ท่านฝึกวนเวียนอยู่กับรู้ทันความคิดนี้ ท่านจะพบคำตอบทุกอย่างที่ท่านสงสัย ท่านจะรู้ว่า พุทธศาสนาสอนอะไรกันแน่


    ส่วนคำถามอีกส่วนหนึ่งของท่าน ที่ท่านสงสัยว่า อาการทางจิตใจทุกอย่างเกิดตามมาจากความคิดจริงหรือไม่ สำหรับข้าพเจ้ามันเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีความคิดจะไม่มีอะไรเลยในชีวิต

    ปัญหาของท่านก็แสนง่ายในมุมมองของข้าพเจ้า ท่านแค่เข้าไปอยู่ในความคิด ที่มันบอกให้ท่านหาทางกำหราบเอาอาการทางใจที่ท่านไม่ชอบออกซะ แค่ความคิดที่ซ้อนความคิดเท่านั้นเอง แต่ท่านยังไม่มีความสามารถจะมองมันออกได้เท่านั้น

    ในระยะของข้าพเจ้าเมื่อเห็นความคิด อาการทางใจก็ไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ใส่ใจอีกแล้ว อาการทางใจเกิดจากการเข้าไปในความคิด ระยะตรงนี้จะละเอียดมาก มันพ้นกันนิดเดียว ระหว่างเห็นกับเข้าไปในความคิดนี่


    เมื่อท่าน รู้ความคิด ท่านจะเป็นเซียนเทพ
    ที่มักเยาะเย้ยความโง่เขลาของเหล่ามนุษย์ เพราะว่า เซียนเทพเห็นคนอื่นและเห็นตัวเอง

    เมื่อท่าน เห็นความคิด ท่านจะไม่ใช่เซียนเทพอีกต่อไป
    ท่านจะกลายเป็นตัวอะไรก็ไม่ทราบ ท่านจะไม่เห็นอะไรทั้งนั้นนอกจากตัวเอง


    ท่านกล่าวว่า ถ้าท่านทำได้ เห็นความคิดได้ มันน่าจะเป็นประโยชน์มาก ข้าพเจ้าไม่ทราบ อันนั้นเป็นเรื่องของท่าน แต่ในมุมมองของข้าพเจ้า นับตั้งแต่สองขาตั้งฉากกับพื้นโลกได้ ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้จักศาสตร์ความรู้จากมนุษย์ผู้ใด จะทรงพลังและอ่อนโยนลึกซึ้งมากเท่านี้
    จะเรียกว่า ศาสตร์แห่งความรู้ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะมันไม่รู้อะไรเลย มันเหมือนจะลืมเลือนทุกอย่าง แต่มันก็อยู่กับตัวโดยไม่ต้องเอ่ยอะไรกับตัวเอง


    แม้ท่านจะ “รอบรู้” แต่ไม่อาจเท่า “รักชอบ”
    แต่ไฉนจะสู้ “เพลิดเพลิน”  .....ถ้อยคำขงจื๊อ





    ขอให้ใจของท่านทั้งหลาย ที่บังเอิญอ่านมาถึงตรงนี้ ไหลสู่ศิลป์มิใช่หยุดอยู่แค่ศาสตร์



    have a nice day !
    จากคุณ : koknam   - [ 6 ก.ย. 50 21:00:00 ]
 
 

       ความคิดเห็นที่ 1 

      ขอบคุณครับ
      เข้าใจ และเห็นด้วย

      จากคุณ : chasam  - [ 6 ก.ย. 50 21:52:47 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 2 

      แสดงธรรมโดยหลวงพ่อเทียน  จิตตะสุโภ  แห่งวัดสนามใน

             ความคิดเป็นธรรมชาติทางนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลที่สำคัญต่อวิถีชีวิตและ          จิตวิญญาณของเรา  เราคุ้นเคยและอยู่กับความคิดเกือบตลอดเวลา  แต่เราแทบจะไม่รู้จักความคิดที่มีอยู่ในตัวของเราเลย     ความคิดชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งความคิดชนิดนี้ก่อให้เกิดโทสะ โมหะ โลภะได้ และความคิดอีกอย่างหนึ่งเป็นความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมา จึงไม่ก่อให้เกิดโทสะ โมหะ โลภะ เพราะความคิดชนิดนี้เราตั้งใจคิดขึ้นมาด้วยสติปัญญา เราคิดแบบรู้ตัวว่าเราคิดอะไร คิดดีหรือไม่ดี  ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไม่เห็นความคิดไม่รู้ตัวว่าเราคิดอะไร แต่ตัวความคิดจริง ๆ นั้นไม่ได้มีความทุกข์  สาเหตุที่มีความทุกข์เกิดขึ้นคือ เมื่อเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจในความคิด ไม่รู้จักวิธีแก้ไข เราจึงอยู่ด้วยทุกข์ และสุดท้ายก็นำเอาทุกข์นั้นเป็นอารมณ์ของเราไป

             แต่ถ้ามาเจริญสติให้รู้เท่าทันความคิด คิดอะไรก็รู้ทันความคิดว่าดีไม่ดีอย่างไร ความคิดก็จะไม่ทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ดี  วิธีการเจริญสติก็คือ การทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ สติหมายถึง ความระลึกได้หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ “ให้รู้สึกตัว” ให้รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว       จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำงาน ดื่ม กิน ก็รู้ตัวอยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น ๆ มีความคิดเกิดขึ้นก็รู้ว่าคิด   คิดดีคิดชั่วสติก็รู้ตลอดเวลา การเคลื่อนไหวจึงเป็นสาระสำคัญของการเจริญสติ โดยปกติของคนเราที่ไม่ได้ฝึกสติ พอมีความคิดเกิดขึ้นเราก็ไหลไปตามกับความคิด จิตใจจึงเข้าไปอยู่ในความคิดนั้นเพราะไม่มีสติดึงไว้      ฉะนั้นคิดถูกคิดผิด คิดดีคิดชั่วก็ไม่รู้ตัว

             ดังนั้นจึงมีการฝึกหัดการเคลื่อนไหวของรูปกายอย่างรู้ตัวเสมอ ถ้าเรามีสติรู้อยู่กับการ เคลื่อนไหวของรูปกาย เมื่อใจคิดขึ้นมาเราจะเห็น เราจะรู้ เพื่อให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งเห็นจริง   หลวงพ่อเทียน  จิตตะสุโภ   ได้แนะนำให้เราเคลื่อนไหวอย่างมีสติตลอดเวลา และ “รู้” การเคลื่อนไหวนั้น โดยมีเทคนิคในการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง  คือมีสติรู้กาย วาจา ใจของเรา      ว่าขณะนี้เราทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างนี้แล้ว ความชั่วความไม่ดีจะแทรกเข้ามาในใจเราไม่ได้ เพราะเรารู้ทันหมดทุกอาการของเรา  ฉะนั้นขอให้ทุกคนสร้างสติของตนให้เข้มแข็ง ตลอดเวลา  ชีวิตก็จะเป็นสุข  สังคมก็จะเป็นสุขตลอดไป

      จากคุณ : พุทธะจิต   - [ 6 ก.ย. 50 22:16:40 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 3 

      ธุๆๆ

      จากคุณ : นายไวรัส   - [ 6 ก.ย. 50 22:40:43 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 4 

      ... การมีสติตลอดเวลา

      1. ถ้าไม่อยู่เหนือคนอื่น...  อย่างมีสติ

      2. ก็ต้องสันโดษจากคนอื่น... อย่างมีสติ

      หรือไม่ก็วนกันไป อย่างนั้น

      จากคุณ : .... (@Ble)  - [ 6 ก.ย. 50 22:55:56 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 5 

      ขอบคุณท่าน koknam (อ่านว่า ก็อกน้ำ หรือเปล่า) ที่อุตส่าห์ตอบคำถามที่ข้าพเจ้าเคยโพสต์ไว้
      ไม่นึกว่าท่านจะผ่านมาอ่านเจอ ยังไงก็ขอขอบคุณท่านมาก

      " ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้จักศาสตร์ความรู้จากมนุษย์ผู้ใด จะทรงพลังและอ่อนโยนลึกซึ้งมากเท่านี้"
      ^
      ^
      ขนาดนั้นเลยรึ ช่างน่าค้นหาโดยแท้

      "เมื่อท่าน รู้ความคิด ท่านจะเป็นเซียนเทพ"
      ^
      ^
      แต่ข้าพเจ้าเป็น มาร คงสามารถฝึกวิชา ดูความคิด นี้ได้เช่นกันนะ คงไม่ผิดกฎพรรคมารแต่อย่างใด


      have a nice day !  เช่นกัน



      มจร.

      จากคุณ : มารจูเนียร์  - [ 6 ก.ย. 50 23:24:44 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 6 

      สาธุกับคุณก็อกน้ำค่ะ
                  ^_^
                 _/|\_
      หมอนหญ้าว่า คืนวันวันที่อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยม อาจจะเป็นคืนวันที่สำคัญมากทีเดียว
      เพราะนั่นอาจเป็นคืนวันที่ตัดสินว่าเราจะเป็นลูกผีหรือลูกคนอีกด้วย ^_^!
      คุณว่าถูกไหมคะ

      จากคุณ : หมอนหญ้า  - [ 7 ก.ย. 50 09:20:50 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 7 

      ขอบคุณคุณ Koknam ค่ะ

      จากคุณ : faisara   - [ 7 ก.ย. 50 10:05:38 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 8 

      ขอบคุณครับท่าน Koknam

      ความเห็นนี้ของท่าน
      สร้างความอุ่นใจ ให้กับการเดินทางเดียวดายได้อย่างดี

      ในท่ามกลางการโรมรันพันตู
      ผมยังคงเป็นผู้ดูในท่ามกลางฝุ่นที่ตลบอบอวน
      เวลาส่วนมากคือปิดตา เมื่อเปิดตาดู ก็ลืมตาอยู่ได้ไม่นาน

      การไม่ก้าวขาออกเดิน
      ผมคงไม่สามารถเรียกร้องความช่วยเหลือจากท่าน หรือจากใคร
      แต่ความเห็นนี้ของท่าน ทำความอุ่นใจให้ผมจริงๆ

      จากคุณ : JohnMar   - [ 7 ก.ย. 50 10:51:43 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 9 

      (ลบข้อความแล้วยังไม่ได้โพสต์ต่อ ต้องขออภัย)

      จิตลักษณะนี้ในทางกรรมฐานเรียกได้ว่าเป็นการแยกจิตออกจากเจตสิกครับ โดยจิตเป็นผู้ดูการคิดของเจตสิกอยู่ตลอดเวลา





      แก้ไขเมื่อ 08 ก.ย. 50 21:31:06
      แก้ไขเมื่อ 08 ก.ย. 50 10:01:16

      จากคุณ : เบิกตะวัน  - [ 7 ก.ย. 50 20:50:45 ]