โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

ประนีประนอม

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเลยคือ การเหมารวมว่าการปฏิบัติทุกอย่างจะไปเจอกันในท้ายที่สุด และคำเปรียบเปรยที่ได้ยินบ่อยที่สุดอันหนึ่งคือ การขึ้นสู่ยอดเขาไม่ว่าจะขึ้นมาจากทางไหนมันจะไปเจอกันที่ยอดเขาได้ทั้งนั้น คนที่พูดอย่างนั้นเพราะภูเขาในความคิดเค้าเป็นอะไรประมาณภาพนี้




ในความเป็นจริงภูเขามันตั้งเดี่ยวๆเป็นลูก มียอดแหลมอันเดี่ยวเด่ๆขึ้นไปเหมือนภาพข้างบนหรือเปล่า ในทัศนะของผม ธรรม ไม่ใช่ของกระจอกที่จะเอาไปเทียบได้กับภูเขาเพียงลูกเดียว แต่มันเป็นลักษณะการรวมกันของเขาหลายๆลูก มันมียอดเขาสูงไม่รู้กี่อัน บางอันมองจากข้างล่างมันดูสูงพอพอกัน แต่พอขึ้นไปยืนอยู่ตรงนั้นจริง มันสูงไม่เท่ากัน




ปัญหาที่ผมสังเกตได้ทุกวันนี้คือ ผู้ที่ตั้งตนเป็นอาจารย์ทั้งหลายยืนอยู่บนยอดเขาคนละยอด และในมุมมองของศิษย์แต่ละคนมองว่ายอดเขาอันนั้นๆสูงที่สุดแล้ว ผู้ที่อยู่บนยอดหรือพูดง่ายๆว่าบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย หากไม่หลงตนจนเกินไปนั้น จะต้องมองออกว่าพวกเค้าไม่ได้อยู่บนยอดเดียวกัน และหากมีปัญญาเพียงพอย่อมต้องมองออกอีกด้วยว่า ยังมียอดเขาอื่นที่สูงกว่ายอดที่ตนอยู่ พวกคุณไปลองขึ้นเขาดูก็ได้เมื่อคุณอยู่บนยอดเขาซักอันที่มันไม่สูงที่สุด คุณจะรู้ว่ายอดเขาที่คุณเหยียบอยู่นั้นยังไม่ใช่ที่สุด แต่ส่วนใหญ่คนที่ยืนบนยอดมักลงจากยอดเขาไม่ได้ เพราะทิฐิและแววตาของบรรดาลูกศิษย์ของตนนั่นเองที่ขวางไว้



คุณมองภาพด้านบนนี้แล้วพิสูจน์ให้ประจักษ์ตามคำกล่าวได้ไหมว่า ท้ายที่สุดมันจะมาเจอกันที่ยอด คุณลองปล่อยคน 10 คน ที่ตีนเขาแต่ละด้าน ใครในพวกคุณมั่นใจบ้างว่า ท้ายที่สุดทั้งสิบคนต่างคนต่างปีนด้วยวิธีของตน จะมาเจอกันที่ตำแหน่งเดียวกันบนยอดสูงสุด มันเริ่มตั้งแต่เลือกยอดที่จะขึ้นแล้ว ไหนจะเส้นทางที่ใช้ มันไม่ใช่ว่าเดินขึ้นไปที่ยอดซักอัน พอรู้ว่าไม่ใช่อันที่สูงสุดก็เดินลงเพื่อไปยอดอื่นแบบนั้น ถ้าคุณเลือกยอดผิดคุณไม่เพียงเสียเวลาแต่ยังเสี่ยงตายผิดที่อีกด้วย เพราะการขึ้นเขาแต่ละยอดใช้เวลาเป็นปีๆ


ผมไม่ทราบว่าพวกคุณเคยเดินเขากันจริงๆหรือไม่ ตอนที่ผมอยู่ต่างประเทศผมเดินบ่อยๆกับเพื่อน สิ่งที่ผมพบจากความเป็นจริงคือ เมื่อผมอยู่ในเส้นทางเดินเขา ผมไม่สามารถเห็นยอดเขาได้เลย ผมเห็นแต่ต้นไม้ ท้องฟ้า สัตว์ป่า พื้นด้านล่าง เก้าอี้ให้นั่งพัก จุดชมวิว ที่สักการะเยซุส ยอดเขาอยู่ทางไหนกัน ถ้าไม่มีถนนคงเดินปีนป่ายสะเปะสะปะแน่ วิธีที่คุณใช้ฝึกนั้นทำให้คุณมั่นใจหรือเปล่าว่า ทางที่คุณเดินมันทอดตัวไปที่ยอดได้จริง คุณเห็นเป็นทางเดินไปชัดๆแบบมั่นใจว่าต้องถึงแน่ๆหรือเปล่า ถ้าคุณยังไม่เห็นเป็นทางที่มั่นใจอย่างนี้ เรื่องวิปัสสนาไม่ต้องมาพูดหรอก



ผมมองว่าปัญหาของแนวทางการสอนอันเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า สายยุบหนอ สายเคลื่อนไหว สายอานา สายดูจิต หรือสุดแท้แต่เรียกตามชื่ออาจารย์มีมานานแล้ว และด้วยความคลุมเครือต่อผลของมันว่าแท้จริงแล้ววิธีแต่ละแบบมันนำไปสู่อะไร จึงเกิดอุบายเพื่อประนีประนอมขึ้นมาว่า จงฝึกตามแต่จริต ถูกจริตอันไหนให้ฝึกอันนั้น

และนี่คือต้นกำเนิดของการทะเลาะวิวาทของบรรดาศิษย์แต่ละสายในทุกวันนี้ ซึ่งพิสูจน์ได้ตามเว็บไซด์ธรรมะที่เปิดให้สนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นทั่วๆไป เพราะผู้ที่ทำท่าทีว่าเป็นผู้รู้ของแต่ละสายทั้งหลายเห็นไม่ตรงกันและนำไปสู่การทะเลาะหมางใจกันเอง และทางออกที่เหมือนจะเป็นแสงสว่างหนึ่งเดียวก็คือ จับมันไปเทียบกับตำราซะก็สิ้นเรื่อง ตำราว่าไว้ตามคำสอนศาสดาเด๊ะๆ เถียงกันทำไม

ปัญหาระลอกสองก็ตามมาคือ ตีความไม่ตรงกันหรือหยิบคนละบรรทัดมาเถียงกัน ใครหลักฐานแน่นกว่าคนนั้นเชื่อถือได้ แต่หากมองย้อนกลับลงไปที่ตัวคน ที่ดูเหมือนจะเชื่อถือได้ ทำไมเค้าถึงมีนิสัยแย่ล่ะ ทำไมทำไม่ได้อย่างที่สอนคนอื่นล่ะ อ่านแต่ตำราหรือเปล่า เก่งแต่ท่องหรือเปล่า ใบลานเปล่าละมั้ง



โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อว่า ธรรม เป็นเรื่องของการประนีประนอม มันเป็นเรื่องของความจริง มันเป็นอย่างที่มันเป็น สมัยก่อนมีบางคนบอกว่าโลกนี้กลม คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่หรอกมันแบน มันใช้การประนีประนอมได้หรือไม่ว่า งั้นก็ให้มันกลมๆแบนๆผสมกันดีมั๊ยเจอคนละครึ่งทางเราจะได้อยู่กันอย่างสันติ สอนคนรุ่นต่อไปว่าโลกเรามันก็กลมๆแบนๆแบบนี้ล่ะ มีแต่คนโง่เง่าถูกหลอกง่ายๆเท่านั้นล่ะ ที่จะยอมรับข้อตกลงเพี้ยนๆนี้โดยไม่พิสูจน์อะไรเลย

ไม่ว่าเราจะตัดสินอย่างไรในฐานะมนุษย์ ดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี่ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น มันไม่สนหรอกว่ามนุษย์ตกลงกันไว้ว่าจะให้มันแบนหรือกลม การเข้าถึงสัจธรรมก็แบบเดียวกัน มันจึงจำเป็นต้องมีผู้รู้จริงเอาไว้สอนเอาไว้ชี้ทาง ไม่อย่างนั้นตถาคตจะมีประโยชน์อะไร ถ้าปฏิบัติแบบไหนก็ได้ตามแต่จริต สุดท้ายมันก็ต้องบรรลุธรรมเหมือนกันหมดทุกคนมิถูกหรือ ความเป็นจริงมันก็สะท้อนอยู่แล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดในทุกวันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ในเมื่อธรรมแท้ต้องรู้อย่างเดียวกัน ทำไมอาจารย์ต่างๆสอนไม่เหมือนกันล่ะ เหตุผลง่ายๆก็คือ พวกเค้ารู้ไม่เท่ากัน รู้ไปคนละเรื่อง และสอนได้เท่าที่รู้ เรื่องเพี้ยนๆต่อมาก็คือ คำสอนที่ต่างกันนั้นถูกสโคปใหญ่บังคับไว้ว่า มันคือธรรมะของพระพุทธเจ้าคนเดียวกัน

ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่เล็งยอดเขาที่หลวงพ่อเทียนเหยียบอยู่ ผมยังไม่เคยได้ยินคำสอนไหนของเค้า ที่ประนีประนอมเข้าหลอมรวมเป็นคำสอนกับอาจารย์คนอื่นๆเลย

เค้าสอนให้ลืมตาฝึก ไม่เคยได้ยินว่า หลับมั่งลืมมั่งก็ได้แล้วแต่ถนัด
เค้าสอนให้เคลื่อนไหว ไม่เคยได้ยินว่า เคลื่อนมั่งนิ่งมั่งก็ได้แล้วแต่ถนัด
เค้าสอนให้รู้สึกตัว ไม่เคยได้ยินว่า ถ้าไม่ก้าวหน้าให้ใช้ อานาปานสติช่วย หรือให้ใช้ยุบหนอพองหนอเข้าช่วย
เค้าสอนให้รู้สึกตัว ไม่เคยได้ยินว่า ให้ฝึกฐานกายก่อนแล้วขยับไปเวทนาแล้วขยับไปจิตแล้วขยับไปธรรม
เค้าสอนให้รู้สึกตัว ไม่เคยได้ยินว่า กายเป็นเพียงฐานให้รู้จักจิต ถ้าเห็นจิตแล้วข้ามกายไปดูจิตอย่างเดียวก็ได้
เค้าสอนให้เท่าทันความคิด ไม่เคยได้ยินว่า ถ้าฟุ้งซ่านให้ใช้ดูลมพุทโธให้สงบระยะหนึ่งก่อน เมื่อสงบแล้วจึงค่อยมาฝึกรู้สึกตัว
เค้าสอนให้ออกจากความคิด ไม่เคยได้ยินว่า ให้ใช้ความคิดพิจารณาธรรมะ เปิดตำราเทียบเคียงความถูกต้อง
เค้าสอนให้เจริญสติอยู่ทุกขณะ ไม่เคยได้ยินว่า ง่วงเหนื่อยมากให้หยุดพัก เอาทำสบายๆเป็นเกณฑ์

สิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยได้ยินจากคำสอนที่ผมฟังจากเทปมาเป็นร้อยๆรอบ แต่กลับได้ยินมาตลอดจากลูกศิษย์ที่อ้างว่าฝึกตามแนวทางของท่าน ผมอาจจะฟังไม่ถูกต้องเองก็เป็นได้ แต่จากที่ผมสังเกตการสอนของหลวงพ่อเทียน เค้าไม่ใช่ลักษณะของการประนีประนอมหรือพยายามจะรวมสายที่แตกแยกเป็นหนึ่ง ธรรมที่ท่านสอน สอนเพียงสิ่งที่ท่านเข้าใจจากตัวเองที่ได้พิสูจน์แล้วเท่านั้น ไม่มีการอ้างอิงเอาวิธีสายอื่นๆมาช่วยต่อยอดอะไรทั้งนั้น วิธีที่เค้าสอนมันไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยตัวมันเอง

จากการที่ผมได้สนทนากับคนหลายคนที่ฝึกสายเดียวกันหรือต่างสาย ความจริงที่ผมพบก็คือ ผมเข้าใจไม่เหมือนพวกเค้า พวกเค้าเข้าใจไม่เหมือนผม พวกเราประสบและพบเจอความเข้าใจคนละอย่าง ใครๆก็ว่าของตัวเองถูก เพราะฉะนั้นถ้าคุณเห็นว่าสิ่งที่ผมเขียนเป็นเรื่องเหลวไหลและห่างไกลจากการไปพ้นจากทุกข์ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเสียเวลาอ่าน ผมพูดตรงๆเลยนะผมไม่ง้อเลยครับ ในเมื่อผมเองก็ทำอย่างเดียวกัน ผมไม่เสียเวลาอ่านอะไรที่ผมเห็นว่าห่างไกลจากการรู้จักตัวเอง และสิ่งที่ผมใช้เลือกว่าคำสอนไหนผิดหรือถูกคือ ลงมือพิสูจน์และสังเกตตัวผู้สอนว่าทำได้อย่างที่สอนหรือเปล่า พวกที่เก่งพูดคือ ตัวเลือกแรกที่ผมจะตัดออกบัญชีรายชื่อ ผมจับตาดูพวกเก่งทำก่อน

สำหรับคนที่ฝึกแล้วเข้าใจไปคนละแบบกับผม พวกเค้าจะไปประสบพบเห็นอะไรนั้นผมไม่ทราบและผมไม่กระหายอยากรู้แม้แต่นิดเดียว แต่เมื่อเราได้เผชิญหน้ากันเราจะรู้ได้เองว่า เราเข้าใจไม่เหมือนกัน คุณไม่มีทางที่จะมาตรงจุดผม และผมจะไม่มีวันหวนไปเจอคุณ เหมือนมันเลือกเทือกเดียวกันแต่เล็งคนละยอดเขานั่นเอง



ผมจะเขียนอะไรต่ออีกซักนิดเพราะเนื้อหามันใกล้กัน และระหว่างนี้ผมอาจจะไม่มีเวลาอัพเดทบทความ พวกคุณไม่มีความจำเป็นต้องเสียเวลาเข้ามาเยี่ยมในช่วงนี้ ผมไม่ได้ปลื้มนักหรอกที่ตัวเลขคนเข้าชมบล็อกมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมเพียงใช้มันเช็คว่า ยังมีคนที่กลับมาอ่านอยู่เท่านั้น จะให้บอกกี่ครั้งก็ได้ผมไม่สนคนอ่าน ผมสนคนทำ





ความเหมือนกัน เจอเหมือนกัน ปีนเขายอดเดียวกันนี้ ผมขอนำเรื่องของคุณพ่อผมมาเล่าให้ฟัง

ผมไม่ค่อยสอนอะไรคุณพ่อผมมากนัก ผมมักจะถามเค้าเพียงแค่ว่า รู้สึกตัวไหม รู้สึกชัดไหม เค้ามักตอบว่า รู้สิ ยกมือมันก็ต้องรู้อยู่แล้ว ต่อมาเค้าคงสงสัยว่า รู้สึกตัวแล้วจะให้รู้สึกอะไรอีก ทำไมผมถามซ้ำๆอยู่แค่คำถามเดียวมาเป็นปีปี ถ้ามันพอจะก้าวหน้ามันต้องถามคำถามอื่นบ้างซิ

ผมเริ่มด้วยการให้เค้า ตอบว่าความรู้สึกตัวที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แม้ว่าเราจะไม่เคลื่อนเราก็รู้สึก เค้าบอกว่า ที่มัน ชาๆ ใช่ไหม ( ซึ่งคำพูดนี้ไปตรงกับคำพูดของน้องชายของผมอีกคนที่ผมแนะอยู่ เค้าจะพูดเลยว่า ความรู้สึกที่มันชาๆเฉยๆนี่ใช่ไหม สองคนนี้จับตัวเดียวกันได้แต่เค้าทั้งคู่ไม่มั่นใจว่ามันจะนำไปสู่อะไร ผมจึงบอกว่า ไม่ต้องสนใจว่ามันจะเรียกว่า ชาๆ หรือเฉยๆ เพราะบางคนอาจจะไม่พูดออกมาแบบนี้ ให้จับสังเกตความรู้สึกตัวที่ไม่ว่า จะเคลื่อนหรือหยุด ความรู้สึกตัวนี้จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นน้องผมติดอารมณ์ง่วง ผมแอบเห็นนั่งคอพับอยู่ในกุฏ ตอนนั่งในศาลาก็เห็นวูบๆ ผมรู้ว่าถึงจุดที่ต้องเข้าแล้ว ผมบอกเค้าว่า ให้ทำช้าๆแบบนี้แบบนี้นะ สองชั่วโมงผ่านไปบอกว่า หายง่วงแล้ว จากนั้นก็ฝึกแบบแทบจะไม่หยุดอีกเลย เค้าถามผมว่ารู้ได้ยังไงว่า ความรู้สึกตัวอันนี้นั้นมีอยู่ เรื่องง่ายๆก็สังเกตเอานะซิผมว่าอย่างนั้น )

กลับมาที่คุณพ่อผมนะครับ เค้าค่อยๆเริ่มฝึกใหม่ เหมือนกับจะหาว่า ไอ้ความรู้สึกตัวที่ผมถามซ้ำซากอยู่นั่น มันใช่ตัวเดียวกับที่เค้ากำลังรู้สึกรึเปล่า เค้าเริ่มเอะใจจึงเริ่มวางเวลาฝึกเป็นระบบ ใช้เวลาก่อนนอนสองถึงสามชั่วโมง ผ่านไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ เค้าโทรหาผม บอกว่า รู้สึกตัวดีมาก มันชัดเจนมาก พ่อว่าแต่ก่อนพ่อยังรู้สึกตัวไม่จริงนะ ตอนนี้เลยเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมา ทีละจังหวะซ้ำๆอยู่อย่างนั้น อย่างพลิกมือนี่พลิกอยู่อย่างเดียวนี่ล่ะยี่สิบครั้ง แล้วค่อยยกมือขึ้นอีกยี่สิบครั้ง เอาให้มันรู้สึกจริงๆไปเลย มันถูกไหมแบบนี้ ผมไม่ได้ตอบอะไรมาก นอกจากบอกให้ทำอย่างนั้นล่ะต่อไป แต่ผมรู้ทันทีสัญญาณแรกมาแล้ว

วันต่อมาเค้าโทรหาอีกบอกว่า ตอนนี้เค้าเคลื่อนไหวช้ามากๆ คนอื่นเห็นต้องรำคาญแน่ ที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อให้มันรู้สึกชัดจริงๆ พ่อว่าพ่อยังอ่อนเลยคิดได้ว่า น่าจะกลับมาเคลื่อนไหวให้มันช้าๆหน่อย เราจะได้จับความรู้สึกตัวได้ชัดๆ เรายังไม่เก่งน่าจะเอาฐานให้แน่นก่อน ผมคิดในใจสัญญาณที่สองออกมาแล้ว เค้าเล่าต่อว่า แต่ก่อนที่เราว่าเรารู้สึกตัวนั่นมันรู้สึกก็จริง แต่เป็นความรู้สึกตัวระดับผิวสัมผัส ยกมือไปมามันก็แค่วูบๆ จะมารู้สึกแค่ตอนหยุด แต่ตอนนี้มันไม่ใช่นะ มันรู้เข้าไปยันข้างในเนื้อเลย จะเคลื่อนจะหยุดก็รู้สึกแบบนี้ พอมาจับจุดนี้เข้าใจเลยว่า ทำไมถามซ้ำๆอยู่ได้ว่า รู้สึกชัดไหม เข้าใจเลยว่าความรู้สึกตัวที่เรารู้สึกเมื่อก่อน กับความรู้สึกอันนี้มันเป็นคนละตัวกัน

ตอนแรกมันรู้ที่มือขวาก่อนตอนช่วงที่กำลังจะวางลงบนเข่า ด้วยความที่เราเคลื่อนไหวช้าๆนี่ล่ะ เราถึงจับมันได้ พอเราจับมันได้ มันก็ลามไปที่แขน ไปที่ไหล่ ไล่ลงไปทั้งตัวก็ง่ายแล้ว ระหว่างฝึกหน้ามันเต้นวุบๆเหมือนตอนกินเหล้า ตอนนอนก็ตื่นบ่อยมากนึกว่าเช้าแล้ว คืนนึงตื่นขึ้นมาซักสี่รอบได้มั้ง ถ้าให้เปรียบเหมือนรูปพระพุทธเจ้าที่แปะอยู่ในห้องพระนั่นล่ะ ที่มีแสงออกมาจากตัว แต่พ่อไม่มีแสงออกมาจากตัวนะ ความรู้สึกตัวข้างในที่มันเกิดมันเป็นอย่างนั้น ( ผมแปลกใจมากเพราะนี่คือคำพูดเดียวกับที่ผมบอกตัวเองตอนที่ผมอยู่ตรงจุดนี้ ) ผมเลยบอกว่า มันเหมือนหลอดไฟที่สว่างอยู่ใช่ไหม เค้าบอกว่า อืม เป็นอย่างนั้นใช่เลย

ผมจึงบอกว่า เคล็ดในการผ่านจุดนั้น คือ รู้สึกตัวให้ชัดด้วยการเคลื่อนไหวช้าๆ ตัวนี้จะไปแก้ทั้งการปวดเมื่อยและความง่วง เค้าจึงถามว่า แล้วทำไมไม่บอกแต่แรกเล่า ว่าให้ทำช้าๆ ผมจึงว่า เพราะคนเราจะจำมันได้ฝังใจไปจนตายกับอะไรก็ตามที่เรารู้ขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องมีคนบอกนะสิ

ผมเองก็เคยติดจุดนี้ แล้วก็เจอทางแก้แบบเดียวกันนี่ โดยไม่ต้องมีคนมาบอก ต่อไปเวลาเราจะสอนใคร เราจะมั่นใจ เพราะเราผ่านมาได้จริง และคนที่ผ่านมาก็จะใช้วิธีที่เหมือนกับเราด้วย ประการต่อมาถ้าเราผ่านได้ด้วยตัวเอง เราจะมีกำลังใจในการฝึกต่อไป เราจะรู้ว่าเราไปต่อได้

พอคนเราเห็นพัฒนาการตัวเอง ก็เลยฝึกต่อเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ แต่ถ้าถามว่าพ่อรู้อะไรมั่ง พ่อไม่รู้อะไรเลยนะ ก็เราบอกแค่ว่า ให้รู้สึกตัวอย่างเดียวแค่นั้นไม่ใช่เหรอ รูปนาม ขันธ์ห้า ไตรลักษณ์ ปรมัตถ์ อะไรพ่อไม่รู้หรอก พ่อไม่รู้คำศัพท์ พ่อจะเอาแค่รู้สึกตัวล้วนๆให้มันชัดๆนี่ล่ะ

ผมก็เลยบอกว่าเลื่อนระดับมาได้ขั้นนึง คนร้อยคนฝึกจะมาถึงจุดนี้ได้ 70-80 คน พ่อผมถามต่อว่าแล้วขั้นต่อไปล่ะ ผมเลยบอกว่าขั้นต่อไปอาจารย์ผมจากร้อยคนให้ 5 คน แต่ถ้าถามผมผมให้ 2 คน แล้วรู้ได้ไงว่าสิ่งที่พ่อพูดไม่ได้โกหก พ่ออาจจะไปเปิดเน็ตลอกเอาคำพูดจากใครมาตอบเราก็ได้ ไม่มีครูที่เก่งจริงคนไหนที่โดนศิษย์ตัวเองหลอกได้หรอกครับ ผมโม้ทับไปแบบนั้น ของแค่นี้มองออกง่ายมากว่าผ่านมาจริงหรือเปล่า การกระทำท่าทางมันฟ้อง มันไม่ใช่ความรู้ที่จะพล่ามอะไรออกมาก็ได้ แต่มันแสดงผ่านกิริยาท่าทาง เพราะนี่คือการเป็น




ขอให้วันนี้ของทุกคนสวยงามต่อไปครับ

เครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง

ผมฟังคำสอนจากหลวงพ่อเทียนมาตลอดว่า สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างกลางคือความสงบ แต่ผมไม่เคยเข้าใจอย่างลึกซึ้งเลยว่า อะไรคือความสงบ ผมพอจะทราบความหมายคร่าวๆจากการตีความตามตัวหนังสือว่า มันหมายถึงพวกที่นั่งหลับตาทำสมาธิดิ่งลึกลงในอารมณ์อันประณีตแล้วจมแช่กับอาการสุขลึกล้ำ การติดกับของอย่างนั้นคือ กิเลสอย่างกลาง ตอนนั้นผมเข้าใจอย่างนั้นนะครับ

แต่ในเมื่อผมไม่ได้ฝึกตนมาด้วยวิธีการเพื่อมุ่งเข้าหาความสงบประเภทนั้น ผมจะไปมีความสงบอันปราณีตเช่นนั้นได้อย่างไร มันหมายความว่าผมข้ามกิเลสอย่างกลางได้เลยหรือเปล่านะ นี่ผมเก่งขนาดนี้เชียว ผมคงเป็นชายผู้ไม่มีกิเลสอย่างกลาง ผมหัวเราะตัวเองแล้วบอกว่า งี่เง่า

ผมจึงเริ่มสังเกตตัวเองและถามตัวเองว่าอะไรคือความสงบกันแน่ และผมได้ทราบว่า เมื่อเราเจริญความรู้สึกตัวมากเข้าๆ ความรู้สึกตัวที่ตื่นขึ้นทั้งตัวจะไปกลบทับอาการทั้งหมด มันจะตื่นตัวอย่างเดียว และผมจะพอใจในอาการตื่นที่ไม่มีอะไรมารบกวนนั้น ในเมื่อมันเกิดบ่อยๆ ผมก็เข้าใจว่า ยิ่งฝึกเก่งเท่าไหร่มันต้องตื่นอยู่อย่างนี้ตลอดไป

เมื่อผมเข้าใจเรื่องของอารมณ์ และได้อ่านสิ่งที่ครูบาอาจารย์สายหลวงพ่อเทียนถ่ายทอดไว้ แม้แต่คำสอนของตัวท่านเอง ท่านกลับบอกว่า “ต้องให้มันเป็นอารมณ์” “ถ้าไม่มีอารมณ์นั่นแสดงว่าเราเขาไปติดความสงบแล้ว” “ต้องทวนอารมณ์” “วิปัสสนาเป็นเรื่องของอารมณ์” คำพูดพวกนี้สื่อถึงอะไรบางอย่างฟังผ่านๆเหมือนผมจะรู้ แต่ผมไม่เข้าใจ ผมไม่แตกฉานพอ

ผมเพิ่งจะมาเข้าใจคำพูดพวกนี้อย่างแจ่มแจ้งไม่นานนี่เอง แม้ว่าการตื่นขึ้นทั้งตัวจะเกิดขึ้นบ่อยมากหรือถี่มาก แต่อาการของความคัน ความเมื่อย ความคิดก็ยังต้องเกิดตามปัจจัยที่มากระทบมัน มันจะคอยขึ้นมาเบียดทำลายความมั่นคงแนบแน่นของความรู้สึกตัวและสร้างความท้อถอยให้เกิดแก่ผู้ฝึก ของพวกนี้พัฒนาให้ไกลไปกว่านี้ไม่ได้เพราะธรรมชาติของขันธ์ห้าเป็นเช่นนั้นเอง จะห้ามไม่ให้รู้ไม่ได้ในเมื่อวิญญาณขันธ์เป็นหนึ่งในขันธ์ห้า

แต่การที่เราตั้งมั่นอยู่กับความรู้สึกตัวที่ล้วนๆโดยไม่หวั่นไหวต่ออาการใดใดของขันธ์ห้าอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพัก กลับทำให้ธรรมชาติแห่งความรู้สึกตัวล้วนๆแสดงความเป็นจริงออกมา นั่นคือ สิ่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตามขันธ์ห้าแม้แต่นิดเดียว ต่อให้เจ็บปวด เมื่อยล้า ร้อนจัด ความรู้สึกตัวล้วนๆไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย มันคงที่ของมันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ผมเข้าใจเดี๋ยวนั้นเลยว่าอะไรคือกิเลสอย่างกลาง และทำไมสมาธิคือเครื่องกำจัดมัน นอกจากนั้นมันยังรู้ไปถึงกิเลสอย่างละเอียดด้วย ผมมั่นใจมากด้วยว่า สติสัมปชัญญะที่ฝึกจนเต็มที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะรู้เป็นตลอดเวลา

( ผมเคยถามพระคนหนึ่งเค้ามาจากสายอื่นไม่ขอบอกนะครับว่าจากไหน ในสายตาผมเค้าพูดจาเลอะเทอะ ผมจึงถามเค้าว่า “จริงหรือครับที่ทุกอย่างนั้นตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์” เค้าบอกอย่างมั่นใจว่า “ใช่ทุกอย่าง” ผมจึงถามว่า “ตัวกฎไตรลักษณ์เองนั้นตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์หรือไม่” “ตัวธรรมะที่บอกว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมะข้อนี้เที่ยงหรือไม่” “ความตายนั้นเที่ยงหรือไม่” เค้าและบรรดาศิษย์หัวเราะในคำถามเพี้ยนๆของผมแล้วบอกว่าผมต้องกลับไปศึกษาเรื่องสมมติและปรมัตถ์ให้ดีก่อนแล้วค่อยมาถาม ผมจึงถามต่อว่า “ในเมื่อต้องแยกสมมตและปรมัตถ์ออกจากกันจะใช้คำว่าทุกอย่างได้อย่างไร” พวกคุณที่อ่านบทความนี้ลองหาคำตอบเอาเองนะครับ “สิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง แล้วความไม่เที่ยงมันเที่ยงหรือไม่” “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน แล้วความไม่แน่นอนนั้นแน่นอนหรือไม่” สุดท้ายผมถามเค้าว่า “สติสัมปชัญญะที่ฝึกมาจนถึงที่สุดแล้วเที่ยงหรือไม่” เค้าบอกว่า “ไม่” ผมจึงหมดความสนใจในคนคนนี้ทันที )


กลับมาที่การฝึกนะครับ

พอผมเข้าใจตรงนี้ผมยิ่งบ้าระห่ำเข้าไปใหญ่ จิตใจมันไม่กลัวอุปสรรคในการฝึกอะไรเลย ขอให้ส่งกิเลสหรือความทุกข์ตัวขัดขวางที่เก่งที่สุดออกมาทีเถอะเพราะผมรู้ว่าผมจะผ่านได้ เคล็ดของมันไม่ได้อยู่ตรงการละทำลายอุปสรรค แต่อยู่ตรงการให้อุปสรรคเกิดขึ้นให้อารมณ์เกิดขึ้น แต่ความรู้สึกตัวล้วนๆที่ฝึกมาดีนั้นจะชัดเจนอยู่ตลอดเวลา มันเข้าไปขัดกระบวนการการเกิดของทุกข์ มันไปเข้าใจเรื่องการทำบุญให้ทานว่าทำยังไงถึงจะทำบุญได้ตลอดเวลา มันแหวกกุศลและอกุศลออกจากกันแล้วทะลวงผ่านช่องกลางระหว่างมันทั้งคู่ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมยอมรับตัวเองว่า เก่ง มีเพื่อนหลายคนเคยบอกว่า เออมึงเก่ง งานมึงดี มึงทำได้ไง กูชอบ แม้แต่อาจารย์ผมเค้าก็เคยชมว่า เราเก่งมากนะที่มาถึงจุดนี้ได้ แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกที่เรายอมรับตัวเราได้เองแบบนี้

เมื่อก่อนนี้เมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นมันจะวิ่งเข้าจับตัวที่หยาบก่อนเสมอ แต่คราวนี้มันวิ่งไปหาความรู้สึกที่ละเอียดกว่าด้วยปัญญาที่ฝึกมาอย่างดี เมื่อก่อนเราต้องปัดความคิดปัดวิญญาณขันธ์ออกเราจึงเจอความรู้สึกตัวล้วนๆ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องปัดเราก็เจอ ฐานของชีวิตไม่ใช่จิตอีกแล้วแต่เป็นความรู้สึกตัว เหมือนกับเมื่อก่อนเราแบมืออยู่ เราต้องคอยฝึกเพื่อให้มันคว่ำมือบ่อยๆให้ได้เพื่อให้มันเห็นอีกด้านหนึ่ง แต่ตอนนี้มันเห็นทั้งหน้ามือและหลังมือพร้อมกัน ผมรู้จักว่า อะไรคือสภาวะเดินออกมานอกห้อง แต่ยังออกไม่ได้มันยังมีแรงดึงผมให้กลับไปอยู่ในห้อง

จากเดิมความอึดอัดใจจะเกิดขึ้นเมื่อผมเผชิญอุปสรรค แต่ตอนนี้ผมรู้สึกสนุกกับอุปสรรคเพราะมันไม่มีทางแพ้ ธรรมชาติสร้างสิ่งนี้ให้เป็นผู้ชนะอย่างเดียว ความรู้สึกตัวล้วนๆมีอำนาจทำลายความทุกข์ยากของมนุษย์จากขันธ์ห้า แต่สิ่งที่เกิดจากขันธ์ห้าทำลายความรู้สึกตัวล้วนๆไม่ได้ กฎธรรมชาติของสิ่งนี้เป็นเช่นนั้น


มาถึงตรงที่ว่าอะไรคือความแตกต่างของวิญญาณขันธ์กับความรู้สึกตัวล้วนๆ เพราะความเข้าใจโดยทั่วไปมันหมายถึงรู้เหมือนกัน คำตอบก็แสนง่าย ความรู้สึกของวิญญาณขันธ์ไม่ต้องมีปัญญามันก็รู้สึกได้เอง เช่นความรู้สึกคัน ความรู้สึกรัก ความรู้สึกเมื่อย ความรู้สึกหิว ความรู้สึกเครียด ความรู้สึกท้อแท้ ของพวกนี้ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไรในการรู้ มันรู้ขึ้นได้เอง ความรู้สึกตัวล้วนๆกับความรู้สึกแบบวิญญาณในขันธ์ห้าจึงเป็นคนละตัวกัน


การอธิบายความเข้าใจในระดับนี้เป็นเรื่องยาก ถ้าเลือกได้ผมจะสอนวิธีทำมากกว่าที่จะมานั่งอธิบาย แม้มันจะยากในการเคี่ยวเข็ญคน แต่ง่ายกว่าการอธิบายด้วยคำพูด

บางคนสงสัยว่าผมสอนพ่อตัวเองได้อย่างไร พ่อผมไม่ได้โง่ เค้าหัวแข็งไม่เชื่ออะไรง่ายๆและประสบการณ์ชีวิตเยอะ พระเณรอะไรไม่สนใจธรรมะอะไรไม่ต้องมาพล่าม แต่ทำไมเค้าเชื่อฟังผมในเรื่องฝึกเจริญสติ นั่นเพราะว่า ผมวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ดร็อปเรียน จนเลิกเรียน จนขายบ้านช่อง เพื่ออะไร จุดมุ่งหมายมีเพียงอย่างเดียวคือ แสดงให้คุณพ่อเห็นว่า ผมลงทุนไปเพื่อเอาเวลาทั้งหมดในชีวิตมาฝึก ผมเอาจริงกับสิ่งนี้และสิ่งนี้ส่งผลกับผมจริง แล้วทำไมไม่บวชมันไปซะเลยล่ะ นั่นเพราะว่า การเป็นโยมแสดงออกให้คนใกล้ตัวเห็นได้ชัดมากกว่า ว่าคนที่จะไปจนสุดไม่จำเป็นต้องเป็นพระ ธรรมที่แท้จริงไม่ได้มีไว้เพื่อพระ แต่มีไว้เพื่อทุกคนขอให้ฝึกให้ถูกวิธีให้ต่อเนื่องเท่านั้น

การเจริญสติไม่ใช่เรื่องของความสนุก เพราะมันจะขัดใจตัวเองในทุกเรื่อง มันต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆเท่านั้น ถึงจะยอมเสียเวลามานั่งฝึกเพื่อขัดใจตัวเอง และต่อเมื่อสามารถในการเอาชนะใจตัวเองได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า คุณจะเข้าถึงความสนุกบางอย่าง คือ สนุกที่ได้คว่ำตัวเอง สนุกกับการได้เห็นว่าสิ่งที่คนทั่วไปบอกว่าทำไม่ได้หรอกขี้โม้ทั้งเพ มันไม่ใช่แค่ทำได้แต่กำลังเป็นอยู่นี่ไง





ขอให้วันนี้สวยงามต่อไปครับ

ความรู้สึกตัวอะไร

จริงๆแล้วผมควรจะเขียนเรื่องนี้ก่อนเรื่องใดใดในบล็อก เนื่องด้วยคำคำนี้เพียงคำเดียวอันเป็นแก่นทั้งหมดของการฝึกฝนเจริญสติ ในวงการกรรมฐานไม่เฉพาะในเมืองไทยแต่เป็นทั่วโลกเข้าใจตีความหมายของคำว่ารู้สึกตัวไม่เหมือนกัน

ถ้าคุณต้องการถามคำถามแบบปราบเซียน ให้ตั้งคำถามง่ายๆกับคนที่ต้องการทดสอบว่า สติสัมปชัญญะคืออะไร คนที่เข้าใจตัวสติสัมปชัญญะที่แท้จริงจะไม่ตอบด้วยคำพูดเชิงอธิบายหรือพูดอะไรยาวๆฟังดูเทพยดามาตอบ แต่จะบอกวิธีให้คุณทำอะไรบางอย่างในขณะนั้นเพื่อจะบอกคุณว่า สติสัมปชัญญะคืออะไร คุณไปทดสอบถามคำถามนี้กับใครก็ได้ จะมีเพียงไม่กี่คนที่ตอบด้วยลักษณะชี้ลงที่การกระทำ นอกนั้นจะตอบด้วยคำพูดคำอธิบายทั้งสิ้น

ผมฟังมาโดยตลอดใครๆก็บอกว่าตัวเองเป็นสัมมาสติ ตัวเองฝึกตามหลักสัมมาสมาธิ ยังไม่เห็นใครพูดออกมาเลยว่า ผมฝึกด้วยแนวมิจฉาสติมิจฉาสมาธิ เรื่องที่ตลกคืออะไร บรรดาพวกที่บอกว่าตัวเองฝึกด้วยสัมมาสติหรือกำลังเที่ยวสอนคนอื่นว่าสัมมาสมาธิเป็นอย่างไรนั้นทะเลาะเถียงกันเอง และทำท่าเหมือนจะกล่าวทำนองว่า ฝ่ายที่ตนกำลังต่อสู้เพื่อผดุงความถูกต้องนั้น เป็นมิจฉาสติเป็นมิจฉาสมาธิ และฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็ไม่ยอมรับ กลับตอกเข้าให้ว่าแกต่างหากที่เป็นมิจฉา ถ้าทั้งสองฝ่ายถูกต้องสัมมาสมาธิหรือสัมมาสตินั้นมีหลายแบบหรือเปล่า ถ้าถามผม มันไม่ใช่แน่ สัมมาสมาธิและสัมมาสตินั้นมีเพียงอย่างเดียวและอย่างเดียวที่ว่านี้เป็น สมาธิและสติเพื่อการพ้นทุกข์ถ้าไปนอกเหนือจากจุดประสงค์นี้ ไม่ใช่สัมมาที่มีเส้นทางเดินเพียงหนึ่ง

สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้จึงไม่ขอเอาคำว่า สัมมาหรือมิจฉามาใช้อธิบาย พวกคุณที่กรุณาเสียเวลามาเยี่ยมอ่านบล็อกตัดสินเอาเอง อย่างที่พวกคุณสังเกตมาตลอดผมไม่เอาผู้อ่าน ผมไม่ง้อให้พวกคุณต้องมานั่งติดตามทุกอาทิตย์ ผมไม่ได้เขียนเอาเงินหรือประกวดเอาโล่ ผมจะไม่มาถกอะไรกับใครเพื่อจะหาข้อสรุปว่า ความรู้สึกตัวที่ผมจะบอกต่อไปนี้จริงๆแล้วมันเป็นสัมมาหรือมิจฉา เพราะสำหรับผมมันเป็นสัมมาเต็มขั้น แต่มุมมองของคนอื่นอาจเป็นมิจฉาเต็มเหนี่ยวก็ได้

ผมจะเริ่มด้วยประโยคง่ายๆที่ผมได้ยินมาตลอด “โกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ” “มีราคะให้รู้ว่ามีราคะ” “ฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน” “ง่วงให้รู้ว่าง่วง” “จิตกระเพื่อมให้รู้ว่าจิตกระเพื่อม” ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกได้เลยว่า ผมไม่เห็นด้วยกับคำสอนลักษณะนี้ แต่กว่าที่ผมจะไม่เห็นด้วยนั้น ผมฝึกอย่างหนักด้วยวิธีแบบนี้มาถึงสี่ปี และพบจุดอ่อนที่สำคัญของมัน ซึ่งทำให้ผมต้องตัดใจเลิกฝึกอย่างเสียดายเพราะผมแน่พอตัวกับการฝึกอย่างนั้น


ผมจะฟันลงไปเลยนะครับ จุดอ่อนของมันคือ “มันไม่มีการสิ้นจบ” แม้ว่าสิ่งต่างๆที่ผ่านการรู้เท่าทันจะเร็วขึ้นและค่อยลดลง แต่มันไม่สามารถ “ถอนราก” การโกรธ ไม่สามารถถอนรากราคะ ไม่สามารถถอนรากความฟุ้งซ่าน ไม่สามารถถอนรากความง่วง ไม่สามารถถอนรากการกระเพื่อมของจิต ความเท่าทันที่ฝึกมาอย่างดีช่วยให้ผมยั้งคำพูดหรือการกระทำด้วยอารมณ์ได้หลายครั้ง ผมกลายเป็นคนใจเย็นมากถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันก็จริง แต่ผมสงสัยว่า คำว่าเสร็จกิจคำว่าสิ้นจบ ไม่น่าจะใช้กับความสามารถในการรู้เท่ารู้ทันเพียงแค่นี้


สำหรับคนที่พอใจผลการฝึกของตนในลักษณะการรู้เท่ารู้ทันเพียงพอแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อครับ ผมเสียเวลาเขียนของพวกนี้เพื่อบุคคลเฉพาะกลุ่ม และคนในกลุ่มนั่นคือคนประเภทเดียวกันกับผมซึ่งมีไม่มาก กลุ่มคนที่จะไปให้ไกลแบบถอนขึ้นได้กระทั้งราก

มาเช็คลงรายละเอียดกันหน่อยว่า จุดอ่อนนี้เป็นอย่างไร เอาแค่คำสอนที่ว่า “โกรธให้รู้ว่าโกรธ” อะไรคือความแตกต่างของคนที่ฝึกกับไม่ฝึก คนที่อ่านบล็อกนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ฝึกอยู่แล้ว ผมจะไม่พรรณนาจุดนี้มากนะครับ ไม่ว่าจะฝึกหรือไม่ฝึกย่อมรู้ตัวเวลาที่กำลังโกรธ เพียงแต่จะยอมรับออกมาหรือไม่เท่านั้นว่า โกรธอยู่นะ สิ่งที่ต่างกันก็คือ การเข้าไปรวมตัวกับอาการโกรธ ผู้ที่ฝึกจะสามารถแยกตัวออกมาจากอารมณ์ได้ หรือที่เรียกว่าเห็นจิต และปัญญาของการเห็นนี่เอง ที่ช่วยระงับการกระทำและคำพูด ยิ่งฝึกเก่งยิ่งไว แต่ประเด็นที่ผมจะบอกไม่ใช่จุดนี้ สิ่งที่ผมจะบอกคือ ไม่ว่าคุณจะฝึกหรือไม่ฝึกคุณย่อมรู้ทั้งนั้นว่า ชั้นกำลังโกรธ ชั้นกำลังไม่พอใจ

พอยท์ของผมอยู่ตรงไหน นั่นคือ การรู้ว่าโกรธนั้นไม่จำเป็นต้องฝึกสมถะวิปัสสนาอะไรทั้งนั้น ธรรมชาติของคนหรือสัตว์มันก็รู้เองอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรเพื่อรู้อาการโกรธ คนเรามันก็รู้ได้เองว่ามันกำลังไม่พอใจ การสอนลักษณะ โกรธให้รู้ว่าโกรธจึงไม่เกี่ยวกับปัญญาการเข้าไปรู้อารมณ์ตัวนี้ เพราะมันรู้ได้เองทุกคนอยู่แล้ว แต่การฝึกลักษณะ โกรธให้รู้ว่าโกรธ มันแค่ไปช่วยพัฒนาปัญญาในส่วนของการเท่าทันอารมณ์


ผมอธิบายมาหลายย่อหน้าเพื่ออะไร เพื่อที่จะบอกว่าความรู้สึกตัวที่ผมเขียนมาโดยตลอดในบล็อกนี้ จำเป็นต้องอาศัยปัญญาในการเข้าไปรู้ ถ้าไม่มีปัญญาจะเข้าไปรู้ความรู้สึกตัวอันนี้ไม่ได้ มันไม่เหมือนอารมณ์โกรธที่ไม่ฝึกมันก็รู้สึกเองได้โดยสัญชาตญาณ แต่ความรู้สึกตัวล้วนๆอันนี้มันต้องผ่านการฝึกฝนและต้องเป็นการฝึกที่ถูกวิธีด้วยมันถึงจะเข้าไปรู้ได้

ปัญหาของวงการเจริญสติที่ผมพบคือ พวกเค้าเหมาความรู้สึกทั้งหมดของมนุษย์ว่าเป็นความรู้สึกตัวที่ใช้เจริญสติต่อการมุ่งไปสู่การรู้จริง และไม่เพียงฝึกแต่ยังสอนว่าขอให้รู้สึกถึงความรู้สึกอะไรก็ได้ที่ปรากฏเป็นพอ มันอาจใช่ในความหมายของคนหลายคน แต่ไม่ใช่ตามความหมายที่ผมเขียนในบล็อกนี้ และมั่นใจแบบพร้อมยอมตายด้วยว่าไม่ใช่ตามคำสอนของหลวงพ่อเทียน

ผมไปอยู่คลุกคลีกับวัดนับรวมเวลาเกือบปีครึ่ง ผมพบว่า พระในสายหลวงพ่อเทียนเองยังสอนไม่เหมือนกัน พวกเค้าเข้าใจไม่ตรงกัน แต่พวกเค้าพูดสอนเหมือนกันว่า ให้รู้สึกตัว ถ้าตั้งใจฟังดีดีแบบรายหัวรายตัวจะรู้เลยว่า แม้คำพูดคล้ายกันแต่พูดสื่อไปคนละตัว การแนะวิธีฝึกก็ต่างกันด้วย


คำสอนที่ถูกต้องควรจะเป็น “เมื่อโกรธให้รู้สึกตัว” ซึ่งความรู้สึกโกรธกับความรู้สึกตัวนี้เป็นคนละตัวกัน ธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น เวลาที่เกิดความรู้สึกขึ้นมันจะเข้าจับความรู้สึกที่หยาบกว่าก่อนเสมอ ถ้าเทียบความรู้สึกโกรธกับความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวละเอียดกว่ามาก ในขณะที่ความรู้สึกโกรธเป็นเพียงอารมณ์ คนเราจึงต้องฝึกพัฒนาให้เข้าไปรู้ความรู้สึกอันละเอียดอันนี้ เพื่อเหนี่ยวตัวเองไม่ให้ไปจมอยู่กับอารมณ์ และจากประสบการณ์ของผม มีไม่กี่คนที่ทำได้ อันนี้พูดแบบตรงๆเลยนะครับ

เมื่อใครก็ตามไม่สามารถฝึกพัฒนาตัวเองให้แนบแน่นกับความรู้สึกตัวถึงขนาดที่ทำให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันดึงไปร่วมไม่ได้ พวกเค้าจะหันเข้าพึ่งสิ่งที่เรียกว่า “เห็น” แทน มันจึงเป็นที่มาของการสอนว่า “โกรธให้รู้ว่าโกรธ” ซึ่งมันสื่อให้คนสมัยนี้เข้าใจโดยอัตโนมัติว่า ให้เห็นอาการโกรธ เพียงแค่นั้นไม่ต้องไปแทรกแทรงอะไรมัน แค่เพียงให้รู้ธรรมชาติของมันนั่นเพียงพอแล้ว

คำถามต่อมาคือ เห็นแล้วมันยังไงล่ะ แน่นอนว่ามันยั้งการกระทำได้เพราะสติในการเท่าทันมันถูกพัฒนา แต่อาการโกรธจะไม่มีทางสิ้นจบ และนี่เป็นเหตุผลที่ตอบได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมผู้ที่กำลังสอนคนอื่นอยู่เรื่องการเท่าทันจิต เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตัวชนิดสาหัสจึงควบคุมตนเองไม่ได้ เพราะมันทำได้เพียงแค่รู้แค่เห็น แต่ขาดฐานอันมั่นคงของสติ และสติอันนี้หมายถึงความรู้สึกตัวที่ต้องผ่านการฝึกมาอย่างถูกวิธีด้วย

บางคนฝึกรู้สึกตัวไปพบกับความเบาสบายเข้า มันก็ไปติดความเบาสบายอีก เพราะเข้าใจว่านั่นคือความรู้สึกตัวแท้ๆ ที่พยายามดิ้นรนค้นหามานาน พอไปตีความตามตำราว่า ไม่ทุกข์ ก็ยิ่งเข้าทางต้องฝึกเพื่อยื้อความสบายนี่ให้แสดงตัวออกมามากๆ ตราบใดที่ยังบอกตัวเองได้ว่า เราชอบพอใจในความรู้สึกนี้ สำหรับผมสิ่งนั้นไม่ใช่ความรู้สึกตัวแท้ๆเป็นเพียงอารมณ์และวันนึงมันจะถูกทำลายลงตามกฎไตรลักษณ์



ต่อไปนี้ผมจะลงเรื่องความรู้สึกตัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะไล่พัฒนาการมาตั้งแต่ รูปนาม


ใน ระยะรูปนาม ความรู้สึกตัวจะตื่นขึ้นทั้งตัว ความรู้สึกตัวจะกระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่ว่าอะไรเคลื่อนไหวบนร่างกายคุณ คุณจะรู้สึกทั้งหมด มันจะรู้สัมผัสกระทบทุกจุด ความรู้สึกตัวจะไวมาก โดยเฉพาะจุดข้อต่อบนร่างกาย การกระพริบตาหายใจกลืนน้ำลาย เคี้ยวข้าว หัวใจเต้น นอนหลับพลิกกลับตัว เดินไปเดินมา จะรู้สึกสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอด






ใน ระยะศีลปรมัตถ์ ความรู้สึกจะตื่นทะลวงซึมลึกลงไปในกล้ามเนื้อ พอถึงจุดนี้ไม่ว่าจะเคลื่อนหรือหยุดเคลื่อนไหวร่างกาย ความรู้สึกภายในจะเป็นเหมือนเดิมตลอด ความรู้สึกตัวนี้จะไม่แปรเปลี่ยนตามการเกิดดับของจิต ไม่แปรเปลี่ยนตามอายุ ไม่แตกต่างชายหญิงเด็กชรา และยังรู้สึกภายนอกผิวสัมผัสในเวลาเดียวกันด้วย ผู้มาถึงตรงนี้จะรู้วิธีชนะไตรลักษณ์






ใน ระยะต้นกำเนิดของความคิด จะเข้าใจว่า อะไรคือตัวกำหนดทิศทางของความคิด ความรู้สึกตัวล้วนๆส่งผลอย่างไรต่อเรื่องที่คิดออกมา เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นและความรู้สึกตัวลดน้อยลงส่งผลอย่างไรต่อเรื่องที่คิดออกมา ผู้มาถึงตรงนี้จะมีเรื่องกังวลในชีวิตไม่กี่เรื่อง




ใน ระยะการรวมตัวกันเข้า ความรู้สึกตัวจะเข้าโจมตีไปจนถึงสมองแทรกลงไปในทรวงอก ตัดมายาสถานที่เกิดของความทุกข์ จะเข้าใจว่ากายและใจคือสิ่งเดียวกัน หรือเห็นความจริงว่า ใจคือสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ความรู้สึกจะแนบแน่นลงบนฐานกาย ไม่ใช้ความคิดในการรู้สึกตัวอีกต่อไป








ในระยะสุดท้ายยังไม่ทราบครับ



ขอให้วันนี้ของทุกท่านสวยงามต่อไป