โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

ความรู้สึกตัวอะไร

จริงๆแล้วผมควรจะเขียนเรื่องนี้ก่อนเรื่องใดใดในบล็อก เนื่องด้วยคำคำนี้เพียงคำเดียวอันเป็นแก่นทั้งหมดของการฝึกฝนเจริญสติ ในวงการกรรมฐานไม่เฉพาะในเมืองไทยแต่เป็นทั่วโลกเข้าใจตีความหมายของคำว่ารู้สึกตัวไม่เหมือนกัน

ถ้าคุณต้องการถามคำถามแบบปราบเซียน ให้ตั้งคำถามง่ายๆกับคนที่ต้องการทดสอบว่า สติสัมปชัญญะคืออะไร คนที่เข้าใจตัวสติสัมปชัญญะที่แท้จริงจะไม่ตอบด้วยคำพูดเชิงอธิบายหรือพูดอะไรยาวๆฟังดูเทพยดามาตอบ แต่จะบอกวิธีให้คุณทำอะไรบางอย่างในขณะนั้นเพื่อจะบอกคุณว่า สติสัมปชัญญะคืออะไร คุณไปทดสอบถามคำถามนี้กับใครก็ได้ จะมีเพียงไม่กี่คนที่ตอบด้วยลักษณะชี้ลงที่การกระทำ นอกนั้นจะตอบด้วยคำพูดคำอธิบายทั้งสิ้น

ผมฟังมาโดยตลอดใครๆก็บอกว่าตัวเองเป็นสัมมาสติ ตัวเองฝึกตามหลักสัมมาสมาธิ ยังไม่เห็นใครพูดออกมาเลยว่า ผมฝึกด้วยแนวมิจฉาสติมิจฉาสมาธิ เรื่องที่ตลกคืออะไร บรรดาพวกที่บอกว่าตัวเองฝึกด้วยสัมมาสติหรือกำลังเที่ยวสอนคนอื่นว่าสัมมาสมาธิเป็นอย่างไรนั้นทะเลาะเถียงกันเอง และทำท่าเหมือนจะกล่าวทำนองว่า ฝ่ายที่ตนกำลังต่อสู้เพื่อผดุงความถูกต้องนั้น เป็นมิจฉาสติเป็นมิจฉาสมาธิ และฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็ไม่ยอมรับ กลับตอกเข้าให้ว่าแกต่างหากที่เป็นมิจฉา ถ้าทั้งสองฝ่ายถูกต้องสัมมาสมาธิหรือสัมมาสตินั้นมีหลายแบบหรือเปล่า ถ้าถามผม มันไม่ใช่แน่ สัมมาสมาธิและสัมมาสตินั้นมีเพียงอย่างเดียวและอย่างเดียวที่ว่านี้เป็น สมาธิและสติเพื่อการพ้นทุกข์ถ้าไปนอกเหนือจากจุดประสงค์นี้ ไม่ใช่สัมมาที่มีเส้นทางเดินเพียงหนึ่ง

สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้จึงไม่ขอเอาคำว่า สัมมาหรือมิจฉามาใช้อธิบาย พวกคุณที่กรุณาเสียเวลามาเยี่ยมอ่านบล็อกตัดสินเอาเอง อย่างที่พวกคุณสังเกตมาตลอดผมไม่เอาผู้อ่าน ผมไม่ง้อให้พวกคุณต้องมานั่งติดตามทุกอาทิตย์ ผมไม่ได้เขียนเอาเงินหรือประกวดเอาโล่ ผมจะไม่มาถกอะไรกับใครเพื่อจะหาข้อสรุปว่า ความรู้สึกตัวที่ผมจะบอกต่อไปนี้จริงๆแล้วมันเป็นสัมมาหรือมิจฉา เพราะสำหรับผมมันเป็นสัมมาเต็มขั้น แต่มุมมองของคนอื่นอาจเป็นมิจฉาเต็มเหนี่ยวก็ได้

ผมจะเริ่มด้วยประโยคง่ายๆที่ผมได้ยินมาตลอด “โกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ” “มีราคะให้รู้ว่ามีราคะ” “ฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน” “ง่วงให้รู้ว่าง่วง” “จิตกระเพื่อมให้รู้ว่าจิตกระเพื่อม” ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกได้เลยว่า ผมไม่เห็นด้วยกับคำสอนลักษณะนี้ แต่กว่าที่ผมจะไม่เห็นด้วยนั้น ผมฝึกอย่างหนักด้วยวิธีแบบนี้มาถึงสี่ปี และพบจุดอ่อนที่สำคัญของมัน ซึ่งทำให้ผมต้องตัดใจเลิกฝึกอย่างเสียดายเพราะผมแน่พอตัวกับการฝึกอย่างนั้น


ผมจะฟันลงไปเลยนะครับ จุดอ่อนของมันคือ “มันไม่มีการสิ้นจบ” แม้ว่าสิ่งต่างๆที่ผ่านการรู้เท่าทันจะเร็วขึ้นและค่อยลดลง แต่มันไม่สามารถ “ถอนราก” การโกรธ ไม่สามารถถอนรากราคะ ไม่สามารถถอนรากความฟุ้งซ่าน ไม่สามารถถอนรากความง่วง ไม่สามารถถอนรากการกระเพื่อมของจิต ความเท่าทันที่ฝึกมาอย่างดีช่วยให้ผมยั้งคำพูดหรือการกระทำด้วยอารมณ์ได้หลายครั้ง ผมกลายเป็นคนใจเย็นมากถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันก็จริง แต่ผมสงสัยว่า คำว่าเสร็จกิจคำว่าสิ้นจบ ไม่น่าจะใช้กับความสามารถในการรู้เท่ารู้ทันเพียงแค่นี้


สำหรับคนที่พอใจผลการฝึกของตนในลักษณะการรู้เท่ารู้ทันเพียงพอแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อครับ ผมเสียเวลาเขียนของพวกนี้เพื่อบุคคลเฉพาะกลุ่ม และคนในกลุ่มนั่นคือคนประเภทเดียวกันกับผมซึ่งมีไม่มาก กลุ่มคนที่จะไปให้ไกลแบบถอนขึ้นได้กระทั้งราก

มาเช็คลงรายละเอียดกันหน่อยว่า จุดอ่อนนี้เป็นอย่างไร เอาแค่คำสอนที่ว่า “โกรธให้รู้ว่าโกรธ” อะไรคือความแตกต่างของคนที่ฝึกกับไม่ฝึก คนที่อ่านบล็อกนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ฝึกอยู่แล้ว ผมจะไม่พรรณนาจุดนี้มากนะครับ ไม่ว่าจะฝึกหรือไม่ฝึกย่อมรู้ตัวเวลาที่กำลังโกรธ เพียงแต่จะยอมรับออกมาหรือไม่เท่านั้นว่า โกรธอยู่นะ สิ่งที่ต่างกันก็คือ การเข้าไปรวมตัวกับอาการโกรธ ผู้ที่ฝึกจะสามารถแยกตัวออกมาจากอารมณ์ได้ หรือที่เรียกว่าเห็นจิต และปัญญาของการเห็นนี่เอง ที่ช่วยระงับการกระทำและคำพูด ยิ่งฝึกเก่งยิ่งไว แต่ประเด็นที่ผมจะบอกไม่ใช่จุดนี้ สิ่งที่ผมจะบอกคือ ไม่ว่าคุณจะฝึกหรือไม่ฝึกคุณย่อมรู้ทั้งนั้นว่า ชั้นกำลังโกรธ ชั้นกำลังไม่พอใจ

พอยท์ของผมอยู่ตรงไหน นั่นคือ การรู้ว่าโกรธนั้นไม่จำเป็นต้องฝึกสมถะวิปัสสนาอะไรทั้งนั้น ธรรมชาติของคนหรือสัตว์มันก็รู้เองอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรเพื่อรู้อาการโกรธ คนเรามันก็รู้ได้เองว่ามันกำลังไม่พอใจ การสอนลักษณะ โกรธให้รู้ว่าโกรธจึงไม่เกี่ยวกับปัญญาการเข้าไปรู้อารมณ์ตัวนี้ เพราะมันรู้ได้เองทุกคนอยู่แล้ว แต่การฝึกลักษณะ โกรธให้รู้ว่าโกรธ มันแค่ไปช่วยพัฒนาปัญญาในส่วนของการเท่าทันอารมณ์


ผมอธิบายมาหลายย่อหน้าเพื่ออะไร เพื่อที่จะบอกว่าความรู้สึกตัวที่ผมเขียนมาโดยตลอดในบล็อกนี้ จำเป็นต้องอาศัยปัญญาในการเข้าไปรู้ ถ้าไม่มีปัญญาจะเข้าไปรู้ความรู้สึกตัวอันนี้ไม่ได้ มันไม่เหมือนอารมณ์โกรธที่ไม่ฝึกมันก็รู้สึกเองได้โดยสัญชาตญาณ แต่ความรู้สึกตัวล้วนๆอันนี้มันต้องผ่านการฝึกฝนและต้องเป็นการฝึกที่ถูกวิธีด้วยมันถึงจะเข้าไปรู้ได้

ปัญหาของวงการเจริญสติที่ผมพบคือ พวกเค้าเหมาความรู้สึกทั้งหมดของมนุษย์ว่าเป็นความรู้สึกตัวที่ใช้เจริญสติต่อการมุ่งไปสู่การรู้จริง และไม่เพียงฝึกแต่ยังสอนว่าขอให้รู้สึกถึงความรู้สึกอะไรก็ได้ที่ปรากฏเป็นพอ มันอาจใช่ในความหมายของคนหลายคน แต่ไม่ใช่ตามความหมายที่ผมเขียนในบล็อกนี้ และมั่นใจแบบพร้อมยอมตายด้วยว่าไม่ใช่ตามคำสอนของหลวงพ่อเทียน

ผมไปอยู่คลุกคลีกับวัดนับรวมเวลาเกือบปีครึ่ง ผมพบว่า พระในสายหลวงพ่อเทียนเองยังสอนไม่เหมือนกัน พวกเค้าเข้าใจไม่ตรงกัน แต่พวกเค้าพูดสอนเหมือนกันว่า ให้รู้สึกตัว ถ้าตั้งใจฟังดีดีแบบรายหัวรายตัวจะรู้เลยว่า แม้คำพูดคล้ายกันแต่พูดสื่อไปคนละตัว การแนะวิธีฝึกก็ต่างกันด้วย


คำสอนที่ถูกต้องควรจะเป็น “เมื่อโกรธให้รู้สึกตัว” ซึ่งความรู้สึกโกรธกับความรู้สึกตัวนี้เป็นคนละตัวกัน ธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น เวลาที่เกิดความรู้สึกขึ้นมันจะเข้าจับความรู้สึกที่หยาบกว่าก่อนเสมอ ถ้าเทียบความรู้สึกโกรธกับความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวละเอียดกว่ามาก ในขณะที่ความรู้สึกโกรธเป็นเพียงอารมณ์ คนเราจึงต้องฝึกพัฒนาให้เข้าไปรู้ความรู้สึกอันละเอียดอันนี้ เพื่อเหนี่ยวตัวเองไม่ให้ไปจมอยู่กับอารมณ์ และจากประสบการณ์ของผม มีไม่กี่คนที่ทำได้ อันนี้พูดแบบตรงๆเลยนะครับ

เมื่อใครก็ตามไม่สามารถฝึกพัฒนาตัวเองให้แนบแน่นกับความรู้สึกตัวถึงขนาดที่ทำให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันดึงไปร่วมไม่ได้ พวกเค้าจะหันเข้าพึ่งสิ่งที่เรียกว่า “เห็น” แทน มันจึงเป็นที่มาของการสอนว่า “โกรธให้รู้ว่าโกรธ” ซึ่งมันสื่อให้คนสมัยนี้เข้าใจโดยอัตโนมัติว่า ให้เห็นอาการโกรธ เพียงแค่นั้นไม่ต้องไปแทรกแทรงอะไรมัน แค่เพียงให้รู้ธรรมชาติของมันนั่นเพียงพอแล้ว

คำถามต่อมาคือ เห็นแล้วมันยังไงล่ะ แน่นอนว่ามันยั้งการกระทำได้เพราะสติในการเท่าทันมันถูกพัฒนา แต่อาการโกรธจะไม่มีทางสิ้นจบ และนี่เป็นเหตุผลที่ตอบได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมผู้ที่กำลังสอนคนอื่นอยู่เรื่องการเท่าทันจิต เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตัวชนิดสาหัสจึงควบคุมตนเองไม่ได้ เพราะมันทำได้เพียงแค่รู้แค่เห็น แต่ขาดฐานอันมั่นคงของสติ และสติอันนี้หมายถึงความรู้สึกตัวที่ต้องผ่านการฝึกมาอย่างถูกวิธีด้วย

บางคนฝึกรู้สึกตัวไปพบกับความเบาสบายเข้า มันก็ไปติดความเบาสบายอีก เพราะเข้าใจว่านั่นคือความรู้สึกตัวแท้ๆ ที่พยายามดิ้นรนค้นหามานาน พอไปตีความตามตำราว่า ไม่ทุกข์ ก็ยิ่งเข้าทางต้องฝึกเพื่อยื้อความสบายนี่ให้แสดงตัวออกมามากๆ ตราบใดที่ยังบอกตัวเองได้ว่า เราชอบพอใจในความรู้สึกนี้ สำหรับผมสิ่งนั้นไม่ใช่ความรู้สึกตัวแท้ๆเป็นเพียงอารมณ์และวันนึงมันจะถูกทำลายลงตามกฎไตรลักษณ์



ต่อไปนี้ผมจะลงเรื่องความรู้สึกตัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะไล่พัฒนาการมาตั้งแต่ รูปนาม


ใน ระยะรูปนาม ความรู้สึกตัวจะตื่นขึ้นทั้งตัว ความรู้สึกตัวจะกระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่ว่าอะไรเคลื่อนไหวบนร่างกายคุณ คุณจะรู้สึกทั้งหมด มันจะรู้สัมผัสกระทบทุกจุด ความรู้สึกตัวจะไวมาก โดยเฉพาะจุดข้อต่อบนร่างกาย การกระพริบตาหายใจกลืนน้ำลาย เคี้ยวข้าว หัวใจเต้น นอนหลับพลิกกลับตัว เดินไปเดินมา จะรู้สึกสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอด






ใน ระยะศีลปรมัตถ์ ความรู้สึกจะตื่นทะลวงซึมลึกลงไปในกล้ามเนื้อ พอถึงจุดนี้ไม่ว่าจะเคลื่อนหรือหยุดเคลื่อนไหวร่างกาย ความรู้สึกภายในจะเป็นเหมือนเดิมตลอด ความรู้สึกตัวนี้จะไม่แปรเปลี่ยนตามการเกิดดับของจิต ไม่แปรเปลี่ยนตามอายุ ไม่แตกต่างชายหญิงเด็กชรา และยังรู้สึกภายนอกผิวสัมผัสในเวลาเดียวกันด้วย ผู้มาถึงตรงนี้จะรู้วิธีชนะไตรลักษณ์






ใน ระยะต้นกำเนิดของความคิด จะเข้าใจว่า อะไรคือตัวกำหนดทิศทางของความคิด ความรู้สึกตัวล้วนๆส่งผลอย่างไรต่อเรื่องที่คิดออกมา เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นและความรู้สึกตัวลดน้อยลงส่งผลอย่างไรต่อเรื่องที่คิดออกมา ผู้มาถึงตรงนี้จะมีเรื่องกังวลในชีวิตไม่กี่เรื่อง




ใน ระยะการรวมตัวกันเข้า ความรู้สึกตัวจะเข้าโจมตีไปจนถึงสมองแทรกลงไปในทรวงอก ตัดมายาสถานที่เกิดของความทุกข์ จะเข้าใจว่ากายและใจคือสิ่งเดียวกัน หรือเห็นความจริงว่า ใจคือสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ความรู้สึกจะแนบแน่นลงบนฐานกาย ไม่ใช้ความคิดในการรู้สึกตัวอีกต่อไป








ในระยะสุดท้ายยังไม่ทราบครับ



ขอให้วันนี้ของทุกท่านสวยงามต่อไป