โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

ความต่าง



     ความต่าง ส่งเมล์ไปแล้วไม่ได้ ผมไม่ทราบว่าทำไม ก็ซ่าเอามายัดลงเป็นกระทู้นะครับ ขออภัยด้วยที่ไม่ได้ทำตามใจ



    สวัสดีครับ

    ผมพูดตรงตรงนะครับ ผมดีใจ และขำที่ได้อ่านสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ เพราะมันเป็นคำถามเดียวกับที่ผมเคยถามตัวเอง และบางคนเคยถามผม ผมเข้าใจว่าหลายคนต้องสังเกตเห็นอาการพวกนี้

    “อารมณ์ต่างๆที่มากระทบจิตมันมักจะจำและเก็บมาคิดครับ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร เช่น เจอคำพูด ภาพที่สะดุดตา แล้วจิตมักจะจำไว้นานๆครับ สลัดก็ไม่ออก บางครั้งก็ย้ำคิดครับ”

    สำหรับผม นี่คืออาการของคนที่ เริ่มรู้จักลักษณะของความคิดครับ

    ถ้าคุณเคยผ่านตามาบ้างเรื่องของขันธ์ 5 อาการที่คุณว่า ก็คือ การทำงานร่วมกันของ สัญญา และ สังขาร
    สัญญาก็คือ การจดจำครับ สังขารก็คือ การคิดขึ้นมา อันนี้ผมว่าตามใจชอบโดยเอาตำรามาอ้างอิงนะครับ

    แต่ในส่วนของผมที่ผมจัดเอาเองนั้น สัญญา แบบจดจำเป็นความคิดอันนี้ไม่ใช่ สัญญาแท้ๆครับ คุณจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ เราจะยังไม่พูดกันตอนนี้

    คุณลองสังเกตให้ดีดีนะครับว่า คุณกำลังเป็นทุกข์จากอะไร จากอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้น หรือเพราะคุณพยายามจะเข้าไปจัดการบางอย่างกับมัน ลองตอบดูนะครับ

    ขันธ์ 5 นั้น จะดำเนินไปโดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ตลอดครับ เราควบคุมมันได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งการเข้าไปควบคุมขันธ์นั้น ผมจัดไปทางสายของสมถะครับ ส่วนใครจะแยกแยะอธิบาย จัดไปทางไหนอย่างไรผมไม่ทราบ ผมเข้าใจของผมอย่างนี้

    ขันธ์5 ตามที่ผมเข้าใจนั้นจัดอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งหมด สำหรับผมขันธ์ 5 จึงไม่ใช่ของหนัก แต่ที่มันหนัก เพราะเราไม่รู้วิธีวางมันลงต่างหาก การยึดขันธ์นั้นเป็นธรรมชาติของคนที่ไม่ฝึก ที่เราเป็นทุกข์กับขันธ์ก็เพราะว่า เราวางตัวต่อมันไม่เป็นครับ เราไปพยายามจะทำอะไรกับมันนั่นล่ะครับ อันนี้คือปัญหาหลักของนักปฏิบัติ คุณจะสังเกตว่า คนที่ไม่ปฏิบัติทำไมไม่่เป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณเดินมาไกลเพียงพอ คุณจะรู้จักการปล่อยให้ขันธ์มันเป็นไป แต่มันจะมีอุเบกขาเกิดขึ้นครับ ตัวอุเบกขา ที่เกิดกับผมนี้ เกิดมาจาก

    หนึ่ง สัญญาที่จำสภาวะได้ว่า วางตัวอย่างไร มันถึงจะไม่ไป เมื่อขันธ์เปลี่ยนสภาวะครับ มันฝึกซ้ำๆจนจำได้ด้วยการเป็น
    สอง การไวต่อความรู้สึกตัว และความคิด

    ผมถึงเคยเขียนเรื่อง “เข้ากระทำ” ผมสังเกตดูไม่ค่อยมีใครเข้าใจเรื่องนี้เท่าไหร่นัก คุณจงเป็นคนหนึ่งที่มาเข้าใจเถอะครับ ให้เพียงรู้การเป็นไปของมัน แต่อย่าเข้าไปกระทำอะไรกับมันเลยซักนิดเดียว การจบตัวเองจะเกิดขึ้นมาเองครับ ปล่อยให้มันเป็น มันจะเจ็บ ปล่อยให้เจ็บ มันจะร้าว ปล่อยให้ร้าว ลองฝึกนะครับ มันจะโกรธให้มันโกรธ อย่าฝืนอาการโกรธ แต่ให้ฝืนการแสดงออกของอารมณ์โกรธ ที่จะแสดงมาเป็นการกระทำ มันจะคิดมันจะจำ มันจะย้ำ มันจะทวน ให้ปล่อยให้หมดครับ ไม่ต้องเข้าแก้ไขอะไร ฝึกเป็นผู้รู้ ผู้ดูอย่างเดียว ลองดูนะครับ แล้วคุณจะพบว่า ทำไมมันง่ายอย่างนี้นะ ที่คุณกำลังรู้สึกยากเพราะคุณเพียงยังไม่รู้วิธีเท่านั้นครับ

    และสำคัญมากนะครับ จงรู้สึกตัว และรู้สึกถึงความคิด




    ส่วนการฝึกมาได้สามเดือนแล้วไม่เห็นผลนั้น  คุณลองอ่านช่วงท้ายของบทความนี้ดู แล้วดูว่า ผมฝึกต่างจากคุณอย่างไรนะครับ และผมขอถามคุณกลับสั้นๆนะครับว่า

    หนึ่ง คุณฝึกอย่างหนัก “อย่างต่อเนื่อง” จริงหรือไม่ หมายถึงทำตลอดเวลา มีใจจะฝึกอยู่ตลอดเวลา
    สอง ในใจลึกๆแล้ว คุณอยากจะรู้ อยากจะเป็น อยากจะเห็น “บางอย่าง” หรือไม่ครับ

    นี่คือสาเหตุที่ขัดขวาง ทำให้คนเรา รู้แจ้งออกมาโดยใช้เวลาไม่เท่ากันครับ

    ไม่ต้องอยากรู้สาเหตุของทุกข์หรอกครับ ตราบใดที่คุณทำถูกวิธี ยังไงคุณก็จะได้รู้อยู่แล้ว ผมรับประกันคำพูดตัวเองครับ ความอยาก ความสงสัย ความกังวล ข้อบังคับที่ตัวคุณเองสร้างมันขึ้นมานั่นเอง ที่ขวางทางตัวคุณเอาไว้ครับ

    เมื่อย้อนมองสิ่งที่เกิดกับผมนั้น การเข้าใจสาเหตุของทุกข์ หรือ ธรรม ต่างๆนั้นจะเกิดมาเองครับ มันออกมาเอง โดยที่เราไม่ได้พยายามค้นหาความหมายของมันเลย มันจะออกมาจาก ก้นบึ้งของความตระหนัก ว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันมาโดยที่เราไม่คาดหวัง ไม่คาดคิด เพราะธรรมชาติของมัน จะมาต่อเมื่อสภาวะของคุณในตอนนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับความคิด แต่ไม่ได้ความว่า ห้ามไม่ให้คิดนะครับ นี่คือสิ่งที่เกิดกับผม กับคนอื่นเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ และผมไม่เคยเข้าใจธรรมจากการอ่านตำรา

    ผมขอให้คุณฝึกรู้สึกตัว และฝึกให้รู้ภาวะของความคิดอยู่เสมอนะครับ ฝึกโดยไม่ต้องเอาเวลามากำหนด ฝึกแค่นี้เท่านั้นครับ ไม่หวังผลจะรู้อะไร ไม่ต้องถามว่าทำไปทำไม จงทำตัวให้โง่ครับ ลองทำตามโดยที่ไม่ต้องสนอะไรเลยดูนะครับ แค่ทำตามเท่านั้น หนทางที่ผมเดินนี้ไม่ต้องฉลาดมากครับ ยิ่งฉลาดยิ่งช้า ไม่ต้องหาคำตอบอะไรทั้งนั้น ยิ่งหายิ่งไม่พบ สิ่งที่พบเพราะการหา จะเป็นเพียงสิ่งที่จะลากคุณออกไปไกลๆ คุณแค่ฝึกให้รู้เท่านั้นนะครับ ปล่อยให้สบายๆ อย่าเอามันมาเป็นกำแพงที่ต้องตะกายข้าม ลองเริ่มใหม่แบบนี้ดูนะครับ

    ฝึกธรรมเหมือนฝึกกีฬาครับ เราไม่ได้ฝึกวิ่งเพื่อจะวิ่งอยู่หน้าคนอื่น เราไม่ได้ฝึกกระโดดเพื่อที่จะข้ามหัวใคร แต่เราฝึกมันเพื่อที่เราจะสามารถใช้มันได้อย่างเต็มความสามารถในเวลาที่เราจะต้องวิ่งหรือต้องกระโดด เมื่อคุณฝึกอย่างดี คุณจะพร้อมออกตัวเพื่อจะวิ่งหรือเพื่อกระโดดเสมอครับ และเมื่อคุณฝึกอย่างดีคุณจะรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาบอกเลย ว่าคุณวิ่งถูกหรือไม่ ไม่ต้องสนเรื่องความเร็วในการวิ่ง ไม่ต้องสนใจเส้นชัย แค่ให้วิ่งเท่านั้นครับ คุณจะรู้จักทุกข์เมื่อคุณวิ่ง คุณจะไม่รู้ว่าทุกข์คืออะไรกันแน่ ถ้าคุณไม่วิ่ง และแม้ว่าคุณกำลังวิ่งคุณก็จะเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ เมื่อจิตใจของคุณมัวไปจับจ้องที่ความเร็ว และที่เส้นชัย
    จากคุณ : koknam   - [ 20 เม.ย. 50 14:30:13 ]
 
 

       ความคิดเห็นที่ 1 

      ต่อไปเป็นเรื่องส่วนตัวของผม ที่คุณอยากจะทราบนะครับ

      การที่ผมบอกว่าผมไม่ใช่ชาวพุทธนั้น เพราะ ผมไม่มีความยึดติดกับความหมายของภาษาอีกแล้ว ผมคือคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องคำสอน และการปฏิบัติ ผมเข้าใจหัวใจของมัน ผมเข้าใจข้อธรรมต่างๆที่คนส่วนใหญ่ทุ่มเถียง ผมเข้าใจโดยที่ไม่ต้องคิด ผมเข้าใจมันในแง่มุมที่ไม่ใช่บัญญัติ แต่ผมเข้าใจที่ปรมัตถ์ เมื่อกล่าวคำขึ้นมา ผมจะรู้ว่ามันหมายถึงอาการลักษณะอย่างไร ไม่ใช่การตอบด้วยความคิดข้อความตามตำรา ผมจึงไม่ใช่ชาวพุทธที่ตอบโน่นตอบนี่ ผมรู้จริงเฉพาะเรื่องของผม เรื่องคนอื่นผมรู้ไม่จริงครับ ผมจึงบอกว่า ผมไม่ใช่ชาวพุทธ ผมไม่มีศาสนาอะไร เพราะตามที่ผมเข้าใจ ตัวผมนี่ล่ะคือศาสนา ผมเป็นทั้งครูและนักเรียนของตัวเองอยู่แล้ว

      คนส่วนใหญ่เค้ามิได้เข้าใจอย่างผม เค้าก็สอนคนอื่น แล้วเรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ ข้อเขียนของผมจึงมักจะขัดแย้ง กับคนพวกนี้ เพราะสิ่งที่ผมเขียนไม่ได้มีฐานมาจากตำรา แต่ผมมีฐานมาจากประสบการณ์การเป็น และการเข้าไปเห็นของตัวเอง ผมจึงไม่ใช่ชาวพุทธในลักษณะคัดลอกคำสอนแล้วเอามาตีความเอาเองอย่างนั้น และผมไม่สนการเถียงไปไปมามา ว่าใครถูกผิด ใครอยากเป็นพุทธ เป็นพระก็เป็นไป ผมไม่สนใจว่าผมเป็นตัวอะไร

      ผมหันมาปฏิบัติธรรม เพราะผมไม่เชื่อหลวงพ่อเทียนครับ ในตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธรรมเลย ผมก็ฝึกนั่งสมาธิ สวดมนต์อะไรไปตามเรื่อง เพราะอยากหัวดีเรียนเก่ง อยากเล่นหมากรุกเก่ง เพราะเล่นแพ้น้องเป็นประจำ ฝึกหวังผลบางอย่าง ว่าอย่างนั้นก็ได้ ผมได้อ่านหนังสือหลวงพ่อเทียน ในนั้นบอกว่า ฝึกๆไปจะรู้ขึ้นมาเอง เป็นขั้นๆเป็นตอนๆ ผมนึกในใจว่า ทำไมพระคนนี้โกหกใหญ่โตอย่างนี้ พูดบ้าอะไรกัน แล้วยังเขียนลงในหนังสืออีกด้วย คนไม่ได้คิด มันจะไปรู้อะไรขึ้นมาได้อย่างไร แต่ไม่มีอะไรในหนังสือนั้นเลย ที่ผมเถียงได้ มันมีแต่ความไม่เชื่อถือของผม ต่อสิ่งที่อยู่ในหนังสือนั่น มาถึงบัดนี้ ไม่มีอะไรเลยซักอย่างเดียวที่ผมเถียงคนคนนี้ได้ ไม่มีจริงๆครับ

      (นอกเรื่องนิดนึงนะครับ คนส่วนใหญ่จะรู้จักหลวงพ่อเทียน ในลักษณะของการปฏิบัติแบบยกมือยกไม้ แต่จากการฝึกตามวิถีของคนคนนี้ ที่ผมค้นพบและเรียนรู้ นั่นคือสิ่งที่เป็นเปลือกนอกมากๆของคำสอน ความสามารถของคนคนนี้ที่ผมสังเกตเห็น คือ การอธิบายลำดับขั้นตอนอย่างชัดเจน การบอกวิํธีแก้ปัญหา คำพูดที่สื่อความหมายลึกซึ้งต่อสภาวะปรมัตถ์ของเค้า และความจริงใจ)


      จากนั้นผม ก็ไปวัดสนามใน พระสอนให้ดูความคิด ผมนอนค้างที่นั่นอยู่สองคืน ในวันที่สอง ผมก็รู้จักการใช้ความรู้สึกตัวเบื้องต้น เพื่อดึงตัวเองออกมาจากความคิด มันรู้ความคิดครับ แต่เป็นอะไรที่เบสิคมากมาก จากนั้นผมก็ผยองเดช ว่า ไม่เห็นมันจะยากตรงไหน ข้านี่แหละจะเป็นอรหันต์ในสามเดือน ตัวโง่ปรากฏบนหน้าผากแต่มองไม่เห็นครับ สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ อาการปวดหัวอย่างหนักครับ ผมปวดหัวทุกวันต่อเนื่องถึงสองอาทิตย์ มันจ้องความคิดตลอดเวลา มันพยายามจะเป็นอริยะบุคคลครับ

      กลับมาบ้านไม่ถึงอาทิตย์ ผมรอแฟนครับ เค้ามาช้า ผมหงุดหงิด รู้ตัวว่าหงุดหงิด แต่ออกมาจากอารมณ์ไม่เป็นครับ มันก็พยายามกดอารมณ์ไว้ เค้าถามผม ผมก็บอกว่า ไม่โกรธ ไม่โกรธ แต่ใจมันร้อนครับ มันอึดอัด ที่ต้องคอยสะกดอารมณ์ ไม่ให้ใครรู้  ในวันนั้นขณะที่กำลังเดินห้างสรรพสินค้า มีคนเดินมาชนผมจนเซกระเด็น ผมหันกลับไปกระชากไหล่หมอนั่นอย่างลืมตัว เตรียมพร้อมมีเรื่องทันที เค้าหันมาผลักผมพร้อมจะเอาเรื่องเหมือนกัน เค้าตัวใหญ่กว่าผมมาก ผมต้องโดนซ้อมแน่นอน ถ้าชกกัน เถียงกันไปมา เค้าก็ไม่ขอโทษ สุดท้ายแฟนผมกับแฟนเค้าก็เข้ามาห้ามไว้ก่อน และผมยังโดนแฟนตำหนิอีกด้วย ว่าผมไม่น่าทำอย่างนั้น ผมเดือดอย่างหนัก ทั้งเรื่องหงุดหงิดรอแฟน ทั้งเรื่องเจ้าบ้านั่น

      ผมอึดอัดอย่างมาก อีกทั้งที่พึ่งผยองว่า จะเป็นอรหันต์ เจอแค่นี้ผมก็น็อตหลุดแล้ว ผมอายตัวเองอย่างหนัก และผมต้องการเอาชนะความเจ็บปวดเจ็บใจขี้แพ้นั่น จากวันนั้นผมเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง นั่งยกมือแบบหลวงพ่อเทียนติดกันทั้งวัน  6วันผ่านไปโดยไม่หยุด ผมก็ได้รู้สาเหตุของทุกข์ ว่ามาจากไหน

      จากนั้นอาการวิปัสสนูก็เกิด แต่ไม่รู้ตัว ไม่รู้จัก มันรู้ความหมายของอริยสัจ มันรู้สาเหตุของทุกข์ มันรู้ความหมายของสมุทัย มันเข้าใจเรื่องการอยู่กับปัจจุบัน มันรู้สมมติ มันรู้จักใจ มันรู้จักเวทนา แต่มันรู้แค่นั้นล่ะครับ แล้วมันก็บอกตัวเองทบทวนไปๆมาๆซ้ำๆ ว่าใช่ไหมนะ ถูกไหมนะ ต้องใช่แน่ๆ นี่แหละใช่เลย เพราะผมหาเหตุผลมาแย้งตัวเองไม่ได้

      จากนั้นผมก็นึกถึงข้อความในหนังสือของหลวงพ่อเทียนว่า “จะรู้ขึ้นมาเอง” ผมปฏิเสธคำพูดประโยคนี้ไม่ได้อีกแล้ว
      เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความเข้าใจลักษณะนี้จะทะลักออกมาครับ มันรู้ด้วยการประมวลผลจากสิ่งที่เคยรู้มาก่อน แต่ตอนนั้น ผมยังไม่รู้ว่า ความรู้อันนั้นใช้แก้ทุกข์ไม่ได้ เพียงแต่มันดีใจที่ได้รู้

      จากนั้นปัญหาชีวิตบ้าๆบอๆกับสถานทูตก็ตามหลอกหลอนผม แม่ผมพยายามจะเอาผมมาอยู่ที่นี่ แต่สถานทูตไม่ยอม จะเอาเอกสารต่างๆที่ผมไม่มีและไม่มีทางหามาได้ ผมทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ ที่สถานทูตอย่างหนัก เค้าเกลียดผมมาก ผมก็เกลียดเค้ามากในตอนนั้น แต่ผมก็พยายามฝึกธรรม ควบคู่ไปด้วย เผชิญปัญหาไปด้วยเท่าที่มันจะทำได้ ฝึกรู้สึกตัว ดูความคิด ผมพบว่าผมสู้อารมณ์ตัวเองไม่ได้

      พอผมมาอยู่ที่นี่ ผมก็มีปัญหาอีก เพราะมหาลัยที่นี่ต้องการเอกสารบางอย่างจากมหาลัยเก่า ซึ่งมหาลัยที่เมืองไทยไม่ยอมออกให้ผม เพราะทิฐิมานะของความรู้ของเค้า ผมเขียนหนังสือถึงอธิการด้วยความซ่าผยองถึงสองฉบับ ว่าทำไมไม่ออกให้ผมดีดี สุดท้ายผมก็ดิ้นรนด้วยความเดือดร้อนของคนอื่นรอบตัว จนได้เข้ามาเรียนต่อจนได้ เพราะผมอยู่ที่นี่คนที่ช่วยผมเดินเรื่องได้ คือคนที่อยู่ที่เมืองไทย เมื่อเค้าไม่ได้ดั่งใจผม ผมก็โกรธเค้า คนที่ผมทำเค้าเสียความรู้สึกมากที่สุดคือ คุณพ่อของผม ผมรู้สึกเสียใจอย่างมาก ที่ทำพ่อตัวเองน้ำตาซึมด้วยจดหมายบ้าๆต่อว่าเอาแต่ใจของผม โดยใช้คำพูดงี่เง่าว่า “ทำไมคุณพ่อไม่ช่วยผม”

      จากนั้นผมกลับมาฝึกยกมือยกไม้อย่างหนักอีก แล้วก็สำนึกได้ว่า ผมจะไม่อาศัยการยืนบนขาของใครอีกแล้ว ผมจะไม่พึ่งพาใครอีกแล้ว ถ้าผมจะล้มผมจะล้มคนเดียว ผมจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใครอีกแล้ว นั่นคือจุดมานะของผม ผมจะทำอย่างไรเพื่อจะออกจากวงการกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาให้ผมเดินตาม ผมแค่อยากเรียนต่อ ทำไมผมจะต้องมีเอกสารมากมายร้อยแปดที่ไม่ได้สำคัญอะไรเลย ต่อการพัฒนาตัวเองของผม ทำไมผมต้องไปสอบ TOEFL ก่อนสอบต้องไปลงเรียนภาษาเสียเงินอีก

      ทำไมผมต้องมีใบประกาศรับรองภาษาเยอรมัน ทำไมข้อจำกัดมันเยอะนักนะ และผมหาทางอย่างหนัก เพื่อจะเอาชนะความรู้สึกผิดของตัวเอง ผมหาทางอย่างมุทะลุที่จะเอาชนะอาการโกรธ ผมหาวิธีเอาชนะอารมณ์ทางเพศ ผมฝึกอย่างหนักมาก และผมมั่นใจมากว่า ผมฝึกหนักกว่าพระบางคนเสียอีก ผมอยากรู้ว่า โสดาบันนี่มันจะหัวดีเรียนเก่งแค่ไหนกันนะ ถ้าผมเป็นโสดาบัน ผมคงออกแบบอาคารได้พิสดารจนทุกคนต้องคารวะยกย่อง

      มันบ้านะครับ

      แต่ความบ้า ความทุกข์นี่เองที่เป็นประโยชน์ มันผลักดันให้ผมฝึกอย่างหนักครับ ผมเรียกมันเล่นๆว่า “อัดจนสลบ”
      ผมเอาอย่างพระเลยครับ ตั้งนาฬิกาตีสามตื่นนอน เดินจงกรมนั่งสร้างจังหวะ อย่างละชั่วโมง จนเที่ยงพักกินข้าว 20 นาที แล้วอัดต่อ จนถึงสองทุ่ม ผมฝึกทั้งวัน ยกมือจนกว่าจะไม่มีแรงจะยก เดินจงกรมจนกว่าจะเดินไม่ไหว ผมฝึกโดยไม่รู้พื้นฐานอะไรเลย เพราะที่วัดสนามใน พระไม่ค่อยพูดด้วย ให้ฝึกลองเอาเอง ผมถามเค้า เค้่าพูดตอบอะไรผมก็ไม่เข้าใจ ผมรู้เพียงการใช้ความรู้สึกตัว เพื่อดึงตัวเองออกมาจากความคิดเท่านั้น ผมตีความหมายของคำสอนหลวงพ่อเทียนแล้วเอามาทำอย่างมั่วชั่วส่งเดช ผมไม่มีใครให้ถาม ผมต้องหาทางเอาเอง สุดท้ายผมก็ได้เข้าใจว่า ปัญหาความทุกข์ของผมทั้งหมด มีรากเหง้ามาจากตัวผมเองทั้งนั้น ผ่านไปสองเดือนครึ่งจากความระห่ำฝึก เป็นโชคดีที่ผมยังไม่ได้เข้ามหาลัยเพราะปัญหาเรื่องเอกสาร ผมจึงว่างถึงหนึ่งเทอม ผมก็เข้าใจเรื่อง อายตนะ  โดยที่ไม่เคยอ่านจากตำรามาก่อน จิตใจผมเปลี่ยนแบบเต็มๆที่จุดนี้เอง ใช้เวลาจากจุดเริ่มต้น 4 เดือน

      ผมกลายเป็นคนที่มีความใส่ใจจะรู้สึกตัว และดูความคิดอยู่เสมอ ผมพร้อมจะทิ้งภาระการกระทำทุกอย่างเพื่อมาฝึกอย่างเดียวเท่านั้น

      ตอนนี้ผมอายุ 28 ใช้เวลาตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลย เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จนมาถึงจุดปัจจุบันนี้ครับ ถ้าคุณถามว่าทำไมคุณยังไม่เข้าใจสาเหตุของทุกข์ คุณลองเทียบการปฏิบัติของคุณ กับของผมดูก็ได้ครับ ว่า อะไรคือความต่างกัน
      หวังว่าคงจะตอบครบคำถามนะครับ


      ขอวันนี้สวยงามต่อไปครับ

      จากคุณ : koknam   - [ 20 เม.ย. 50 14:38:54 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 2 

      ผมขอสารภาพว่า ช่วงสองเดือนแรกฝึกไม่ต่อเนื่องครับผม เพราะการทำงานผมต้องใช้ความคิดตลอดจนถึงค่ำหรือดึกถึงเลิกงานครับ และจะใช้เวลารู้สึกตัวก็ต่อเมื่อเวลานั่งรถเมล์กลับบ้านและถึงบ้านเท่านั้นครับผม

      ส่วนใจลึกๆนั้นผมเองก็ยังอยากรู้อยู่ลึกๆครับ  แต่ตอนนี้จิตผมยอมรับกับข้อเสียของการอยากรู้แล้วครับ คงเหลือแต่อาการอยากรู้แบบอ่อนๆเท่านั้น เพราะเมื่อก่อนผมเคยสาหัสกับความอยากรู้มาแล้วครับ พอเกิดอยากรู้อาการต่อมาคือ อาการ เพ่ง ต่อมาคือ ความลังเลสงสัยว่า ทำถูกหรือเปล่านะ อันนี้ก็ไม่ดี อันนี้น่าจะถูก จนจิตผมสับสนและมั่วไปหมด จนผมสาหัสจนเกินทน จนเข็ดหลาบ
      แต่ตอนนั้นผมแค่ทำ สมถะ เท่านั้น เพราะยังไม่รู้จักวิปัสสนา

      ขอขอบคุณ คุณ ก๊อกน้ำ มากๆครับ

      จากคุณ : viroot  - [ 20 เม.ย. 50 20:41:19 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 3 

      ประทับใจครับ

      จากคุณ : ทำเป็นทำ  - [ 20 เม.ย. 50 21:06:57 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 4 

      สรุปแล้วก็คือ อาการที่จิตมักจะจำไว้นานๆ สลัดก็ไม่ออก บางครั้งก็ย้ำคิด เป็นเรื่องปกติธรรมดาใช่ไหมครับ  เราแค่ตามรู้ความคิดเท่านั้นก็พอ

      จากคุณ : viroot  - [ 20 เม.ย. 50 21:16:00 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 5 

      grossartig !!แก้ไขเมื่อ 21 เม.ย. 50 05:35:08

      จากคุณ : berlinerin (lanla)   - [ 21 เม.ย. 50 05:34:21 ]
       
       
       ความคิดเห็นที่ 6 

      ต่างกันจริงๆครับ
      น้อง koknam มีความพยายามสูงมาก

      พี่มีจุดแข็งซึ่งก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน
      คือ ฉลาดคิดมากเกินไป จนโง่ในการปฏิบัติที่จะรู้ทันความคิดตัวเองครับ

      ข้อเสียจึงขี้เกียจและประมาท
      แต่ข้อดี คือ มันดันฉลาดคิดที่จะมองตัวเองครับ
      มันเหมือนเป็นดาบ สองคม เลยคือ ทั้งโง่และฉลาด
      ในเวลาเดียวกัน

      แต่ถ้าเลือกได้ขอ โง่กว่านี้และพยายามมากกว่านี้
      จะดีกว่าครับ นั่นก็คือ ฉลาดจริงๆ นั่นเอง

      จากคุณ : มัชฌิม  - [ 25 เม.ย. 50 00:18:01 ]