โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

หัวใจโพธิสัตว์

ธรรมชาติอย่างหนึ่งของ ธรรม คือพูดออกมาด้วยภาษาไม่ได้ หลายคนคงเข้าใจความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างดี เมื่อผมได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆจากตำราหรือผู้คน ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้แปลเรื่องราวเหล่านั้นออกมาตรงๆตามเนื้อเรื่อง ผมได้ฟังมาว่า ถาดที่สิทธัทถะอธิฐานได้ลอยทวนกระแสน้ำ หรือพระองค์ไม่มีสภาพแก่ลงเลยหลังจากตรัสรู้ ผมรับรู้เรื่องราวแบบนี้ในลักษณะของการเปรียบเทียบ เนื่องจากสภาวะอันเป็นที่สุดนั้นกล่าวออกมาไม่ได้ เมื่อพูดไม่ได้การสอนตรงๆจึงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก

การทวนกระแสน้ำของถาดหมายถึง การสวนกระแสของโทสะโมหะโลภะ ของอารมณ์ ของความคิด สิ่งที่ทวนกระแสนั้นมีแค่เพียงถาดแต่สายน้ำนั้นยังไหลตามวิถีของมัน และสิ่งที่เรียกว่าถาดคือ ความรู้สึกตัว สิ่งนี้นั้นโดยธรรมชาติของมันแล้วไม่แปรเปลี่ยนตามสิ่งใด เมื่อรู้สึกตัวเป็นจริงๆ การทวนกระแสของน้ำจะเกิดขึ้นเอง

เมื่อความรู้สึกตัวพัฒนามาได้ถึงระดับที่ไม่ไหลตาม โทสะโมหะโลภะ สิ่งนั้นเรียกว่า ศีล
เมื่อความรู้สึกตัวพัฒนามาถึงจุดที่ไม่ไหลตาม อารมณ์ สิ่งนั้นเรียกว่า สมาธิ
และเมื่อความรู้สึกตัวพัฒนามาถึงจุดที่ไม่ไหลตาม ความคิด สิ่งนั้นเรียกว่า ปัญญา

แต่โดยปรมัตถ์หาได้มีคำพูดบอกตัวเองอย่างนี้ไม่ มันเป็นเพียงความรู้สึกตัว ที่มีแต่ผู้ที่เข้าถึงมันเท่านั้นตระหนักได้ว่า ระดับความรู้สึกตัวในชั้นของศีลต่างจากระดับความรู้สึกตัวในชั้นสมาธิอย่างไร

ตัวผมเองพัฒนามาได้แค่ระดับสมาธิ จึงขอแบ่งปันเรื่องราวในส่วนของการไม่ไหลไปตามอารมณ์ ช่วงที่ผมฝึกอย่างเข้มข้นวันละประมาณสิบชั่วโมง ผมกินอาหารน้อยมากเพราะมันเสียเวลาฝึก ผมได้ยินบางคนสอนคนอื่นว่า อย่าไปคร่ำเคร่งเกินไป เราต้องฝึกด้วยการรู้สึกตัวอยู่กับการกับงานต่างหากถึงจะเป็นการฝึกที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาแต่นั่งกับเดิน ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก (หลายคนอาจจะคิดว่าเอาอีกแล้วหมอนี่ไม่เห็นด้วยกับอะไรซักอย่าง)

ตอนที่ผมร่อนอยู่เมืองนอก ผมก็ฝึกอย่างจริงจังด้วยการรู้สึกตัวกับการกับงานเกือบจะทั้งวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน ส่งหนังสือพิมพ์ ไปเรียนฟังเลกเชอร์ ขี่จักรยาน ความจริงที่ผมได้พบก็คือ การฝึกอย่างนั้นทำได้แค่รักษาระดับความรู้สึกตัวให้อยู่คงที่หรือพัฒนาไปแบบช้าๆ แต่ไม่สามารถพัฒนาความรู้สึกตัวแบบก้าวกระโดดได้ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ผมยอมลาออกจากมหาวิทยาลัย ผมสังเกตหลายครั้งแล้วโดยเฉพาะช่วงที่ผมดร็อปเรียน ว่าความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นชนิดที่สามารถเปลี่ยนจิตใจสลัดสภาวะเดิมออกได้ ล้วนมาจากช่วงการฝึกเข้ารูปแบบนั่งสร้างจังหวะเดินจงกรมชนิดที่ติดกันเป็นวันวันเป็นอาทิตย์ทั้งสิ้น คำว่าฝึกอย่างต่อเนื่องตามความเข้าใจของผมไม่ได้วัดเป็นวัน อย่างที่ฝึกวันละชั่วโมงสองชั่วโมงทุกวัน แต่มันวัดกันทุกขณะเวลานาที

การฝึกแบบนอกรูปแบบที่สอดคล้องกับการงานนั้นเกิดปัญญาเหมือนกันแต่มันไม่ใช่ระดับความเข้าใจที่จะสามารถสลัดความรู้เก่าออกได้ ถ้าคุณเป็นคนนึงที่เน้นฝึกนอกรูปแบบมากกว่า ขอให้ลองสังเกตสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้นะครับว่าคุณเป็นอย่างนี้จริงหรือไม่

คุณจะค่อยๆรู้อะไรทีละนิดทีละหน่อยสะสมไปเรื่อยๆ แล้ววันนึงเมื่อคุณมานั่งประมวลดูจะพบว่า ความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนของคุณ มันลงตัวสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันอย่างอัศจรรย์ใจไม่น่าเชื่อ คุณมั่นใจในความรู้ที่คุณมี หาข้อโต้แย้งหักล้างไม่ได้เลย ไม่ว่าอะไรก็มีคำตอบให้กับเรื่องชีวิตและการปฏิบัติธรรมเกือบทั้งหมด เข้าใจไปจนถึงกับมองออกว่าอะไรคือ พุทธศาสนากันแน่ (ผมเคยเป็นมาก่อนผมทราบจุดอ่อนของมันดี)

แต่สำหรับปัญญาที่เกิดจากการฝึกต่อเนื่องติดๆกันชนิดอัดจนกว่าจะสลบที่ผมเรียกว่าเข้ารูปแบบนั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ปัญญาญาณ เมื่อความรู้ชนิดนี้เกิดขึ้น จิตใจคุณจะเปลี่ยนสภาพแบบทันที อะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนสภาพแบบฉับพลันนั้น นั่นคือ มันจะทำลายความรู้เดิมที่สะสมมาอย่างยากลำบากของคุณจนหมดสิ้น มันจะรู้ขึ้นมาแบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ว่าอะไรคือสิ่งที่เราเคยโง่ หรือเราเคยเข้าใจผิดอะไรบางอย่างอยู่ วิธีคิดอ่านของคุณจะเปลี่ยนไปทันที และจุดแรกของการเกิดปัญญาญาณคือ จุดที่เข้าใจเรื่อง ศีลปรมัตถ์

แต่บทความนี้ผมจะไม่กล่าวเรื่องศีลปรมัตถ์แล้ว ผมจะกล่าวเรื่องสมาธิที่เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง คำว่ากิเลสอย่างกลางตามที่ผมเข้าใจคือ อารมณ์ทุกประเภทของมนุษย์

อารมณ์ที่เป็นปัญหาคาราคาซังคือ ความง่วง ถ้าผ่านตัวนี้ไม่ได้การปฏิบัติจะชะงักทันที ผมได้ทราบว่า มันก่อให้เกิดปัญหาที่ขวางการปฏิบัติกับผู้อื่นอีกหลายคนเหมือนกัน สำหรับคนที่เน้นฝึกอยู่กับการกับงานคุณจะไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องความง่วงมากนัก แต่สำหรับคนประเภทที่ฝึกชนิดอัดจนกว่าหมดแรงจะเจออย่างแน่นอนและเจอแบบหนักด้วย (ง่วงอันนี้เป็นง่วงเพราะอารมณ์กรรมฐานไม่ใช่ง่วงตามธรรมชาติที่ร่างกายต้องการพักผ่อนนะครับ)

ผมจะสรุปวิธีที่ใช้ผ่านความง่วงจากประสบการณ์ ผมไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือการแก้ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับทุกคน เพียงผมผ่านมาได้ด้วยการทำอย่างนี้

ลำดับการผ่านอาการง่วง

หนึ่ง ง่วงก่อนระยะการเข้าใจรูปนาม
ให้ทำช้าๆ หรือช้ามากๆ จับความรู้สึกของการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ชัดมากๆ ทำจังหวะต้องตั้งใจทำ ความเร็วต้องสม่ำเสมอ

สอง ง่วงก่อนระยะการเข้าใจศีลปรมัตถ์
ให้อยู่กับความรู้สึกของกายล้วนๆเพียงอย่างเดียว ให้จับความรู้สึกตัวที่ตื่นขึ้นของกายให้ชัดเจน

สาม ง่วงก่อนระยะที่ความรู้สึกตัวจะหลุดจากการครอบงำของขันธ์ห้า
ให้เคลื่อนไหวช้าๆเบาๆรับรู้ความรู้สึกตัวเบาๆ เหมือนใบไผ่ต้องลม

สี่ ง่วงหลังจากเข้าใจต้นกำเนิดของความคิด
ให้ความรู้สึกตัวชัดกว่าความง่วง ต้องปล่อยให้ง่วงแต่ความรู้สึกตัวต้องชัดกว่า (ช่วงนี้ยากที่สุด)

ห้า เป็นระยะการเข้าใจกระบวนการการทำงานการก่อกำเนิดของความง่วง
อธิบายด้านล่างครับ


หก ซัดกับความง่วงยกสุดท้าย
เดิมพันชนิดไม่ชนะไม่เลิก


เจ็ด สมาธิเกิดขึ้นแล้ว
เอาชนะความง่วงได้อย่างเด็ดขาด



การแก้ที่ผมบอกนี้มิใช่ว่าคุณเอาไปใช้แล้วจะหายง่วงทันที มันเป็นเพียงตัวแก้ทางกัน ผมรับรองได้ว่ามันจะช่วยคุณบรรเทาอาการง่วงลงได้ เพื่อให้คุณฝืนฝึกต่อไปได้โดยไม่แพ้ความง่วง และคุณห้ามนอนอย่างเด็ดขาด ห้ามเอนหลัง ห้ามออเซอะ เวลาง่วงสมองจะเริ่มหาเหตุผลคิดเข้าข้างตัวเองอย่าไปฟังความคิด

เมื่อ สมาธิ เกิดขึ้นแล้ว ความง่วงจะไม่เกิดในขณะฝึกอีกต่อไป สมาธินั้นสามารถเอาชนะอารมณ์ต่างๆได้ก็จริง แต่ยังแพ้ทางความคิด นั่นหมายถึงยังแพ้การเข้าไปในความคิด ยังมีการเผลอถึงจะสั้นมากๆ เมื่อก่อนนั้นความคิดมันมีพรรคพวกมาก มันยำเราได้พราะพวกมันมากกว่า บางที่ก็ส่งอารมณ์มาร่วม บางทีส่งอดีตมา บางทีส่งอนาคตมา บางทีส่งเวทนามาล้อมหน้าล้อมหลัง เข้าไม่ถึงตัวบอสมันซักที พอมาถึงจุดนี้เหมือนกับการล้างไพ่ใหม่ จะมีสองตัวดวลกันตัวต่อตัวๆแล้วคือ ความรู้สึกตัวและความคิด จะไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวอีก (หมายถึงอารมณ์ยังเกิด แต่ดับลงทันที เพราะกำลังของสมาธิที่แน่วแน่มั่นคงในความรู้สึกตัวมันแข็งกว่า)



ต่อไปคือ กระบวนการของความง่วง ซึ่งจะทำให้คนที่มอง พุทธศาสนาในลักษณะการอธิบายด้วยเหตุผลล้วนๆ สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นนะครับ

คนเรามีความคิดอยู่สองประเภทคือ คิดเป็นภาพและคิดเป็นเสียง
เมื่อคุณคิดเป็นเสียงชนิดที่ควบคุมไม่ได้คุณจะไม่มีวันง่วงเพราะมันจะฟุ้งซ่าน

แต่เมื่อเวลาคุณคิดเป็นภาพในขณะที่ความคิดเริ่มเนือยเชื่องช้า (เพราะความรู้สึกตัวในขณะที่ฝึกมันไปตัดกระแสของความคิด) คุณจะวูบหลับ และความคิดลักษณะเป็นภาพที่ทำให้ง่วง คือความคิดที่ไม่เกิดอารมณ์ คือความคิดที่โผล่ขึ้นมาเป็นภาพเฉยๆไม่มีอารมณ์ร่วม มันจะเกิดวูบเดียวเร็วๆ (พอสมองเริ่มมึนเพราะความง่วงมันจะจับความร็วตรงนี้ไม่ทัน)

อันนี้ต้องลงเวิร์คชอปกันหน่อย คุณลองคิดอะไรเป็นภาพถึงเรื่องที่คุณสะทือนใจเช่น ขับรถชนคน แฟนอยู่บนเตียงกับคนอื่น เจอแมลงสาปในชามก๋วยเตี๋ยว ความคิดเป็นภาพพวกนี้ไม่ทำให้ง่วงเพราะมันมีอารมณ์ร่วมวงด้วย ความคิดเป็นภาพที่จะทำให้คุณตาปรือ สมองเริ่มมึนคือ การคิดเป็นภาพที่ไม่มีอารมณ์และโผล่มาเป็นวูบๆถี่ๆ

และนี่คือเหตุผลที่ทำไมคนฟุ้งซ่านไม่สามารถนอนหลับลงได้ ทำไมเวลาที่เราฝันเรามักฝันเป็นภาพ และทำไมเมื่อเวลาที่เราหลับลงแล้วทำไมเราถึงไม่ง่วงขณะฝัน เพราะการฝันคือการเข้าไปในความคิดแบบสมบรูณ์ เมื่อความคิดทำงานเต็มที่มันจะไม่ง่วงอีก พอเราตื่นมันสลึมสลือเพราะความคิดมันทำงานยังไม่เต็มที่ มันพึ่งเริ่มสตาร์ทเครื่องใหม่

เพราะฉะนั้นวิธีที่โง่ที่สุดแต่ได้ผลในการแก้ปัญหาการง่วงคือ เมื่อคุณรู้ว่าจะแพ้ความง่วงแล้ว ให้คุณคิดครับ คิดอะไรก็ได้ จะด่าว่าตัวเอง บ่น ด่าทอใครในใจก็ได้ให้เกิดอารมณ์ แต่ให้ใช้เมื่อคุณจวนตัวเท่านั้น เพราะวิธีนี้ไม่ใช่การไปพ้นจากความคิด เพียงแต่อาศัยกลไกของความคิดแก้ทางกันเท่านั้น

ผมเคยคิดว่าผมผ่านตัวง่วงได้แล้วในแต่ละขั้นของระดับจิตใจที่เปลี่ยน แต่ความง่วงมันก็กลับมาได้อีกทุกครั้ง เมื่อผมเข้าใจกระบวนการของมันผมจึงดีใจมาก แต่ดีใจได้ไม่เกินชั่วโมง ผมก็ตระหนักว่า ผมรู้กระบวนการมันก็จริงแต่จะแก้ยังไงล่ะ เพราะความคิดส่วนใหญ่ของผมเป็นภาพเกือบทั้งนั้น ผมเรียนมาทางดีไซน์เวลาผมคิด ผมจึงมักคิดเป็นภาพ

ผมก็มุ่งหน้าฝึกต่อไป อย่างน้อยก็เข้าใจกลไกของมันแล้ว มันก็ง่วงอีกแล้วครับ แต่อยู่ดีดีความรู้สึกตัวมันลงล็อค มันจับอยู่ที่ความรู้สึกตัวอย่างเดียว ความง่วงอารมณ์ต่างๆประดังกันเข้ามา แต่สติมันชัดเจนอยู่กับความรู้สึกตัวมากกว่า มันไม่สนอารมณ์อีกเลย มันจะเอาแต่ความรู้สึกตัวอย่างเดียวมันมั่นคง แต่อารมณ์ยังเกิดและดับอยู่นะครับเพียงแต่อารมณ์ไม่มีการตั้งอยู่ และผมก็เข้าใจเรื่องสมาธิ ตั้งแต่นั้นมาไม่มีอาการง่วงอีกเลย จะฝึกหนักต่อเนื่องยาวนานแค่ไหนก็ไม่ง่วง ยกเว้นตอนจะนอน คราวนี้รู้ตัวเองจริงๆว่า ผ่านตัวนี้แล้ว เพราะไม่มีการดีใจในการหลุดเกิดขึ้นเหมือนช่วงก่อนๆ

วันต่อมาผมกำลังฟิตข้าวปลาไม่ต้องกิน ชั้นจะฝึกอย่างเดียว สภาวะความเข้าใจในสมาธิแบบเมื่อวานไม่เกิดอีก จิตใจมันก็ดิ้นรนครับ มันจะพยายามทำให้เป็นแบบเมื่อวานเพราะมันกลัวจะง่วงอีก ผมงุ้นง่านกับการหาทางให้กลับไปเป็นอย่างเมื่อวานอยู่ครึ่งวัน จนในที่สุดเข้าใจว่าตัวเองติดอารมณ์ความพอใจไม่พอใจในอารมณ์ตัวนี้อยู่ พอเข้าใจปุ๊บมันหลุดออกไปเลย เรื่องอารมณ์มันซับซ้อนถ้าอ่านไม่ขาดจริงๆ มันจะติดตัวใดตัวหนึ่งอยู่สมอ

พอมันหลุดความง่วงและความพอใจไม่พอใจไปสองตัวนี้ จะฝึกกี่ทีมันมีสมาธิอยู่ที่ความรู้สึกตัวตลอด จริงๆแล้วความง่วงคือป้ายบอกทางนั่นเอง คนที่ฝึกแล้วง่วงนั้นคือ คุณมาถูกทางแล้วนะครับเพราะมันไม่เข้าไปในความคิด เพียงแต่มันไปติดอยู่ที่ป้าย ต้องชนมันให้กระเด็นเท่านั้นเอง ต้องเข้าใจเส้นทางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ป้ายอีก


เรื่องตลกอย่างหนึ่งที่ผมเข้าใจในขณะที่กำลังหาทางเอาชนะเรื่องของอารมณ์คือ สภาวะจิต ระลึกชาติ ภพภูมิ ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ผมจะมาเข้าใจของพวกนี้ แต่ผมไม่ได้อ่านจิตได้เหมือนหลวงพ่อดังๆ ผมไม่ได้ระลึกว่าชาติก่อนตัวเองเกิดเป็นอะไร ผมไม่ได้เหาะลงดิน ปีนขึ้นสวรรค์มานะครับ

ตอนที่ผมฝึกมันเห็นสภาวะจิตตัวเองชัดๆเลยว่า สิ่งที่เรากำลังตั้งหน้าตังตาฝึกอยู่นี่ มันเป็นการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น มันเปลี่ยนพัฒนากันได้จริงๆ เรากำลังเล่นอยู่กับจิตใจตัวเองให้มันไปได้ไกลที่สุด

ผมเดินผ่านหมาครับ มันนอนอยู่ที่ถนน ผมก็เลยรู้ขึ้นมาว่า จิตใจผมตอนง่วงนี่ก็เป็นแบบเดียวกันกับหมาตอนง่วงนี่เอง จิตใจมันเวลาที่มันจะขึ้นตัวเมียก็เป็นแบบเดียวกับจิตใจผมที่พยายามจะลากผู้หญิงขึ้นเตียงให้ได้ เวลาผมเดินผ่านร้านไก่ย่างแล้วอยากกินผมก็เลยรู้ว่า จิตใจของเปรตเป็นอย่างนี้เอง ผมเห็นคนขี้เกียจฝึกไม่เอาถ่านแล้วอยากเข้าไปตบกะโหลกมันเป็นจิตใจของคนพาล เวลาที่ผมจะเอาชนะอะไรด้วยกำลังมันเป็นจิตใจของสัตว์เดรัจฉาน เวลาผมเนรคุณใครผมกลายเป็นสัตว์นรกเพราะจิตใจผมมันกระด้างไม่รู้คุณคน เมื่อผมขี้เกียจฝึกผมก็เลยเห็นหน้าตาของมารว่ามารมีจิตใจแบบนี้ และเมื่อผมด่าว่าใครด้วยอารมณ์ขาดสติผมกำลังถูกผีสิงอยู่

พอผมเข้าใจแบบนี้ เวลาที่ผมเดินตามท้องถนนแล้วเห็นผู้คน ผมจึงรู้ว่าเค้ากำลังมีสภาพจิตใจแบบไหน เพราะเมื่อผมทำแบบเค้าผมก็มีสภาพจิตใจแบบเดียวกัน เมื่อผมไปร้านอาหารที่มีคนรอต่อคิวยาวๆผมไม่ได้มองว่าร้านนี้อร่อย สิ่งที่ผมเห็นคือ หน้าตาสวยหล่อแต่งตัวดีแต่สภาวะจิตของเปรตเต็มไปหมด และสิ่งที่น่าขนลุกที่สุดตัวผมเองเคยเกิดเป็นเปรตเพราะผมรอคิวเข้าไปกินอาหารแบบตักกินไม่ยั้งเหมือนกัน หน้าตามือท้าเป็นคนแต่จิตใจเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยไป

ตอนที่ผมหาวิธีเอาชนะความง่วง ผมดูจิตใจตัวเองก็เลยได้รู้ว่าจิตใจโพธิสัตว์เป็นแบบนี้ เป็นจิตใจของคนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ล้มเลิกต่อความตั้งใจไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร ความต้องการระดับนี้ไม่ใช่ความโลภแล้ว คนที่ยอมตายเพื่อทำอะไรสักอย่างไม่ใช่จิตใจของคนโลภแต่เป็นความเด็ดเดี่ยว ผมจึงเข้าใจว่าทำไมสิทถัธถะทิ้งครอบครัวเพื่อออกหาบางสิ่งบางอย่าง มันไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวแต่มันเป็นพลังผลักดันในสิ่งที่สงสัยและต้องหาคำตอบชนิดที่ถ้าไม่พบจะไม่ยอมตายเด็ดขาด คนที่ไม่มีพลังชนิดนี้ในตัวคงไม่เข้าใจถึงการกระทำของคนประเภทนี้ ผมจึงได้เข้าใจว่าใครใครก็เป็นโพธิสัตว์ได้นี่ ขอให้มีจิตใจเด็ดเดี่ยวในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองรวมถึงคนอื่นและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งหมดที่เกิดไม่ว่าจะกี่ครั้งก็จะยังมุ่งหน้าทำต่อไป คนคนนั้นจะมีหัวใจของโพธิสัตว์ตามความเข้าใจของผม เพียงแต่โพธิสัตว์นั้นแพ้ทางความไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแทงตลอดเท่านั้นเอง

ถ้าอย่างนั้นแล้วจิตใจของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร มันก็เป็นจิตใจที่ไม่มีจิตใจใดใดนั่นเอง เป็นจิตที่ว่างจากจิตใจทุกรูปแบบ เพราะมันเป็นจ้าวแห่งจิตทั้งปวง ผมเดาเอาเองว่ามันคงจะลงไปในรูปแบบนั้น

สวรรค์นรกภพภูมิ เกิดตรงมันไม่รู้สึกตัวนี่นา และศัพท์สวยหรูที่ตั้งชื่อให้มันคือ อวิชา ไม่รู้สึกตัวเองอยู่เสมอมันถึงไปเกิดเป็นตัวนั่นตัวนี่ ระยะวลาการเกิดก็อยู่ตรงที่กลับมารู้สึกตัวได้เร็วแค่ไหน



ในเวลาที่คุณฝึกแล้วเกิดปัญหาที่คุณรู้สึกว่ามันช่างยากเหลือเกิน ไม่มีคนให้ถามหรือถึงมีคำตอบก็ไม่ข้าใจ ท้อแท้ไม่ไหวแล้ว สิ่งสุดท้ายที่จะช่วยคุณได้คือ กำลังใจของตัวคุณเองเท่านั้น ต่อให้คุณไม่รู้ทางไปแต่อย่าหยุดฝึก จงกัดปัญหาอย่าปล่อยจนกว่าคุณจะรู้วิธีผ่าน แล้วบางสิ่งที่เรียกว่าเด็ดเดี่ยวจะสะท้อนออกมาในแววตาของคุณ





ขอให้มีจิตของโพธิสัตว์สถิตอยู่ในหัวใจครับ