โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าบทความ ขอสงวนสิทธิในการเผยแผ่ต่อ โปรดเคารพต่อสิทธิของเจ้าของบทความ

เล็งเป้า



สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้อาจสร้างความงุนงงและกลายมาเป็นความไม่เห็นด้วยให้กับคนหลายคน คุณกำลังจะได้อ่านเรื่องที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ความเชื่ออันมีมาก่อน การจะตัดสินว่าสิ่งที่คุณจะได้อ่านถูกหรือผิดเป็นสิ่งที่คุณต้องพิสูจน์เอาเอง ยุคสมัยนี้ไม่ใช่ยุคที่มีตถาคตคอยบอกชี้ทางถูกผิดเอาไว้ตัดสิน แต่มันมีหลากหลายอาจารย์มากเสียจนสับสนงุนงงไปหมด แต่ละคนก็พูดเป็นนัยๆว่าของชั้นถูก โดยส่วนตัวผมมองว่าการพึ่งพาตำรามิอาจทำได้โดยสนิทใจ เพราะแต่ละคนที่อ้างตำรา มักตีความเข้าข้างด้านตน ข้อความเดียวกันจึงสะท้อนออกมาตามความเห็นที่ไม่เหมือนกัน และความจริงที่ปฏิเสธแทบไม่ได้เลยคือ คนเรามักจะเชื่อถืออะไรก็ตามที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้ร่ำเรียนมา



ผมสังเกตตลอด ทำไมคนเราเข้าใจคำสอนต่างกัน ทั้งที่มันมาจากคำสอนของคนคนเดียวกัน แม้แต่คนที่ฝึกสายหลวงพ่อเทียนเหมือนกันก็ยังเข้าใจไม่ตรงกัน จนผมจับจุดได้ในที่สุดจากการที่ได้สังเกตพูดคุยรับฟังมุมมองของหลายคน แม้ว่าเราจะพูดกันว่า เพื่อดับทุกข์ ลดทุกข์ แต่โดยวิธีการฝึก คนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ปฏิบัติธรรมด้วยการมีเป้าในใจว่า “ฝึกจิต” “พัฒนาจิต” “ทำจิตให้สะอาดสว่างสงบ” “ทำจิตให้ไม่มีกิเลส” เราถึงได้ยินคำถามประเภทฟุ้งซ่านทำยังไง คิดริษยาคนอื่นทำยังไงเสมอๆ นั่นคือพวกที่หนึ่ง และอีกพวกหนึ่งที่กำลังมีปัญหาคือ “ดูจิต” ที่ไม่เน้นฝึกที่ตัวจิต ขอให้เพียงเข้าใจมัน ยอมรับมันตามสภาพความเป็นจริงของจิต ทั้งสองวิธียืนอยู่บนหลักอ้างอิงเดียวกันคือเรื่อง สติ

ประเภทแรก โดยกรรมวิธีของมันหากมองโดยหลักการแล้วง่ายไม่มีอะไรมาก (แต่ยากโดยการทำให้ได้) นั่นคือ หาที่ให้จิตเกาะไว้ อะไรก็ตามที่เอาจิตไปผูกไว้ถูกเรียกว่า “ฐานของสติ” ซึ่งอาจจะเป็นคำบริกรรม ลมหายใจ การเคลื่อนไหว และอื่นๆที่แตกแขนงไปอีกมากแล้วแต่อุบายผู้สอน แต่โดยหลักแล้วคือ หาที่ให้จิตยึดไว้ให้ส่ายน้อยที่สุด โดยทฤษฏีว่าไว้ว่า เมื่อจิตมีกำลังเกาะฐานไว้ได้ดีแล้วจะเข้าสู่ความสงบ(ซึ่งถูกเรียกว่าสมถะ) เมื่อเข้าสู่ความสงบจะสามารถพิจารณาธรรมเห็นความจริงทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ(ซึ่งถูกเรียกว่าวิปัสสนา) เมื่อเห็นพิจารณาความจริงจนถึงที่สุดแล้วจะบรรลุธรรม...........อันนี้ผมสรุปตามความเข้าใจส่วนตัวของผมนะครับ

ประเภทที่สอง โดยกรรมวิธีของมันก็ไม่ยุ่งยาก คือหมั่นสังเกตธรรมชาติความเป็นจริงของจิต เมื่อสังเกตจนถึงที่สุดแล้ว อาการเหนื่อยหน่ายจางคลายต่อไตรลักษณ์ แสดงความจริงว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราซักอย่างเดียว เมื่อเกิดลักษณะการยอมรับศิโรราบต่อความเป็นจริงเช่นนี้ ตัวเรานั้นไม่มี กิเลสไม่ใช่เรา ทั้งหมดเป็นเพียงสภาวธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น จิตจะสลัดพ้นพันธนาการต่างๆโดยตัวมันเองและจะบรรลุธรรม...........อันนี้ผมก็สรุปตามความเข้าใจส่วนตัวของผมนะครับ

สิ่งที่ผมเห็นความเหมือนกันจากลักษณะแนวทางการสอนที่ดูจะต่างกัน ซึ่งสังเกตเอาจากตัวผู้ฝึกไม่ได้ตีความเอาตามคำพูด แม้เค้าจะบอกว่า “ดูกายดูใจ” แต่ในการปฏิบัติจริงนักปฏิบัติจะพุ่งเน้นไปที่ตัวจิต โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า สติ เป็นเครื่องมือเพื่อเพียงฝึก จิต เป้าหมายหลักของพวกเค้าคือ จิต หรือจิตหลุดพ้นอะไรทำนองนั้น โดยทฤษฎีการที่จิตจะหลุดพ้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมี “สติ” ฐานของสติในลักษณะการฝึกประเภทแรกคือ “ที่เกาะของจิต” ถ้าไม่มีฐานก็ไม่มีสติ และฐานของสติในลักษณะการฝึกประเภทที่สองคือ “การเห็น” ถ้าไม่มีการเห็นก็ไม่มีสติ ส่วนเรื่องการจงใจ การเพ่ง พวกนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคของแต่ละคนไม่ขอลงในบทความนี้ (เพราะผมเห็นว่าไม่สำคัญต่อการมองภาพรวมทั้งหมดให้ออกก่อน มันเป็นเพียงการแตกหัวข้อสนทนาให้บานปลายมากขึ้น)

ปัญหาที่ยุ่งยากและกลายเป็นสิ่งที่คลุมเครือมากในแวดวงกรรมฐานคือ จิตคืออะไร สติคืออะไร คำจำกัดความของมันมีมากเหลือเกิน และคำตอบของผู้รู้ทั้งหลายมักไม่ตรงกัน ถ้าคุณเป็นพวกเดินสายตามวัด คุณจะเข้าใจความจริงข้อนี้ดี ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้มิใช่พึ่งเกิดขึ้นแต่มันสะสมปัญหาความตีไม่แตกนี้มาเป็นร้อยๆปี

ประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญในการฝึกมากมากอันหนึ่งก็คือ ต้องจับจุดให้ได้ก่อนว่าเป้าของคุณคืออะไร คุณฝึกเพื่อจะพัฒนาอะไรกันแน่ ถ้าคุณจะฝึกพัฒนาจิตให้สะอาดสว่างสงบ จิตไม่มีกิเลส จิตหลุดพ้น มันก็มีแนวทางหลักๆในสมัยนี้อยู่สองอันที่นำเสนอด้านบน (แม้ดูเหมือนว่าฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมรับอีกฝ่าย) แต่การไปถึงผลลัพธ์ได้ตามทฤษฎีว่าไว้หรือไม่ ผมไม่ทราบเพราะผมไม่ได้ฝึกด้วยวิธีทั้งสองข้างต้น

แต่ถ้าคุณฝึกด้วยวิธีการเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน กระแทกมันลงไปที่ความรู้สึกตัวอย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าวิธีฝึกแบบนี้เป็นเอกเทศและไม่ลงรอยกับสายไหนทั้งนั้นในยุคนี้ มันจะไปเข้าใจเรื่องสิ่งที่ไม่เปลี่ยนตามกฎไตรลักษณ์ ต้นกำเนิดความคิด สมาธิ จืดทั้งตัว เชือกขาด อะไรพวกนั้น ของพวกนี้คุณค้นหาอ่านเอาเองได้ ถ้าคุณเอะใจคุณจะพบว่ามันต่างกับสายอื่นๆทั้งวิธีการ ทั้งลำดับอาการ และบทสรุป

คุณต้องเลือกเองนะครับว่าคุณจะเดินไปทางไหน และจากที่ผมสังเกตมีคนพยายามจะผสานแนวทางเข้าด้วยกัน และสุดท้ายมักวนอยู่ในความสับสนไม่ตัวผู้สอนก็ตัวผู้เรียน

การยกมือสร้างจังหวะเดินจงกรมเพื่อรู้สึกตัว ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้าง “ฐานของสติ” แต่ตัวความรู้สึกตัวนั่นล่ะเป็นตัวสติ วิธีนี้จึงเป็นการจงใจสร้างสติ ไม่ใช่สร้างฐานของสติอย่างที่หลายคนเข้าใจ เมื่อรู้สึกตัวเป็นจึงไม่ต้องมาพูดเรื่องฐานยึดกันอีก ในเมื่อตัวมันเป็นฐานอยู่แล้วจะไปสร้างฐานขึ้นมาอีกเพื่ออะไร ลักษณะการฝึกด้วยการเจริญความรู้สึกตัว ฐานของสติกับตัวสติคือตัวเดียวกัน การที่ผู้ปฏิบัติต้องสร้าง ฐานของสติ ขึ้นมาหมายความว่า คนผู้นั้นมอง ฐานของสติ กับ สติ เป็นคนละตัวกัน ซึ่งมันจะผิดหรือถูก ผลของการฝึกเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่คุณทั้งหลายคงได้ลองมากันแล้วเป็นปีหรือสิบปี

การยกมือสร้างจังหวะจึงไม่ใช่กุศโลบายตื้นๆ ที่ใช้ฐานกายเพื่อยับยั้งการส่ายแส่ของจิตตามที่หลายคนเข้าใจ อันนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ที่จะเกิดตามมาเองเท่านั้น หลายคนที่ฟังจากซีดีจะได้ยินว่า ท่านบอกอย่าไปทำความสงบ, ถ้าไม่ฟุ้งซ่านเราจะไม่รู้ , ให้มันฟุ้ง

ประเด็นที่ผมจับได้คือ หลวงพ่อเทียนไม่สนสภาวะจิตว่ามันจะเป็นอย่างไร ท่านเน้นที่ตัวเดียวเลยคือ การที่คุณรู้สึกตัวในขณะนั้นๆและคุณเข้าไปอยู่ในความคิดหรือไม่ ขอให้คุณตั้งใจอ่านให้ดีแล้วนึกดูว่า กรรมวิธียกมือสร้างจังหวะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออะไร

หลายคนเข้าใจว่า การยกมือสร้างจังหวะเป็นเพียงพื้นฐานฝึกความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวแล้วไม่ต้องฝึกยกมือก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ศิษย์ที่ไปได้ไกลๆแก่ผมหงอกผิวหนังเหี่ยวย่น ยังต้องนั่งยกมือสร้างจังหวะเดินจงกรมเหมือนตอนเริ่มต้นอยู่อีกเล่า ทำไมไม่เปลี่ยนไปฝึกด้วยวิธีอื่นล่ะ ทำไมท่านไม่แยกกลุ่มออกไปเลยว่า พวกกลุ่มเซียนไม่ต้องยกมือแล้ว ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะการยกมือสร้างจังหวะมันมีความสำคัญมากนั่นเอง

เค้าสอนหัวใจของคำสอนตั้งแต่วันที่เผชิญหน้ากันครั้งแรกให้เราแล้ว แต่ทีนี้พอเราฝึกไปฝึกมา เกิดรู้นั่นรู้นี้ขึ้น เราก็ค่อยๆเริ่มเอนตัวห่างจากสิ่งที่เค้าสอนให้คุณในวันแรก ที่เห็นบ่อยที่สุดคือ เริ่มตั้งตนเป็นอาจารย์สอนคน มันไม่ใช่แค่คนไทยนะครับ เท่าที่ผมทราบคนจีนบางคนที่ฝึกด้วยวิธีนี้พอเริ่มเข้าใจอะไร ก็ไม่ต้องการจะเป็นนักเรียนอีกต่อไป เค้าต้องการตั้งตัวเป็นอาจารย์ มันจึงนำมาซึ่งปัญหาเรื่องสอนไม่ตรงกัน เพราะความรู้ยังไม่ตกผลึกก็รีบร้อนสอน นี่คือปัญหาของคนที่ยังไม่หลุดจากวิปัสสนู จินตญาณ วิปลาส ถ้าคุณผ่านอุปสรรคสามตัวนี้ได้คุณจะรู้ว่า วิธีแก้ของมันง่าย คือ กลับมารู้สึกตัว อย่าไปอยู่กับสิ่งที่คุณรู้อย่าไปอยู่กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาอะไรทั้งหมดที่เกิดกับผู้ปฏิบัติ จึงมาลงด้วยคำพูดเพียงคำเดียว “จงรู้สึกตัว”













ถ้าคุณเกิดปัญหา คุณรู้สึกตัวก็แล้ว แต่แก้ปัญหาไม่ได้ แสดงว่า คุณรู้สึกตัวไม่จริง คุณยังรู้สึกตัวไม่เป็น คำว่ารู้สึกตัวนี้จึงลึกซึ้ง ไม่ใช่รู้สึกตัวแบบทั่วๆไปที่พูดกัน ถ้าความรู้สึกตัวคุณอยู่เลเวลหนึ่ง คุณจะสามารถกำจัดบอสที่มีเลเวลหนึ่งเหมือนกันอย่างสูสี แต่ถ้าความรู้สึกตัวคุณพัฒนามาที่เลเวลสอง คุณจะสามารถกำจัดบอสที่เลเวลหนึ่งได้ง่ายๆและอัดบอสเลเวลสองได้พอฟัดพอเหวี่ยง

ศีลสมาธิปัญญา มันเกิดตั้งแต่การที่คุณทดลองพลิกมือขึ้นครั้งแรกแล้ว เพียงแต่คุณไม่เข้าใจมันเท่านั้น เมื่อไม่เข้าใจก็นำมันมาใช้ไม่ได้ จริงๆแล้วมันไม่มีอะไรมากเลย ไม่ว่าจะไปพูดแง่มุมไหน มันจะหวนมาลงอยู่ที่ความรู้สึกตัวหรือภาษาธรรมเรียกมันว่า สติสัมปชัญญะเสมอ แล้วถามว่ามันนำไปสู่อะไร คำตอบคือมันนำไปสู่ที่สุดของความรู้สึกตัวหรือที่สุดของสติสัมปชัญญะ

ผมเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนที่ฝึกสายหลวงพ่อเทียนมาอย่างเพียงพอต้องประสบคือ ปัญญาที่รู้ขึ้นเอง (อาจจะมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละคน) แต่ผมจะพูดอย่างไม่ออมมือเลยนะครับว่า ปัญญาลักษณะนั้นเป็นปัญญาที่กระจอกมาก มันเป็นปัญญาที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาที่คุณไม่รู้ว่ามันเป็นปัญหา ปัญญาประเภทนี้จะขวางการไปต่อของคุณเอง ปัญญาที่เหนือกว่าปัญญา คือ ปัญญาที่จะสามารถไปพ้นจากปัญญาได้ และผมมั่นใจว่า จะมีคนไม่กี่คนที่มาถึงตรงนี้

ผมสังเกตว่าวิธีการสอนของหลวงพ่อเทียนเป็นวิธีแบบ ปัจเจกพุทธะ เพราะเค้ารู้ธรรมโดยไม่มีใครสอน เมื่อเค้าสอนคนอื่นเค้าจึงสอนแบบที่จะให้คนอื่นเป็นปัจเจกพุทธะเหมือนกัน คือให้รู้ขึ้นด้วยตัวเอง ถ้าคุณถนัดอะไรซักอย่างคุณจะสอนคนอื่นด้วยวิธีแบบนั้น และปัญหาที่เกิดกับศิษย์คือ ยังรู้ไม่จบแล้วเริ่มสอน เหมือนกับผมที่มาเขียนพล่ามอะไรให้คุณอ่านยาวๆทั้งที่ผมก็ยังรู้ไม่จบ ผมอาจจะกำลังติดอารมณ์อะไรอยู่ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อผม จงพิสูจน์มันด้วยตัวคุณเอง

ที่ร่ายยาวมาด้านบนเพื่อจะบอกว่า หากเป้าของคุณคือ ความรู้สึกตัว มันจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องฐานของสติโดยตรง แม้มันจะคาบเกี่ยวกันอยู่ ที่ว่าคาบเกี่ยวหมายถึงในระยะรูปนามนั้น เราใช้ความรู้สึกกายเพื่อดึงตัวเองออกมาจากการเข้าไปในความคิด มันจึงคาบเกี่ยวความหมายของ ฐานของสติ โดยระยะพัฒนากระบวนการฝึก

แต่หากเมื่อใครพัฒนาตนมาถึงจุด ศีลปรมัตถ์ มันจะไม่ใช่เรื่องของการใช้ฐานกายเพื่อเป็นฐานของสติโดยตรง แต่เป็นการยก ความรู้สึกของกายเป็นตัวตั้ง และมุ่งหน้าพัฒนาความรู้สึกตัวต่อไป โดยมองจิตเป็นเพียงตัวขัดขวางการพัฒนาความรู้สึกตัว

มันจึงไม่ใช่การฝึกที่ จิต แต่ฝึกกันที่ ความรู้สึกตัว

มันไม่ใช่การพัฒนาจิตหรือฝึกจิตตามที่ผมเคยเข้าใจ วิธีนี้ฝึกเพื่อพัฒนาความรู้สึกตัว คนที่เข้าถึงจุดนี้จิตใจจะเปลี่ยนทันที เพราะมันมารู้ความจริงข้อนี้ มันจะขัดแย้งกับความรู้เดิมอย่างมาก ด้วยความที่มันขัดแย้งมากนี่เอง จิตใจถึงได้เปลี่ยนสภาวะ จากโง่มาเป็นฉลาดแบบทันทีทันใด

โดยหลักการที่ผมอธิบายนี่เป็นเรื่องง่ายมากในการที่จะสอนใครซักคนให้เข้าใจเรื่องศีลปรมัตถ์ แต่ในความเป็นจริงนั้นยากมาก ผมถึงกล่าวว่า จะมีเพียงสองคนในหนึ่งร้อยคนที่ผ่านมาได้ และที่มันยากก็เพราะว่า เราถูกสอนฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่สอนกันแบบนั้น คนเกือบทั้งบ้านทั้งเมืองก็สอนแบบนั้น คือ พัฒนาจิต ฝึกจิต และสิ่งพวกนี้กลายเป็นตัวต้านความเข้าใจต่อความเป็นจริง ความเชื่อถือ ความเข้าใจเอาเองจากการเทียบตีความตามตำราของเรา หรือเราเทียบเคียงแล้วว่าอาจารย์พูดตรงกับที่เกิดกับเราเดี๊ยะ ผมหลงกลของพวกนี้มาหลายปี

ทางเส้นนี้มิได้มีจุดประสงค์ “หลัก”เพื่อพัฒนาจิต สิ่งที่คุณๆท่านๆเรียกว่าจิตในทุกวันนี้ คือจิตที่ผ่านการปรุงมาแล้ว แต่จิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รู้สึกตัวอยู่นั้นจะไม่มีการปรุงแต่ง ที่มันไม่มีการปรุงแต่งเพราะมันไม่มีอะไรเลย หรือไม่มีจิต มันมีเพียงความรู้สึกตัวล้วนๆอย่างเดียว ซึ่งถ้าจะให้พูดกระชับที่สุด ความรู้สึกตัวนั่นล่ะคือ จิต แต่มันไม่ใช่จิตแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ มันถึงได้เกิดคำพูดขึ้นมาว่า จิตเดิมแท้

คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ตัวผมเองเมื่อก่อนเคยเข้าใจว่า จิตตามที่เราๆท่านๆเข้าใจกันนี้ เมื่อเราฝึกจนมันสามารถสะอาดได้ ละกิเลสได้ เราจะเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมัน แต่ขอให้ฝึกไปจนตายเถิด มันไม่มีทางเป็นอย่างนั้นเพราะธรรมชาติของจิตไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่จิตเกิดขึ้น มันก็สกปรกโดยตัวมันเองตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะจิตนี้เกิดได้เพราะการปรุง

แต่จิตเดิมแท้ที่ผมกล่าวนี้ ไม่ใช่จิต แต่เป็นตัวความรู้สึกตัว ถ้าคุณเข้าถึงมันได้ จะไม่มีอะไรอื่นใดเลยนอกจากตัวมันเอง มันไม่เป็นอะไรเลยที่จะพูดออกมาได้เลยว่า คุณกำลังรู้สึกอะไรอยู่ สภาวะจิตคุณเป็นยังไงกัน มันไม่มีนิยามเลย มันบอกได้เพียงว่า มันว่างจากจิตใจ มันมีแต่ความรู้สึกตัวแต่มันรับรู้สภาพรอบตัวได้ อยู่ในโลกแต่ก็เป็นอิสระจากโลก อยู่ในร่างกายนี้แต่ก็เป็นอิสระจากรอยตีนกา


ผมจะฝากอะไรไว้นิดนะครับ การปฏิบัติธรรม เราไม่ได้ฝึกให้รู้เท่ารู้ทันเพียงเท่านั้น ต้องรู้กันรู้แก้ด้วย ไม่ใช่ว่ารู้เท่าทันความโกรธ แต่ยังโกรธอยู่นี่เป็นเพียงรู้เท่าทัน แต่ยังกันและแก้ไม่เป็น เมื่อรู้ว่าตนเองโง่ต้องแก้ให้มันฉลาด ไม่ใช่รู้ว่าโง่ แล้วให้มันโง่ต่อไป แล้วหลอกตัวเองว่าปัญญาเกิดขึ้นปัญญาแห่งการยอมรับความจริงว่าเราโง่ ปัญญาแบบนี้เป็นปัญญาครึ่งๆกลางๆ ทุกวันนี้คนเรามันเอาคำสอนมาแก้ต่างให้ตัวเอง ถ้าพุทธศาสนามันตื้นถึงขนาดนี้ ผมจะได้เลิกฝึกซะที

คุณพ่อผมบอกว่า ตั้งแต่เด็กจนแก่ไปวัดมาไม่รู้เท่าไหร่ เป็นเหมือนกันหมด นั่งฟังธรรม พอจะกลับก็บอกว่าช่วยบริจาคนะ กฐินนะ ผ้าป่านะ ทำบุญนะ สร้างโน่นสร้างนี่นะ น่าเบื่อมาก มุขเก่าๆ ไปวิปัสสนานะกลับมาบ้านไม่ถึงอาทิตย์ก็ลืมแล้ว ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอหลวงพ่อเทียนซักครั้ง แล้วทำไมต้องมานั่งฝึกวันละสี่ชั่วโมงด้วยวะเนี่ย ที่พ่อทำเพราะรู้ว่ามันเอามาใช้ได้จริงหรอกนะ จิตใจเราเปลี่ยนพัฒนากันจริงๆ ถึงได้นั่งฝึกอยู่ทุกวันนี้ ไม่เห็นมันต้องใส่ชุดขาวแค่เสื้อกล้ามผ้าข้าวม้าก็ลงมือได้แล้ว




ขอให้วันนี้ของทุกท่านสวยงามต่อไป